รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 1/2562 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 12, 2019 15:04 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

บทสรุปผู้บริหาร

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 1/2562

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2562 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.1 โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 1/2562 อาทิ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ลดลงจากสินค้า Hard Disk Drive (HDD) จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และการเติบโตของการใช้ SSD (Solid State Drive) ในการเก็บข้อมูลแทนการเก็บข้อมูลใน HDD รวมถึงความจุ Hard Disk Drive ที่ผลิตได้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถผลิตได้ในปริมาณที่ลดลงนอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ความต้องการในสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลง เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลงจาก เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เป็นหลัก จากการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตบางราย และผลกระทบจากเหล็กราคาถูกนำเข้าจากแหล่งต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศและรอสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นแทน ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ลดลงจากสินค้ายางแผ่น สาเหตุจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและร้อนจัด ส่งผลให้มีปริมาณน้ำยางน้อยลง สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 1/2562 อาทิ รถยนต์ ตามความต้องการของตลาดในประเทศหลังจากผ่านพ้นกำหนดเวลาตามเงื่อนไขโครงการรถยนต์คันแรก และผู้ผลิตออกรถยนต์รุ่นใหม่สู่ตลาดรวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ น้ำตาล ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้เปิดหีบการผลิตเร็ว และโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้เตรียมความพร้อมด้านการผลิตไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว

แนวโน้มไตรมาสที่ 2/2562

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และ กลุ่มเหล็กทรงแบน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการทรงตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 3.0 และ 0.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกของไทย

อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ร้อยละ 1.4 และ 4.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD และความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว

รถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 520,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสที่ 1 ตามทิศทางการตลาดและความต้องการใช้ของผู้มีคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่า จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.65 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปยังประเทศจีน และตลาดอาเซียน

เซรามิก การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMV

ปูนซีเมนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากยังคงได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนอาจจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ลดลงรวมถึงจากกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านมากขึ้น การรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้งอยู่

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อย เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น ในส่วนการส่งออก คาดว่า เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะลดลงเนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะ จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะยังขยายตัวได้จากความสามารถในการรับจ้างออกแบบและผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีให้กับ แบรนด์ต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย

ไม้และเครื่องเรือนไม้ การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะยังคงมีปริมาณลดลง ตามแนวโน้มการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีนที่คาดว่าจะยังคงมีปริมาณลดลง

ยา การผลิตยาคาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.59 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่การจำหน่ายยาในประเทศปรับลดลงร้อยละ 0.58 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของตลาดยาในประเทศ

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยาง คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.05 และ 15.18 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 2.17 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะปรับลดลงของจีน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากฐานของไตรมาส ที่ 2 ปี 2561 อยู่ในระดับสูง สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางและรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของการท่องเที่ยว การผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะกระเป๋าและรองเท้านักเรียน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การผลิตในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ขยายตัว

อาหาร ดัชนีการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวร้อยละ 3.5 ด้วยปัจจัยลบอย่างการปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีการผลิตน้ำตาลทรายดิบลดลงมาก ประกอบกับราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งลดลง ส่งผลต่อดัชนีการผลิตกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งลดลง รวมทั้งดัชนีการผลิตสับปะรดกระป๋องที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมูลค่าการส่งออกภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.9 จากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน และจากปัจจัยบวกอย่างสหภาพยุโรปจัดสรรปริมาณโควตาใหม่ และยังได้รับผลดีจากการที่จีนได้นำเข้าไก่ไทยเพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้าจากบราซิล ประกอบกับ EU ปลดล็อคใบเหลือง IUU Fishing หนุนภาพลักษณ์ประมงไทย ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าประมงกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและการกดดันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งของสินค้าสำคัญอาทิ ข้าว ซึ่งราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง (เวียดนาม) จึงยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาทั้งจากฟิลิปปินส์ที่ซื้อข้าวครบแล้ว และจีนที่ยังไม่มีข้อสรุปการส่งมอบข้าว G-to-G ที่เหลือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น) สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ที่โดนกดดันด้านราคาจากอินเดีย และยังมีปัจจัยในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง รวมถึงประเด็น Brexit ที่มีความเป็นไปได้จากการที่สหราชอาณาจักรอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2562

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 109.88 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (104.52) ร้อยละ 5.13 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (111.13) ร้อยละ 1.13

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 105.37 คงที่จากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (105.92) ร้อยละ 0.52

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป การผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และการผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 137.59 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (127.03) ร้อยละ 8.31 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (118.79) ร้อยละ 15.83

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 71.31 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 69.28) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (ร้อยละ 72.92)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีค่า 95.23 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (93.23) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (90.53) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 104.57 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 (101.40)

ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นผล มาจากแรงหนุนการบริโภคภายในประเทศ และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ

การค้าต่างประเทศ
"มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ในภาพรวมมีหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอตัวลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เช่น การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลก สถานการณ์ทางการเมืองในกลุ่มประเทศยูโรโซน ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศจีน อย่างไรก็ดี ดุลการค้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เกินดุล 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ"

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 121,968.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออก 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก หดตัวร้อยละ 1.6 และมูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ 1.2 ในขณะที่ดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เกินดุล 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออก 5,569.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.6 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออก 4,348.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในภาวะทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.4 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 49,800.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.5 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,269.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.6

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ที่หดตัวลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีการส่งออกหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,241.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.3) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่าการส่งออก 2,783.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.8) เม็ดพลาสติก (มูลค่าการส่งออก 2,305.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.6) อย่างไรก็ตาม สินค้าบางรายการยังคงขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 7,102.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.3) อัญมณีและเครื่องประดับ (มูลค่าการส่งออก 3,167.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.5)

ตลาดส่งออก

ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 27.8 12.4 11.7 9.5 และ 10.2 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลัก คิดเป็นร้อยละ 71.6 และการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของการส่งออกทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 32.2 ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน(9) จีน สหภาพยุโรป(27) และ ญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 4.3 9.2 5.7 และ 1.6 ตามลำดับ

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาแยกรายหมวดสินค้า พบว่า สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าการนำเข้า 9,634.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.5 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้า 14,835.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.9 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้า 22,640.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.5 สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้า 6,913.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.5 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีมูลค่าการนำเข้า 3,760.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.2 และสินค้าหมวดอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้า 2,196.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 815.8

แหล่งนำเข้า

ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มีสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 18.5 17.5 13.5 9.1 และ 7.8 ตามลำดับ เมื่อรวมสัดส่วนการนำเข้าไปยังตลาดสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 63.3 และการนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 33.7 ของการนำเข้าทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 48.2 ในขณะที่การนำเข้าจากตลาดอื่น ๆ ได้แก่ จีน อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) หดตัวลงร้อยละ 1.2 2.5 0.7 และ 20.3 ตามลำดับ

เศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 1 ปี 2562
"เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ตามอุปสงค์การค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวจำกัด ด้านอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ"

ภาวะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้ง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานปรับตัวต่ำลง

ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25-2.50% โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับปัจจุบันอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

สำหรับราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปทานกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าสหรัฐฯ จะขยายเวลาผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาส 1 ปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบช่วงเดือนมีนาคม อยู่ที่ 58.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินและราคาน้ำมันดิบ ซึ่งอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ไม่มากนัก

ภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตและการส่งออกในหลายประเทศที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00-2.25% ตามพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้ง หลายประเทศส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพื่อกระตุ้นการลงทุนและรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค ประกาศปรับลดปริมาณการผลิตลง นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา อาจส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบไตรมาส 4 ปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 67.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 59.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบช่วงเดือนธันวาคม อยู่ที่ 49.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ความไม่แน่นอนของ Brexit ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ในกรอบที่จำกัด

เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยรายสาขาไตรมาสที่ 1/2562 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2562

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว โดยการผลิตเหล็กทรงแบนที่ลดลง เช่น เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และการผลิตเหล็กทรงยาวที่ลดลง เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย

ดัชนีการผลิต

การผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 98.0 ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.3 (%YoY) (ลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน) และลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 0.44 (%QoQ) โดยเมื่อเทีบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเหล็กทรงแบนลดลงร้อยละ 19.6 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 43.4 ลดลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจาก (1) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาถูกเพิ่มขึ้น เช่น จีน และ (2) การบริโภคภายในประเทศที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ผลไม้กระป๋อง รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 34.0 และ 13.2 ตามลำดับ การผลิตเหล็กทรงยาวลดลงร้อยละ 4.3 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 9.7 รองลงมา คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด ลดลงร้อยละ 6.3 และ 5.9 ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง

การจำหน่าย ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณ 4,156,683 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.0 (%YoY) และลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.0 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายเหล็กทรงแบน ลดลงร้อยละ 7.3 ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายลดลงคือ เหล็กแผ่นบาง รีดร้อน ลดลงร้อยละ 17.5 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 9.9 การจำหน่ายเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 0.6

การนำเข้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.0 (%YoY) แต่ลดลงจาก ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 9.6 (%QoQ) โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ประเภท Carbon Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.6 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน) รองลงมา คือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ และเหล็กเส้น ประเภท Alloy Steel เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 และ 19.0 แต่การนำเข้าเหล็กทรงแบน ลดลงร้อยละ 2.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น ลดลงร้อยละ 42.8 (ประเทศหลักที่นำเข้า คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy Steel และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Carbon Steel ลดลงร้อยละ 25.1 และ 21.7 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คาดการณ์ว่าการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับลดลงทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว และ กลุ่มเหล็กทรงแบน จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการทรงตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศยังชะลอตัว โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ มอเตอร์ไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์ พัดลมตามบ้าน และเครื่องซักผ้า ในขณะที่สินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และกระติกน้ำร้อน ส่วนการส่งออกมีมูลค่าลดลงในตลาดจีน อาเซียน และสหภาพยุโรป

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 3,874.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 2.8 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.0 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าลดลงร้อยละ 5.8 เครื่องอุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 1.2

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 103.9 เพิ่มจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 23.5 (%QoQ) แต่ลดลงร้อยละ 4.7 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศชะลอตัว สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ มอเตอร์ไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์ พัดลมตามบ้าน และเครื่องซักผ้า ลดลงร้อยละ 47.6, 39.9, 15.3, 14.1, 10.9, 7.9, 6.3 และ 4.1 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และกระติกน้ำร้อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0, 3.4 และ 0.5 ตามลำดับ จากความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น

การจำหน่ายในประเทศ ไตรมาส 1 ปี 2562 สินค้าที่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สายไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ คอมเพรสเซอร์ หม้อหุงข้าว มอเตอร์ไฟฟ้า พัดลมตามบ้าน เครื่องซักผ้า กระติกน้ำร้อน และตู้เย็น ลดลงร้อยละ 36.9, 28.6, 17.5, 17.1, 16.5, 13.8, 6.4, 4.8 และ 3.3 ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 1 ปี 2562 มีมูลค่า การส่งออก 6,078.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่แล้ว ร้อยละ 5.7 (%QoQ) ในขณะที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.9 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดจีน อาเซียนและสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 21.6, 8.9 และ 7.3 โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นลดลงร้อยละ 4.1 และ 1.5 ในขณะที่สินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาสที่ 2 ปี 2562

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 3.0 และ 0.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการส่งออกของไทย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1ปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 17.2เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ลดลงและผลกระทบมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อห่วงโซ่การส่งออกของไทย รวมถึงเทคโนโลยี SSD เข้ามาแทนที่ตลาด HDD มากขึ้น โดยสินค้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD, Semiconductor devices transistors, PWB, Printer, PCBA และ IC ซึ่งการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง

การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่าการนำเข้า 8,771.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 10.8 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.0 (%YoY) โดยสินค้าหลักที่มีการปรับตัวลดลงคือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงร้อยละ 4.0 และวงจรรวม (IC) ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 89.7 ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ร้อยละ 6.9 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 17.2 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD, Semiconductor devices transistors, PWB, Printer, PCBA และ IC ลดลงร้อยละ 16.1, 12.7, 10.1, 2.9, 1.1 และ 1.1 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกลดลง รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของไทย

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 8,473.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 8.3 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.1 (%YoY) จากการส่งออกไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียนลดลงร้อยละ 21.5, 19.9, 12.6, 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 18.6 โดย HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 26.0 เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกลดลงและ supply ของ SSD ส่วนเกินทำให้ราคาลดลงและแย่งตลาด HDD มากขึ้น ส่วน IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.3เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 คาดว่า จะมีการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 1.4 และ 4.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD และตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 1ปี 2562มีปริมาณการผลิตขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศมีการขยายตัวอันเนื่องมาจากมีรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น และการส่งออกที่มีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 520,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45-50 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 50-55

การผลิตรถยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 561,487 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 0.37 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 4.04 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 40 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 59 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 1

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 263,549 คัน ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 10.71 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.16 (%YoY) แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ร้อยละ 45 รถกระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ ร้อยละ 50 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ 5

การส่งออกรถยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 299,841 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 6.38 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.56 (%YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่ง ร้อยละ 35 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 56 และรถ PPV ร้อยละ 9

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 2,393.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 3.17 (%QoQ) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.66 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 2,931.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 3.98 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.44 (%YoY) โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562มีปริมาณการผลิตชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกมีการขยายตัว ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

การผลิตรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 511,825 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.19 (%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 5.77 (%YoY)

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 462,049 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 9.43 (%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 0.65 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 275,198 คัน (เป็นการส่งออก CBU 112,441 คัน และ CKD 162,757 ชุด) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 14.00 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.78 (%YoY)

มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 204.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.90(%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.94 (%YoY) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และบราซิล

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 169.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 9.55 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.27 (%YoY) โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1ปี 2562ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561ร้อยละ0.55 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่ม ได้แก่ เครื่องสำอาง ส่วนมูลค่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ลดลงร้อยละ 2.48 โดยผลิตภัณฑ์หลักที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ เคมีภัณฑ์พื้นฐาน ซึ่งมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของไทย

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ลดลงร้อยละ 3.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตของกลุ่มเคมีขั้นปลายที่ส่งผลให้ลดลงในไตรมาสนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์มีการผลิตลดลง ได้แก่ ปุ๋ย และเครื่องสำอาง

การส่งออกเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 2,136.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 0.55 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.45 (%YoY) จากเคมีภัณฑ์ขั้นปลายซึ่งมีมูลค่า 995.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องสำอาง

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 3,945.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.74 (%QoQ) และลดลงร้อยละ 2.48 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 2,465.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.77 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย 1,479.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปุ๋ย และสี ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,224 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้า 4,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมพลาสติก

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณการส่งออกและนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ พลาสติกปูพื้น (3918) และพลาสติกแผ่นบาง ฟิล์ม ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกมีประเทศคู่ค้าที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ในขณะที่จีน อินโดนิเซีย มีคำสั่งซื้อลดลง

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.99 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 แต่ลดลงร้อยละ 2.87 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีผลผลิตที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่นดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04 (%QoQ) จากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 แต่ลดลงร้อยละ 1.51 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณ 286,205 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ2.93 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.07 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกปูพื้น (3918) หลอดหรือท่อ (3917) แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์(3921) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924)

ปริมาณการนำเข้าไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณ 214,217 ตัน ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 2.03 (%QoQ) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.95 (%YoY) โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์(3920) และที่เป็นแบบเซลลูลาร์(3921และพลาสติกปูพื้น(3918)

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกและนำเข้าประมาณ 293,167 ตัน และ 222,204 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.94 และ 5.83 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงปัญหาสงครามการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงได้

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ราคาแนฟทาของตลาดเอเชีย ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน ประมาณร้อยละ 15.26 ตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น CLMV เอเชียใต้ และอินเดีย เป็นต้น

ดัชนีผลผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตที่ส่งผลให้เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ของปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Ethylene Propylene Benzene เป็นต้น ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PE resin PET resin เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้โดยเฉพาะปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PE resin PP resin และ PET resin เป็นต้น

ปริมาณการส่งออก ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณ 25.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.85 จากไตรมาส 4 ปี 2561 (%QoQ) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยภาพรวมส่งออกไปยังประเทศ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.85 11.07 7.93 และ 7.44 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคเอเชีย และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น

  • ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีการส่งออกเพิ่ม ได้แก่ Terephthalic Acid (28.98%) Benzene (25.93%) และ Toluene ( 10.34%)
  • ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีการส่งออกเพิ่ม ได้แก่ PVC resin (22.55%) PET resin (14.93%) PE resin (13.18%) และ PP resin (9.14%)ปริมาณการนำเข้า ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณ 5.82 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 27.58 จากไตรมาส 4 ปี 2561 (%QoQ) หรือลดลง ร้อยละ 20.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยภาพรวมนำเข้าจากประเทศ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.80 13.56 12.50 และ 12.22 ตามลำดับ
  • ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ Ethylene Glycol (40.58%) และ Acetic Acid (19.72%)
  • ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีการนำเข้าลดลง ได้แก่ PET resin (43.92%) Styrene Rubber (27.55%) และ Butadiene Rubber (0.46%)
แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 2 ปี 2562

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกประมาณ 26.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.89 เนื่องจากมีการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และ CLMV และช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวในตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น CLMV และอินเดีย เป็นต้น สำหรับปริมาณการนำเข้าคาดว่าจะมีประมาณ 5.63 ล้านตัน ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.97 เนื่องจากคาดว่าจะมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลาสติกชนิดพิเศษทดแทน เพื่อใช้สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

การผลิตเยื่อและกระดาษในไตรมาสที่ 1 ปี 2562(%YoY) ดัชนีผลผลิตฯ ลดลงในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งมีทิศทางเดียวกับการส่งออก มีมูลค่าลดลงทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะตลาดจีนและอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ประกอบกับมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2562

คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสที่ 1 ตามทิศทางการตลาดและความต้องการใช้ของผู้มีคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษไตรมาสที่ 2 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบ (%YoY) คาดว่า จะมีมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.65 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปยังประเทศจีน และตลาดอาเซียน สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์ คาดว่า จะลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศ

การผลิตเยื่อและกระดาษ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเมื่อเปรียบเทียบ (%MOM) ลดลงในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษพิมพ์เขียน ร้อยละ 1.25 11.49 และ 1.98 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบ (%YoY) ดัชนีผลผลิตลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟต์ กระดาษลูกฟูก และกระดาษ พิมพ์เขียน ร้อยละ 0.44 12.67 0.39 0.95 และ 5.56 ตามลำดับ ส่วนใหญ่จากการหดตัวของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 496.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.94 (%QoQ) ลดลงทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 29.31 11.03 และ 7.42 ตามลำดับ จากการส่งออกเยื่อจากเส้นใยที่ได้จากกระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับมาใช้ซ้ำ กระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับมาใช้ซ้ำ และกลุ่มสิ่งพิมพ์ และเมื่อเทียบ (%YoY) มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 10.71 ทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จากการชะลอจากผู้นำเข้าหลักอย่างจีน และตลาดในอาเซียน

การนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 725.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.05 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.01 (%YoY) จากการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ แต่สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์นำเข้าลดลง ทั้ง (%QoQ) และ (%YoY) ร้อยละ 5.77 และ 1.80 ตามลำดับ ในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและจะส่งผลต่อสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เยื่อกระดาษเป็น 1 ใน 52 รายการสินค้าควบคุมที่ถูกยกเลิกควบคุมราคาสินค้าในปี 2562 ตามมติ ค.ร.ม. เนื่องจากราคาค่อนข้างทรงตัวและมีภาวะการค้าปกติ จึงให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดและมีการแข่งขัน ซึ่งภาคการผลิตและผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์ราคาอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลเพื่อให้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมเซรามิก

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเซรามิกในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ขยายตัวจากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ ที่เพิ่มสูงขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น จีน และเมียนมา

การผลิต ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 38.70 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 30.66 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.24 (%YoY) จากการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศเมียนมา ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 1.85 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.92 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.69

การจำหน่าย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 กระเบื้องบุพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 46.56 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 19.79 (%QoQ) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.80 (%YoY) จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ในขณะที่ เครื่องสุขภัณฑ์มีจำนวน 1.04 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.92 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.86

การส่งออก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 การส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีมูลค่า 23.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.11 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.13 การส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดคำสั่งซื้อของเมียนมา กัมพูชา และญี่ปุ่น ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีมูลค่า 48.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.98 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ร้อยละ 7.57 แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกสุขภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องไปยังจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิก ไตรมาส 2 ของปี 2562

การผลิตและการจำหน่ายเซรามิกภายในประเทศ ไตรมาส 2 ของปี 2562 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกจากจีน

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายปริมาณลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ การส่งออกหดตัวจากการซื้อในประเทศตลาดส่งออกหลักที่ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนเข้าไปและตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากตลาดดังกล่าวลดลง

การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 10.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 9.72 (%QoQ) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ร้อยละ 2.51(%YoY) เพื่อรองรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต่างๆ ที่มีความคืบหน้าตามลำดับ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 9.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 11.09 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.21(%YoY)

การส่งออก - นำเข้าปูนซีเมนต์ ( ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาส ที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่าจากการส่งออก 80.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.22 (%QoQ ) เมื่อเทียบกับ ไตรมาส ที่ 4 ปี 2561 แต่ลดลงร้อยละ14.14 (%YoY) จากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน จากการที่ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศที่เคยเป็นตลาดหลักสำคัญของไทยมาก่อน โดยมูลค่าส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงจาก สปป.ลาว ร้อยละ 29.11 กัมพูชา ร้อยละ 11.08 และเมียนมา ร้อยละ 9.31 ส่วนการนำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีมูลค่า 21.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 24.39 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.77 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจาก สปป.ลาว ร้อยละ 3.41

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิต และการจำหน่าย คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากยังคงได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนอาจจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ลดลงรวมถึงจากกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านมากขึ้น การรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้งอยู่ ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่ายังจะสามารถขยายตัวได้

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ไตรมาสที่ 1 ปี 2562การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ชะลอตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศผู้ผลิตที่ลดลงจากสถานการณ์ทางการเมืองและการค้าของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ

การผลิตและจำหน่ายในประเทศ

เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 2.18 5.51 และ 1.97 (YoY) ในส่วนดัชนีการจำหน่ายในประเทศ ลดลงในส่วนของ เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน ร้อยละ 2.77 และ 8.47 (YoY) ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน ตุรกี และเวียดนาม เพื่อนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกบางส่วนจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน ในส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ลดลงในกลุ่มเสื้อผ้าเด็ก และชุดชั้นในสตรี อย่างไรก็ตาม การผลิตเสื้อผ้าสตรีในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต เพื่อส่งออกให้แบรนด์ต่างประเทศยังขยายตัว สำหรับดัชนีการจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศ ขยายตัว ร้อยละ 1.56 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจำหน่ายเสื้อสีเหลืองตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งรัฐบาลเชิญชวนประชาชนสวมใส่เสื้อเหลืองในช่วงพระราชพิธีฯ 4 เดือนระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2562

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,746.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.41 (YoY) ซึ่งหากพิจารณา กลุ่มสิ่งทอ พบว่า ลดลง ร้อยละ 4.25 โดยตลาดส่งออกเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนสำคัญที่หดตัว ได้แก่ จีน และเวียดนาม ซึ่งสาเหตุที่ต้อง จับตาคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปส่งผลให้คำสั่งซื้อวัตถุดิบของไทยไปยังจีนและผู้ประกอบการ รายใหญ่ของจีนในเวียดนามเพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในจีนและเวียดนามชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 15 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2561 สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 4.18 ในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปบุรุษและสตรี ที่ไทยได้รับพิจารณาจากแบรนด์ต่างประเทศให้เป็นแหล่งผลิตในรูปแบบการรับจ้างออกแบบและผลิต โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และเวียดนาม

การนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวม มีมูลค่า 1,358.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 (YoY) โดยเป็นการนำเข้าด้ายและเส้นใยคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา และผ้าผืนจากจีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก และมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งเสื้อผ้าราคาถูกจากจีน และเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่มีสาขาในประเทศไทย

คาดการณ์แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2562

การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อย เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น ในส่วนการส่งออก คาดว่า เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน จะลดลงเนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะ จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะยังขยายตัวได้จากความสามารถในการรับจ้างออกแบบและผลิตเสื้อผ้าบุรุษและสตรีให้กับแบรนด์ต่างประเทศของผู้ประกอบการ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพเป้าหมาย (S-curve) ซึ่งผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มควรใช้โอกาสนี้เร่งพัฒนาในส่วนอุตสาหกรรมต้นน้ำ และกลางน้ำ โดยวิจัยพัฒนาเส้นใยสมบัติพิเศษให้มีคุณภาพ และมีความหลากหลายสูง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ ได้แก่ Meditech, Protech และ Mobitech เป็นต้น

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปรับลดลง จากการชะลอตัวของตลาดในต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีปริมาณลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 2.46 ล้านชิ้น ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.55 และ 1.20 ตามลำดับ จากการชะลอตัวของตลาดในต่างประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 0.42 ล้านชิ้น ขยายตัวจากไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.00 และ 13.51 ตามลำดับ เป็นผลจากการขยายตัวของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่ารวม 848.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.51 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 14.31 แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนและชิ้นส่วน 234.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.24 และ 6.29 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ 37.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.27 และ 3.57 ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ 577.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 11.43 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.75 ในภาพรวมการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มีการปรับลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะยังคงมีปริมาณลดลง ตามแนวโน้มการส่งออกไม้แปรรูปไปยังจีนที่คาดว่าจะยังคงมีปริมาณลดลง

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร อยู่ระหว่างการยกร่างประกาศกระทรวงฯ เพื่อปรับลดอัตราอากรขาออกสำหรับสินค้าไม้และไม้แปรรูป โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเว้นอากรขาออกของไม้แปรรูป และการปรับลดอัตราอากรขาออกของไม้ท่อนอื่น ๆ ลง จากเดิมที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 40 ลดลงเหลือร้อยละ 10 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าไม้ของประเทศ

อุตสาหกรรมยา

ปริมาณการผลิตยาไตรมาสที่ 1 ปี 2562เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามการปรับเพิ่มกำลังการผลิตและการขยายตัวที่ดีของตลาดยาต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่ายยาในประเทศปรับลดลงต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาสตามคำสั่งซื้อที่ลดลง สำหรับการส่งออกขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย

การผลิตยา ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 17,331.14 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.25 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตยาผง ยาเม็ด ยาครีม ยาน้ำ และยาฉีด เนื่องจากผู้ผลิตยารายใหญ่บางรายมีการขยายกำลังการผลิต และตลาดส่งออกโดยเฉพาะตลาดอาเซียนมีการขยายตัวที่ดี

การจำหน่ายยา ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 15,078.67 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 5.07 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายยาทุกชนิดยกเว้นในส่วนของยาผงที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกยาไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 100.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.61 ในภาพรวมการส่งออกยามีการขยายตัวที่ดีจากการขยายตัวของตลาดเวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย โดยในส่วนของเวียดนามนับเป็นการขยายตัวเป็นไตรมาสแรกหลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 4 ไตรมาส สำหรับการนำเข้ายามีมูลค่า 430.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.29 โดยเป็นการนำเข้ายาจากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสเปน ลดลง ในขณะที่มีการนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียเพิ่มขึ้น 3.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นการนำเข้ายาจากอินเดียร้อยละ 10.06 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศของไทยทั้งหมดในไตรมาสนี้

แนวโน้มอุตสาหกรรมยา ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

สำหรับการผลิตยาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.59 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่การจำหน่ายยาในประเทศปรับลดลงร้อยละ 0.58 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของตลาดยาในประเทศ

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตถุงมือยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดส่งออก การผลิตยางรถยนต์ลดลงตามการหดตัวของตลาด Replacement และการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมลดลงตามการชะลอคำสั่งซื้อของตลาดมาเลเซียและจีน

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 0.57 ล้านตัน 18.06 ล้านเส้น และ 5,427.36 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมมีปริมาณลดลงร้อยละ 5.00 ตามการชะลอตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตยางรถยนต์ลดลงร้อยละ 1.68 ตามการหดตัวของตลาด Replacement ในขณะที่การผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55 ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีจำนวน 0.11 ล้านตัน 10.90 ล้านเส้น และ 807.41 ล้านชิ้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้น ยางรถยนต์ และถุงมือยางในประเทศมีปริมาณลดลงร้อยละ 8.33 4.80 และ 7.27 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ที่ลดลง การหดตัวของตลาด Replacement และการปรับแผนการตลาดของผู้ผลิตบางราย

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม ยางรถยนต์ และถุงมือยางไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 1,071.61 1,342.25 และ 286.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกยางรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.28 และ 0.91 ตามลำดับ จากการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลงร้อยละ 8.90 จากการปรับลดคำสั่งซื้อลงของมาเลเซียและจีน

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

การผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.05 และ 15.18 ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะปรับลดลงร้อยละ 2.17 ตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะปรับลดลงของจีน

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง

ไตรมาส 1 ปี 2562 การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.47 จากการผลิตเพื่อการส่งออก ตามความต้องการของกลุ่มประเทศ CLMV และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทาง* มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.54 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับคำสั่งให้ผลิตกระเป๋าชำร่วยจำหน่าย/แจก ในช่วงเทศกาลปีใหม่

การผลิต

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.47 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออก และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทาง*มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.54 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับคำสั่งให้ผลิตกระเป๋าชำร่วยจำหน่าย/แจก ในช่วงเทศกาลปีใหม่

รองเท้า มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 12.09 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากต่างประเทศทดแทนการผลิตเพิ่มขึ้น

การส่งออก-นำเข้า

การส่งออกมีมูลค่ารวม 440.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.87 12.80 และ 3.10 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของตลาด CLMV

การนำเข้ามีมูลค่ารวม 486.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.28 จากการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.21 และ 26.87 ตามลำดับ จากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่ ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ขยายตัว ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ และผู้บริโภคปรับตัวตามพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรู ทำให้ความต้องการสินค้าแบรนด์เนมขยายตัว

แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2562

การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากฐานของไตรมาส ที่ 2 ปี 2561 อยู่ในระดับสูง สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มกระเป๋าเดินทางและรองเท้า มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของการท่องเที่ยว การผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะกระเป๋าและรองเท้านักเรียน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การผลิตในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ขยายตัว

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1ปี 2562หดตัว จากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่การส่งออก (ไม่รวมทองคำ) มีทิศทางหดตัวเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันวาเลนไทน์ ทำให้การส่งออกขยายตัว จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครื่องประดับทอง

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2562 ในเชิงปริมาณ หดตัว ร้อยละ 16.17 จากไตรมาสที่ผ่านมา (%QoQ) เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการนำสินค้าในสต็อกออกจำหน่ายแทนการผลิตสินค้าใหม่ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) พบว่า ดัชนีการผลิตปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.03 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อในตลาดหลักหลายแห่งลดลง

การจำหน่าย อัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2562 หดตัว ร้อยละ 15.22 (%QoQ) และร้อยละ 5.08 (%YoY) ในเชิงปริมาณ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมานิยมสวมใส่สินค้าเครื่องประดับแบบน้อยชิ้น แต่มีมูลค่าสูง (minimal but high value)

การส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว ร้อยละ 13.22 (%QoQ) จากความต้องการบริโภคช่วงเทศกาลต้นปีและช่วงวาเลนไทน์ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) พบว่า หดตัว ร้อยละ 6.49 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคบางส่วนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก และเมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่า มูลค่าการส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน คือ ขยายตัว ร้อยละ 11.47 (%QoQ) แต่หดตัว ร้อยละ 2.68 (%YoY) ตามการปรับตัวของระดับราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกในแต่ละช่วงเวลา

แนวโน้มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2562

การผลิตและการจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอาหาร

ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 หลังจากขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งปี 2560 เป็นผลจากความต้องการบริโภคทั้งในชะลอตัวลง อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ และกะทิ อีกทั้งรายได้เกษตรกรปรับตัวลดลง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคชะลอตัว ประกอบกับมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาด สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และอาเซียน-5 จากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ ข้าว มันเส้น น้ำตาลทราย กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรด ด้วยปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง ประกอบกับสินค้าเกษตรที่ Over Supply ในปีก่อนอย่างสับปะรดกระป๋อง และน้ำตาลทราย

ดัชนีการผลิตอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ135.7 เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 28.5 (%QoQ) เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลออกผลผลิตสินค้าสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ประกอบกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบ เนื่องจากปีนี้เร่งปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนลดลงร้อยละ 0.3 (%YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในชะลอตัวลง อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ และกะทิ แม้ตลาดต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป และแป้งมันสำปะหลัง

การจำหน่ายอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีปริมาณ 65,738,974.71 พันตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 3.3 (%QoQ) แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.9 (%YoY) จากการจำหน่าย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำตาลทรายดิบ และน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 0.2 (%YoY) ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคชะลอตัว

การส่งออกไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 7,447.2 ล้านเหรียญ ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 3.6 (%QoQ) จากการส่งออกสินค้าสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าว ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 (%YoY) โดยเฉพาะตลาด สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และอาเซียน-5 จากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าทั้งปริมาณและมูลค่า อาทิ ข้าว มันเส้น น้ำตาลทราย กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรด ด้วยปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง ประกอบกับสินค้าเกษตรที่ Over Supply ในปีก่อนอย่างสับปะรดกระป๋อง และน้ำตาลทราย

การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 มีมูลค่า 3,592.7ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.9 (%QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 (%YoY) จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่ง อาทิ เมล็ดพืชน้ำมัน กากพืชน้ำมัน นมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อรองรับการขยายตัวของการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในประเทศและต่างประเทศ

แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562

ดัชนีการผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวร้อยละ 3.5 ด้วยปัจจัยลบอย่างการปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีการผลิตน้ำตาลทรายดิบลดลงมาก ประกอบกับราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งลดลง ส่งผลโดยต่อดัชนีการผลิตกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งลดลง รวมทั้งดัชนีการผลิตสับปะรดกระป๋องที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการส่งออกภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.9 จากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน และจากปัจจัยบวกอย่างสหภาพยุโรปจัดสรรปริมาณโควตาใหม่ และยังได้รับผลดีจากการที่จีนได้นำเข้าไก่ไทยเพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้าจากบราซิล ประกอบกับ EU ปลดล็อคใบเหลือง IUU Fishing หนุนภาพลักษณ์ประมงไทย ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าประมงกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าและการกดดันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งของสินค้าสำคัญอาทิ ข้าว ซึ่งราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง (เวียดนาม) จึงยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาทั้งจากฟิลิปปินส์ที่ซื้อข้าวครบแล้ว และจีนที่ยังไม่มีข้อสรุปการส่งมอบข้าว G-to-G ที่เหลือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น) สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ที่โดนกดดันด้านราคาจากอินเดีย และยังมีปัจจัยในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง รวมถึงประเด็น Brexit ที่มีความเป็นไปได้จากการที่ สหราชอาณาจักรอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ