ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 30, 2020 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 23.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาข้อมูล MPI ย้อนหลัง 3 เดือน เทียบกับปีก่อน (%YoY) เดือนกุมภาพันธ์ การผลิตหดตัวร้อยละ 4.2 เดือนมีนาคม หดตัวร้อยละ 10.5 และเดือนเมษายน หดตัวร้อยละ 18.2

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา เดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI (%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงดังนี้ กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ หดตัวร้อยละ 2.9 เดือนมีนาคม ขยายตัวร้อยละ 2.7 และเดือนเมษายน หดตัวร้อยละ 24.7

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ

  • รถยนต์ และเครื่องยนต์ หดตัวร้อยละ 68.7 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั่วโลก
  • การกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 16.8 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลง การลดลงของปริมาณขนส่งสินค้าและการเดินทางโดยสารในประเทศทางถนน ทางน้ำ รวมไปถึงการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องหยุดให้การบริการ ทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงหดตัวไปมาก
  • เครื่องปรับอากาศ หดตัวร้อยละ 46.8 ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตยังปรับลดวันทำงานของพนักงานลง รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต และช่องทางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าพึ่งเปิดให้บริการในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกลดลง

อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

  • ปุ๋ยเคมี เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 จากผู้ผลิตบางรายเพิ่มสัดส่วนในการรับจ้างผลิตสินค้ามากขึ้น จากปีก่อนที่เน้นผลิตตามแผนการตลาดของตัวเองเท่านั้น
  • อาหารทะเลกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคและเก็บสำรองสินค้ายังมีต่อเนื่อง รวมถึงมีการเร่งการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าและปลาซาร์ดีนที่มีมากในปีนี้

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เดือนพฤษภาคม 2563

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย
  • การนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 938.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวจากเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และส่วนประกอบ เครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว และ เครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ และส่วนประกอบ เป็นต้น
  • การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 5,894.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 22.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวจากเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และสินแร่โลหะ (ทองแดง) เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
  • โรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 197 โรงงาน ลดลงจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 13.6 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 34.77 (%YoY)

+ มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่ารวม 16,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 31.91 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 73.5 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2563 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอกกรวด ทราย หรือดิน จำนวน 16 โรงงาน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม จำนวน 15 โรงงาน"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 คือ อุตสาหกรรมการผลิตและหรือจำหน่าย ไอน้ำ (Steam Generating) จำนวนเงินทุน 3,405.71 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมการทำน้ำเชื่อม จำนวนเงินทุน 1,545.70 ล้านบาท

+ จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 55 ราย ลดลงจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 23.61 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 64.29 (%YoY)

+ เงินทุนของการเลิกกิจการในเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่ารวม 874 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 35.29 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 69.2 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่มีการเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2563 คือ อุตสาหกรรมการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน จำนวน 6 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการเลื่อย ไส ซอย เซาะร่อง หรือการแปรรูปไม้ จำนวน 4 โรงงาน

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนพฤษภาคม 2563 คือ อุตสาหกรรมโรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่ายก๊าซ มูลค่าเงินลงทุน 123 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารที่ทำจากโลหะ มูลค่าเงินลงทุน 112 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนพฤษภาคม 2563

1.อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิต กลุ่มสินค้าอาหารเดือนพฤษภาคม 2563 ปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 3.6 ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง รวมถึงความต้องการบริโภคในประเทศบางรายการลดลงในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ แบ่งเป็น

1) สินค้าอิงตลาดส่งออก ที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง อาทิ (1) น้ำตาลทราย ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 21.3 (2) น้ำผลไม้ ดัชนีปรับลดลง (YoY) ร้อยละ 17.6 (3) ไก่แปรรูป ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 3.5 และ (4) กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ดัชนีปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 1.6

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ ที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง คือ น้ำมันปาล์ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 11.4 และ 4.1 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารยังได้รับอานิสงค์จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลดัชนีผลผลิตหลายรายการเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้า เพื่อเป็นการสำรองอาหารทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้ (1) อาหารสำเร็จรูป อาทิ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปรับเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 22.3 9.8 และ 7.1 ตามลำดับ (2) ผลิตภัณฑ์นม ปรับเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 6.0 รวมทั้ง อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ปรับเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 5.1

  • การจำหน่ายในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร ในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2563 ปรับตัวลดลง (YoY) ร้อยละ 4.1

+ ตลาดส่งออก ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหาร เดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 2,993.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ 11.3 จากความต้องการบริโภคและสำรองอาหารในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผู้นำเข้าหลักอย่างจีนที่กลับมาเปิดประเทศหลังการระบาด โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้ง มูลค่าการส่งออกผลไม้สดปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ปริมาณการส่งออกในภาพรวมปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 8.5

คาดการณ์แนวโน้ม คาดว่าเดือนมิถุนายนดัชนีผลผลิตและมูลค่า การส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศที่เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งตลาดต่างประเทศยังคงความต้องการอาหารอย่างต่อเนื่องด้วยบางประเทศที่มีการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง เช่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศที่ยังคงมีการระบาดที่รุนแรง เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมนี เป็นต้น แม้จะมีปัจจัยลบจากปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย และปาล์มน้ำมัน และผลกระทบจากภัยแล้ง

2. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมไฟฟ้า
  • การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 35.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 74.1 สินค้าปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า คอมเพรสเซอร์ พัดลมตามบ้าน หม้อแปลงไฟฟ้า หม้อหุงข้าว สายเคเบิ้ล ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน มอเตอร์ไฟฟ้า และเตาอบไมโครเวฟ ปรับตัวลดลงร้อยละ 47.6, 44.3, 40.5, 32.7, 27.4, 24.4, 23.1, 22.9, 18.9, 13.1 และ 12.5 ตามลำดับ โดยเครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว มอเตอร์ไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้า มีการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่วนพัดลมตามบ้านและสายเคเบิ้ล มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ในขณะที่สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สายไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เนื่องจากผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลัง
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,571.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียนและญี่ปุ่นที่มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่า 54.5 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 44.5 มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีมูลค่า 51.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 41.0 ในขณะที่สินค้าที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มีมูลค่า 153.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในตลาดจีนและยุโรป และเตาอบไมโครเวฟ มูลค่า 15.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในตลาดจีนและญี่ปุ่น
"คาดการณ์การผลิตเดือนมิถุนายน 2563 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกายังปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงยังมีสถานการณ์ล็อกดาวน์และหยุดกิจการซื้อขายต่าง ๆ ทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ หลายโรงงานเริ่มลดกำลังการผลิต โดยจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนทำให้การสต็อกสินค้าและชิ้นส่วนไม่เพียงพอ"
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 85.9 สินค้าปรับตัวลดลง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปรับตัวลดลง ได้แก่ PCBA, PWB, IC, Printer และ HDD โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 13.9, 13.0, 9.1,6.7 และ 4.2 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากในประเทศและต่างประเทศลดลง ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Semiconductor devices transistor โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และ เนื่องจากความต้องการสินค้าของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,542.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้า HDD มีมูลค่า 954.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.7 ในตลาดญี่ปุ่น ยุโรปและอาเซียน และ IC มีมูลค่า 549.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.2 ในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปและอาเซียน ในขณะที่สินค้า Semiconductor devices transistor มีมูลค่า 134.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปและอาเซียนเพิ่มขึ้น
"คาดการณ์การผลิตเดือนมิถุนายน 2563 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ประเทศคู้ค้าชะลอการสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามประเทศจีนได้เปิดสายการผลิตได้บางส่วน ทำให้มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น"

3. อุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

+ การผลิตรถยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 56,035 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 126.76 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 69.10 (%YoY) จากการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

          + การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม            ปี 2563 มีจำนวน 40,418 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน  ปี 2563 ร้อยละ 34.24 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 54.12 (%YoY) จากการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และรถยนต์ SUV เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการ Lock down เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้ความต้องการในการเดินทางลดลง ส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อรถยนต์ รวมทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และการหยุดการผลิตชั่วคราวของโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งในเดือนเมษายน-พฤษภาคม

+ การส่งออกรถยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 29,894 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 47.07 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 68.64 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกากลางและใต้ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2562 เนื่องจาก ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์

+ การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 66,669 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 4.96 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 60.74 (%YoY) จากการลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์ และแบบสปอร์ต

+ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มียอดจำหน่ายจำนวน 97,348 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 23.42 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 39.53 (%YoY)จากการลดลงของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขนาด 51-110 ซีซี 111-125 ซีซี 126-250 ซีซี 251-399 ซีซี และมากกว่าหรือเท่ากับ 400 ซีซี

+ การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 15,090 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 8.68 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 54.26 (%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และสเปน

"คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2562 เนื่องจาก ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"

4. อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา

การผลิต
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ลดลงร้อยละ 15.82 โดยเป็นการปรับลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการใช้ที่ลดลง
  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 59.05 ตามการชะลอตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.65 เนื่องจากสถานการณ์โควิค-19 ทำให้มีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้น

การจำหน่ายในประเทศ

+ ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.69 โดยเป็นการขยายตัวในผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้น

  • ยางรถยนต์ ลดลงร้อยละ 52.10 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาด Replacement

+ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.54 ตามความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

การส่งออก
  • ยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) มีมูลค่าลดลงร้อยละ 42.02 เนื่องจากหลายประเทศโดยเฉพาะจีนมีความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นปฐมจากไทยลดลงตามสถานการณ์การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศที่ยังชะลอตัว
  • ยางรถยนต์ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 45.32 ตามการชะลอตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

+ ถุงมือยาง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.26 จากการขยายตัวที่ดีของตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

คาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563

การผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) คาดว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศได้ลดลงมาก ทำให้มีสถานที่จัดเก็บสต็อกสินค้าไม่เพียงพอและขาดสภาพคล่อง สำหรับการผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ คาดว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มการชะลอตัวของตลาด Replacement ในประเทศ และตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐ อเมริกา รวมถึงการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางในประเทศคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้ทางการแพทย์สูงขึ้นมาก จึงมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น) และยางรถยนต์ คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้ภาคการผลิตรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของไทยในสินค้าดังกล่าวชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ประกอบกับขณะนี้คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างไต่สวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้ายางรถยนต์นั่งและยางรถบรรทุกเล็กของไทย รวมถึงเกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งเมื่อสิ้นสุดกระบวนการไต่สวนดังกล่าว ไทยอาจส่งออกสินค้ายางรถยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกาได้ลดลงอีก สำหรับการส่งออกถุงมือยางคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

5. อุตสาหกรรมพลาสติก

ดัชนีผลผลิต-ดัชนีการสงสินค้า
  • ดัชนีผลผลิต เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 87.05 หรือหดตัวร้อยละ 8.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตหดตัวในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ และกระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 17.95 และ 9.43 กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก กึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ได้แก่ พลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก และท่อและข้อต่อพลาสติก หดตัวร้อยละ 29.42, 18.48 และ 4.21 และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำที่เป็นพลาสติก หดตัวร้อยละ 20.15 ตามลำดับ
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 86.00 หรือหดตัวร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ และกระสอบพลาสติก หดตัวร้อยละ 22.24 และ 4.97 กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ได้แก่ พลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก และท่อและข้อต่อพลาสติก หดตัวร้อยละ 34.08, 14.67 และ 14.67 กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำที่เป็นพลาสติก หดตัวร้อยละ 31.38 ตามลำดับ
  • การส่งออก เดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 283.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 23.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้การส่งออกหดตัว เช่น กลุ่มพลาสติกปูพื้น (HS 3918) หดตัวร้อยละ 69.53 กลุ่มของอื่น ๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (HS 3926) หดตัวร้อยละ 38.41 กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (HS 3924) หดตัวร้อยละ 34.82 และแผ่นฟิล์มพลาสติก (HS 3919) หดตัวร้อยละ 32.67 เป็นต้น
ปริมาณและมูลค่าการส่งออก-นำเข้า
  • การนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 362.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 9.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งผลให้การนำเข้าหดตัว เช่น กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ (HS 3922) หดตัวร้อยละ 39.08 กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (HS 3924) หดตัวร้อยละ 24.47 กลุ่มเส้นใย (HS 3916) หดตัวร้อยละ 24.23 และกลุ่มพลาสติกปูพื้น (HS 3918) หดตัวร้อยละ 19.72 เป็นต้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก เดือนมิถุนายน 2563 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมพลาสติกในภาพรวมจะยังคงชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการสินค้าพลาสติกสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ลดลง

6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
  • ดัชนีผลผลิต เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 105.16 หดตัวร้อยละ 5.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยการผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัว ร้อยละ 6.97 การผลิตหดตัวทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสินค้าลดลง สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย หดตัวร้อยละ 5.48 ซึ่งการผลิตหดตัวทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยกเว้น การผลิตปุ๋ยเคมี
  • ดัชนีการส่งสินค้า เดือนพฤษภาคม 2563 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีค่าดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 91.93 หดตัวร้อยละ 17.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยดัชนี การส่งสินค้า ในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน หดตัวร้อยละ 15.54 สำหรับกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 16.95
  • การส่งออก เดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 586.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 34.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวทั้งในกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐานและเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการส่งออก 309.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 19.49 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออก 277.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 45.37 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยกเว้นสารลดแรงตึงผิวการส่งออกหดตัวในตลาดหลัก ยกเว้นจีน
          - การนำเข้า เดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 1,185.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.69 เมื่อเทียบกับ             ช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มเคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่า การนำเข้า 715.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.93 สำหรับเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้า 470.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  หดตัวร้อยละ 21.83 การนำเข้าหดตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เดือนมิถุนายน 2563 การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19

7. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • ดัชนีผลผลิต เดือนพฤษภาคม ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 111.23 หรือหดตัวร้อยละ 2.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน คือ Ethylene หดตัวร้อยละ 4.35 และปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น SAN resin, EPS resin, PP resin และ ABS resin เป็นต้น หดตัวร้อยละ 44.06, 23.99, 14.39 และ 12.89 ตามลำดับ

+ ดัชนีการส่งสินค้า เดือนพฤษภาคม ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 116.99 หรือขยายตัวร้อยละ 7.77 โดยเป็นปิโตรเคมี ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ Toluene, Benzene และ Propylene ขยายตัวร้อยละ 31.27, 26.39 และ 3.30 ตามลำดับ และ ปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น SAN resin, PE resin, ABS resin และ PP resin เป็นต้น ขยายตัวร้อยละ 23.73, 16.70, 9.95 และ 7.70 ตามลำดับ

  • การส่งออก เดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีมูลค่า 707.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 30.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน เช่น Para-Xylene,Terephthalic Acid, Benzene และ Propylene Oxide เป็นต้น และปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น PE resin, PP resin, PC resin, PVC resin และ PET resin เป็นต้น ซึ่งการส่งออกหดตัวในตลาดหลัก เช่น จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เป็นต้น
  • การนำเข้า เดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีมูลค่า 353.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 26.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน เช่น Vinyl Chloride, Acetic Acid, Styrene และ Butylene เป็นต้น และปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น PE resin, Nylon resin, PMMA resin และ PES resin เป็นต้น

คาดการณ์แนวโน้ม เดือนมิถุนายน ปี 2563 คาดว่า การผลิต และการส่งออกอาจจะยังคงชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกในหมวดปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าปิโตรเคมีทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ

8. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีค่า 81.1 หดตัวร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวทั้งสองผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม 83.4 หดตัวร้อยละ 20.2 จากการผลิตเหล็กแรงดึงสูง หดตัวร้อยละ 39.5 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน และลวดเหล็ก หดตัวร้อยละ 36.1 และ 17.3 ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 74.7 หดตัวร้อยละ 32.6 จากการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ 44.12 เนื่องจากการชะลอของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน หดตัวร้อยละ 40.8 และ 26.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เดือนพฤษภาคม การผลิตเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องโลหะ
  • การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 1.1 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 37.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณจำหน่าย 0.3 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 39.0 จากการจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรีดร้อน หดตัวร้อยละ 50.2 และเหล็กลวด หดตัวร้อยละ 22.6 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณจำหน่าย 0.8 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 36.3 จากการจำหน่าย เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลงร้อยละ 44.1 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 42.9 และ 24.9 ตามลำดับ
  • การนำเข้า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีปริมาณนำเข้า 0.8 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าหดตัวทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว มีปริมาณนำเข้า 0.2 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 27.0 จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรีดร้อน ประเภท Stainless Steel หดตัวร้อยละ 56.6 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ จีน) รองลงมา คือ เหล็กเส้น ประเภท Carbon Steel และลวดเหล็ก หดตัวร้อยละ 41.3 และ 36.6 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน มีปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 38.8 จากการนำเข้าเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ประเภท Alloy Steel ลดลงร้อยละ 69.9 (ประเทศหลักที่ไทยนำเข้าลดลง คือ ญี่ปุ่น) รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรีดเย็น และเหล็กแผ่นรีดเย็น ประเภท Carbon Steel หดตัวร้อยละ 68.8 และ 61.2 ตามลำดับ
"แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมิถุนายน 2563 คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่น สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ราคาสินค้าเหล็กต่างประเทศ และโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณการผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ"

9. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 28.23 35.56 และ 29.83 (YoY) เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน พบว่า การผลิตผ้าผืน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.51 จากการคลายล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้าหลายแห่ง การจำหน่ายในประเทศ
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง 44.19 51.36 และ 37.75 เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อการส่งออกลดลง รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศชะลอตัวจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
การส่งออก
  • เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าลดลง ร้อยละ 46.31 45.75 และ 37.55 (YoY) เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกทำให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยตลาดสำคัญที่ลดลง ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน พบว่า การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัว ร้อยละ 2.94 จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม ฮ่องกง และ จีน เนื่องจากเริ่มคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้เริ่มมีการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อเดิม
คาดการณ์แนวโน้มเดือนมิถุนายน 2563

คาดว่า ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะชะลอตัวตามกำลังซื้อในประเทศ และภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

10. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

+ การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 7.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 2.71 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.59 (%YoY)

+ การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 3.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 3.11 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.59 (%YoY)

+ การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 1.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 55.23 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.59 (%YoY) เป็นผลจากการงดคำสั่งซื้อของฟิลิปปินส์ และปรับลดคำสั่งซื้อของบังคลาเทศ สปป.ลาว และ กัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ในภาพรวมเดือนมิถุนายน ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

+ การผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 8.21 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.67 (%YoY)

+ การจำหน่ายซีเมนต์ในประเทศ (ไม่รวมปูนเม็ด) เดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีปริมาณการจำหน่าย 3.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 3.11 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.59 (%YoY)

+ การส่งออกซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีจำนวน 0.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ปี 2563 ร้อยละ 34.61 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.04 (%YoY) เป็นผลจากการงดคำสั่งซื้อของฟิลิปปินส์ และปรับลดคำสั่งซื้อของ สปป.ลาว และ กัมพูชา

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมิถุนายน ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องไปอีก และแม้สถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นบ้างแล้วแต่ความมั่นใจในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของประชาชนซึ่งเป็นเงินจำนวนสูงยังไม่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ