กรมธุรกิจพลังงานแถลงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 53 พร้อมแจงสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 3

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2010 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กรมธุรกิจพลังงาน กรมธุรกิจพลังงานจัดแถลงข่าว สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 3 พบการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เล็กน้อย พร้อมเผยผลการดำเนินงานสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำมันทั่วประเทศ แจงความคืบหน้าโครงการควบคุมไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิง (VRU) โครงการปั๊มคุณภาพปลอดภัยน่าใช้บริการปี 3 โครงการ LPG Safety 2010 และยอดเงินค่าธรรมเนียมที่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินกว่า 90 ล้านบาท นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงว่า การใช้พลังงานในช่วงเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมาว่า มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2553 โดยการใช้น้ำมันเบนซินรวมอยู่ที่ 20.3 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 2% การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 47.4 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 3% การใช้ LPG อยู่ที่ 16,100 ตัน/วัน หรือ 482,000 ตัน/เดือน เพิ่มขึ้น 3% และการใช้ NGV อยู่ที่ 5,300 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 5% โดยคาดการณ์ว่า ในเดือนตุลาคมนี้จะมีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรที่มีการใช้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปี สำหรับสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงรายไตรมาส ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวมปี 2553 ในช่วงไตรมาสที่ 3 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ยกเว้น น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพียงชนิดเดียวที่มีอัตราการใช้ลดลง โดยมีการใช้น้ำมันเบนซินรวมเฉลี่ย 20.3 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 1% และการใช้ LPG รวม 15,300 ตัน/วัน หรือ 469,000 ตัน/เดือน เพิ่มขึ้น 5% และในส่วนของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว มีอัตราการใช้ลดลง อยู่ที่ 47.5 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากไตรมาส 2 อยู่ 7% เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม เป็นช่วงฤดูมรสุมมีฝนตกหนักเกือบตลอดทั้งเดือนและมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 การใช้น้ำมันในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นทุกชนิด ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวมในไตรมาส 3 (กรกฎาคม- กันยายน)มีปริมาณรวม 12,419 ล้านลิตร ปรับลดลงจากไตรมาส 2 ซึ่งมีการนำเข้ารวม 13,165 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 5.7% มีมูลค่านำเข้ารวม 188,121 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ซึ่งมีมูลค่า 212,487 ล้านบาทหรือคิดเป็น 11.5% โดยในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้า LPG มาจากต่างประเทศ 363,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 มีปริมาณการนำเข้า LPG รวม 432,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10,500 ล้านบาท ลดลง 16% และ 27% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณ 3,700 ล้านลิตร มูลค่า 59,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 อยู่ 24% และ15% ตามลำดับ ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง 2553 นายพีระพล สาครินทร์ กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงานมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้าน้ำมันทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2553 รวมทั้งสิ้น 6,507 ราย 11,636 ตัวอย่าง พบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำ 199 ราย 223 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.06 และ1.92 ของจำนวนรายและจำนวนตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่ยังเป็นปั๊มอิสระอยู่ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานได้พิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทุกราย และจากการเปรียบเทียบผลการตรวจสอบในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าในภาพรวมแนวโน้มการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพต่ำลดลง โดยในปีงบประมาณ 2552 ตรวจพบการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพต่ำ คิดเป็นร้อยละ 5.24 และ 3.16 ของจำนวนรายและจำนวนตัวอย่างที่ตรวจสอบ ส่วนหนึ่งเกิดจากกรมธุรกิจพลังงานได้ประกาศแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างสีของน้ำมัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นหากมีการปลอมปน นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2554 กรมธุรกิจพลังงานมีแผนเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ โดยจัดทำโครงการขยายขีดความสามารถด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สำนักวิชาการพลังงานภาคได้กำกับดูแลคุณภาพของสถานีบริการที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะวางแผนการตรวจสอบคุณภาพโดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีปัญหา รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสรรพสามิต เพื่อปฏิบัติงานร่วมกันในการตรวจสอบและปราบปรามผู้กระทำผิดต่อไป โครงการ “ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ” ปี 3 กรมธุรกิจพลังงานเตรียมโครงการ “ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้จะเปิดรับสมัครสถานีบริการน้ำมันสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2553 จำนวน 1,500 แห่งทั่วประเทศ แบ่งประเภทรางวัลออกเป็น 3 ประเภท คือ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง มีหลักเกณฑ์การตรวจประเมิน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ระบบควบคุมคุณภาพน้ำมัน ระบบควบคุมความปลอดภัย และ ระบบควบคุมความสะอาด สุขอนามัยและมาตรฐานการบริการ ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากสถานีบริการน้ำมันเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากมีสถานีบริการน้ำมันเข้าสมัครร่วมโครงการฯ จำนวนมาก โดยปีที่ 1 มีสถานีบริการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 370 แห่ง และปีที่ 2 มีสถานีบริการที่ผ่านการคัดเลือกมีจำนวนทั้งสิ้น 437 แห่ง และสถานีบริการเหล่านี้มีการปรับปรุงพัฒนาสถานีบริการน้ำมันทั้งด้านความปลอดภัย คุณภาพน้ำมันดีสม่ำเสมอ และบริการที่ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตชุมชนใกล้เคียงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และที่พักผ่อนระหว่างการเดินทาง มีผลโดยตรงต่อภาพพจน์ของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ ตลอดจนนำสู่การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน รอบสถานีบริการน้ำมันอันส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ผู้ประกอบการน้ำมัน รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมใจ ติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเบนซิน ตามกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2550 กำหนดให้มีการติดตั้งหน่วยระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (Vapor Recovery System) หรือ VR ที่คลังน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน และรถขนส่งน้ำมัน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปแล้ว กรมธุรกิจพลังงานได้ศึกษาผลการปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลประกอบมาตรการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พบปัญหา การเติมน้ำมันให้รถขนส่งน้ำมันต้องเป็นระบบเติมน้ำมันใต้ถัง (bottom loading) ทำให้รถขนส่งน้ำมันที่มีอยู่เดิมที่เป็นระบบเติมน้ำมันเหนือถัง (top loading) ไม่สามารถเข้าไปรับน้ำมันจากคลังน้ำมันได้ กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ศึกษาระบบเติมน้ำมันเหนือถังในประเทศญี่ปุ่น และนำรูปแบบมาทดลองดัดแปลงคลังน้ำมันในประเทศไทย พบว่าค่ามลพิษที่เกิดขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้รถแบบ top loading ที่ผ่านการดัดแปลงสามารถใช้งานต่อไปได้ กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการแก้กฎหมายให้สอดคล้อง โดยออกกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 26 เมษายน 2553 ผ่อนผันให้มีระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีการจ่ายน้ำมันให้กับรถขนส่งน้ำมันเหนือถัง (top loading) เป็นเวลา 10 ปี และได้มีประกาศกระทรวงพลังงานเรื่อง ระบบรับและจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเหนือถังสำหรับระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 6 พฤษภาคม 2553 กำหนดมาตรฐานการจ่ายน้ำมันให้แก่รถขนส่งน้ำมัน พร้อมได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ให้มีการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2553 กำหนดบังคับใช้การควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ 7 จังหวัดคือชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุราษฎร์ธานี โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 31 ธันวาคม 2553 จากข้อมูลล่าสุด คลังน้ำมันในพื้นที่ 7 จังหวัดได้ดำเนินการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงประกอบด้วยหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (VRU) และระบบเติมน้ำมันใต้ถังเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับระบบเติมน้ำมันเหนือถังที่มีการควบคุมไอน้ำมันหลายคลังได้ติดตั้งเสร็จและได้มีการใช้ระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขณะนี้ พบว่าผู้ประกอบการรถขนส่งน้ำมัน มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบเติมน้ำมันใต้ถัง มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพบว่าการใช้ระบบเติมน้ำมันใต้ถังสามารถเติมน้ำมันได้รวดเร็ว และไม่ต้องขึ้นไปทำงานบนที่สูงเหนือถังสามารถทำงานได้สะดวกและลดการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ไม่ต้องรอเติมน้ำมันที่คลังน้ำมันเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวการขนส่งน้ำมันทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการประกาศใช้กฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว สามารถควบคุมไอน้ำมันเบนซินได้ถึง 60% (กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวม 45% ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุราษฎร์ธานี รวม 15%) ซึ่งผลจากการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการลดการแพร่กระจายของไอน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ลดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไอน้ำมันที่ระเหยไปกลับมาใช้เป็นน้ำมันได้อีก ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยให้ประเทศชาติลดการนำเข้าพลังงานได้อีกด้วย การดำเนินการในอนาคต กรมธุรกิจพลังงานจะได้ประสานกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ทั้ง 11 จังหวัดที่ได้ติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว หากพบว่าการควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น จะได้พิจารณากำหนดเขตพื้นที่ติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตพื้นที่อื่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่นั้นก่อนหากมีมลพิษสูงกว่ามาตรฐานจะได้พิจารณาดำเนินการต่อไป ธพ.เดินเครื่องโครงการ “LPG SAFETY 2010” กรมธุรกิจพลังงานเตรียมจัดกิจกรรมสัญจรให้ความรู้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ภายใต้ชื่อ โครงการ “LPG SAFETY 2010” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยในปีแรกได้ดำเนินการไป 20 จังหวัด มีเยาวชนเข้าร่วมอบรมกว่า 5,000 คน ปีที่ 2 ได้จัดฝึกอบรมไปแล้วในพื้นที่ 8 จังหวัด มีเยาวชนเข้าร่วมอบรมกว่า 6,000 คน โดยในปีที่ 3 นี้ กรมธุรกิจพลังงานได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 24 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 14,400 คน โดยกิจกรรม จะมีการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มุ่งเน้นให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นด้านการใช้พลังงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม อาทิ การให้ความรู้เรื่องคุณสมบัติของก๊าซหุงต้มและการนำมาใช้ในครัวเรือนอย่างปลอดภัย การแนะนำให้รู้จักเลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม การบำรุงรักษา รวมทั้งการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่เกิดจากก๊าซหุงต้ม เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่คนในครอบครัวและชุมชนของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุจากก๊าซหุงต้มได้อีกทางหนึ่ง กรมธุรกิจพลังงานนำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินปี 53 ยอดรวมกว่า 90 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 กรมธุรกิจพลังงาน สามารถเก็บค่าธรรมเนียมสะสมเป็นเงินรายได้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 90,015,000 บาท จากการรับชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 26,392 ราย โดยกรมธุรกิจพลังงานคาดว่ายอดชำระรวมจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2554 นี้จะเป็นการจัดเก็บรายได้ให้กับแผ่นดินไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
แท็ก AFET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ