ซี.ซี.เอฟ จับมือเยาวชนรู้รักสามัคคีจากสี่ภาค สร้างกิจกรรมรณรงค์ พัฒนาโครงการดีๆ ใน 25 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday October 19, 2010 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ซี.ซี.เอฟ. ซี.ซี.เอฟ. รวมพลังนักปฏิรูปรุ่นเยาว์เดินหน้าพัฒนาศักยภาพให้มีความสามารถและแบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น ตามโครงการ “รวมพลังเยาวชนรู้รักสามัคคี เพื่อเมืองไทยแข็งแรง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปและขับเคลื่อนสังคมไทย และสร้างเยาวชนรู้รักสามัคคีให้ครบ 3,500 คนภายในเดือนเมษายนปีหน้า ในระหว่างวันที่ 16- 24 ตุลาคม 2553 นี้ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะนำเยาวชน 241 คนซึ่งเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ เยาวชนในจังหวัด มาเข้า “ค่ายนักปฏิรูปรุ่นเยาว์” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นสามค่ายที่ วีเทรนอินเตอร์เนชั่นแนลเฮาส์ (16-18 ตุลาคม) และที่โรงแรมกานต์มณีพาเลซ (19-21 และ 23-24 ตุลาคม) กรุงเทพฯ ผู้นำเยาวชนเหล่านี้มาจาก 25 จังหวัดในภาคเหนือ (เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน อุตรดิตถ์ แพร่ เพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์) ภาคกลาง (กรุงเทพ) และภาคใต้ (นราธิวาส สตูล) ทั้งสามค่ายนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของโครงการ “รวมพลังเยาวชนรู้รักสามัคคี เพื่อเมืองไทยแข็งแรง” ซึ่งมูลนิธิฯ จัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 35 ปี แห่งการดำเนินงาน ในค่ายจะเปิดโอกาสให้เยาวชนมานำเสนอโครงงานที่ตนและเพื่อนๆ ในแต่ละจังหวัดได้ไปสำรวจปัญหาชุมชนและหาทางแก้ไขตามแนวทาง “จริยธรรมดี สามัคคีแน่น แม่นประชาธิปไตย ห่างไกลความรุนแรง” เพื่อช่วยกันหาทางออกให้แก่ประเทศชาติที่เพิ่งผ่านวิกฤติความขัดแย้งครั้งใหญ่ โครงงานที่เยาวชนได้เตรียมคิดค้นกันมานี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่พยายามจะแก้ปัญหาใกล้ตัวทั้งสิ้น เช่น - โครงงาน “ประชาธิปไตยหัวใจเยาวชน” ซึ่งเน้นการสร้างวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยโดยผ่านเสียงตามสาย และละครพื้นบ้าน - โครงงาน “ละอ่อนอย่างเฮาก็ทำได้เน้อ” ซึ่งเน้นการสร้างความสามัคคีระหว่างหมู่บ้านด้วยกีฬาวิ่ง 11 ขา การประชาสัมพันธ์ในชุมชน และการจัดทำประวัติของท้องถิ่นในรูปแบบสามมิติ - โครงงาน “รวมใจรัก ลดความรุนแรง” ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคเพื่อนเตือนเพื่อนและละครหุ่นมาแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกัน - โครงงาน “ปลูกจิตสำนึกทำความดี ใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรม” ซึ่งเป็นการผสานหลักศาสนาเข้ากับจิตอาสาและการบำเพ็ญประโยชน์ - โครงงาน “ขยะดีมีราคาสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน” โดยจัดตั้งธนาคารขยะ ทำขยะรีไซเคิล และละครคุณธรรม หลังจากเยาวชนได้นำเสนอโครงงานแล้ว วิทยากรจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการเตรียมตัวเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม รวมทั้งให้ความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ เช่น การผลิตสื่อ การทำรายงานผล และการทำงบประมาณ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เยาวชนรู้รักสามัคคีเหล่านี้มีความพร้อมที่จะแสดงบทบาทเป็น “นักปฏิรูปรุ่นเยาว์” ได้อย่างแข็งขัน “เราหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นแบบอย่างของการเชิดชูคุณธรรมจริยธรรมและการมีสำนึกรับผิดชอบ กิจกรรมรณรงค์ของเยาวชนน่าจะช่วยกระตุ้นให้คนในครอบครัว ในโรงเรียน และในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้ร่วมกันคืนความรักความเอื้ออาทรสู่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์บนพื้นฐานการหันหน้าเข้าหากันด้วยสันติวิธี หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเพื่อสังคมแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง มูลนิธิฯ เชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยกันสร้างบันทึกหน้าใหม่แห่งการปฏิรูปสังคมด้วยสองมือเล็กๆ เมื่อผู้ใหญ่พูดกันว่า เด็กๆ คืออนาคตของประเทศชาติ เราในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งจำเป็นมากที่ต้องหยิบยื่นโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกและฝึกฝนตนเองเพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ อันจะส่งผลให้เมืองไทยเจริญก้าวหน้าอย่างแข็งแรงต่อไป” ดร กรรณชฏา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวสรุป ภายหลังเสร็จสิ้นค่ายทั้งสามครั้งนี้แล้ว เยาวชนรู้รักสามัคคีจะกลับไปขับเคลื่อนโครงงานที่จังหวัดของตนประมาณ 4-5 เดือน จากนั้นเยาวชนจะส่งประสบการณ์ของตนเข้าประกวดเพื่อเฟ้นหา “สุดยอดเยาวชนรู้รักสามัคคี” เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเดือนกรกฎาคมปีหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ