มท.1 สั่งการตั้ง War Room บรรเทาภัยน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Tuesday October 19, 2010 16:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอทุกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2553 ในส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์ปฏิบัติการฯ ณ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมประสานให้จังหวัดที่ประสบภัยให้จัดจุดรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างชัดเจน จัดสรรสิ่งของช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยให้เป็น จัดเตรียมพื้นที่รองรับการอพยพ และวางระบบการอพยพผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงเร่งจัดหาเครื่องอุปโภค บริโภคแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้น นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทยหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาเมืองและสาธารณภัย กล่าวว่า ในปี 2553 ประเทศไทยเกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ รวม 5 ครั้ง โดยสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก ครั้งที่ 4 ช่วงระหว่างวันที่ 10 กันยายน — 17 ตุลาคม 2553 พื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 17 จังหวัด 42 อำเภอ 267 ตำบล 785 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 21,791 ครอบครัว 54,841 คน ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และเพชรบุรี ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นสถานการณ์อุทกภัยครั้งล่าสุด ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักและถือว่าวิกฤติที่สุดในรอบหลายปี พื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 13 จังหวัด 67 อำเภอ 381 ตำบล ผู้เสียชีวิต 7 ราย ได้แก่ ระยอง ตราด สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก สุพรรณบุรี และศรีสะเกษ นอกจากนี้ ภาวะฝนตกหนักยังทำให้น้ำป่า ไหลหลากเข้าท่วมถนนไม่สามารถสัญจรมาได้ 15 สายใน 4 จังหวัด ดังนี้ นครราชสีมา 9 สาย นครสวรรค์ 1 สาย ลพบุรี 4 สาย สระแก้ว 1 สาย จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เนื่องจากเกิดภาวะฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเข้าขั้นวิกฤติ มีปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บ โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จนต้องเปิดประตูระบายน้ำอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน จึงทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบอุทกภัยอย่างหนัก โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี เกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี สำหรับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มปี 2553 ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย ส่วนในระดับพื้นที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ณ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำเครื่องมือกู้ภัย รถกู้ภัย รถผลิตน้ำดื่ม เรือท้องแบนจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียง เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่นับตั้งแต่เกิดเหตุ นอกจากนี้ได้นำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค สิ่งของสำรองจ่าย เครื่องนุ่งห่ม น้ำสะอาดไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย อีกทั้งจัดเต็นท์พักอาศัยชั่วคราว สุขาเคลื่อนที่ รถน้ำดื่มออกให้บริการ แก่ผู้ประสบภัย เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถช่วยเหลือและดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ในระยะแรก โดยขณะนี้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ทยอยเข้าถึงผู้ประสบภัยแล้ว แต่ยังมีบางจุดที่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง เนื่องจากการเดินทางเป็นไปด้วยยากลำบาก กระทรวงมหาดไทย จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ประสบภัย ดำเนินการจัดจุดรับการช่วยเหลือหรือ จุดอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงาน ที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างชัดเจน จัดสรรสิ่งของช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยให้เป็นระบบ หากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ให้จัดเตรียมพื้นที่รองรับการอพยพ และวางระบบการอพยพผู้ประสบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย เร่งจัดหาเครื่องอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะอาหารแห้งและน้ำดื่มแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ทั้งนี้ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จังหวัดได้ยึดแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯเป็นหลักในการดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยตามสภาพเหตุการณ์และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ สำหรับการช่วยเหลือในระยะต่อไป จะได้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เช่น ค่าจัดการศพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ ไม่เกิน 25,000 บาท ค่าซ่อมแซมบ้าน กรณีเสียหายบางส่วน ไม่เกินหลังละ 20,000 บาท บาท กรณีเสียหายทั้งหลัง ไม่เกินหลังละ 30,000 บาท ซึ่งแต่ละจังหวัดมีงบประมาณช่วยเหลือ 50 ล้านบาท หากไม่เพียงพอสามารถ ขอขยายวงเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมมายัง ปภ. นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ จะได้มีการพิจารณามาตรการพิเศษในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.พิจารณายกเว้นกฎระเบียบการเบิกจ่ายต่างๆ เพื่อจะเร่งรัด และอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานราชการให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที 2.พิจารณาเพิ่มงบทดรองราชการของจังหวัดจาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท เพราะสถานการณ์จำเป็นรุนแรง จึงต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือมากขึ้น 3. พิจารณาให้มีหน่วยงานประสานงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ และ 4. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยตลอดเวลา ทั้งนี้ หากที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบมาตรการพิเศษดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ประสานจังหวัดที่ประสบภัยดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนดังกล่าวต่อไป เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กระทรวงมหาดไทยขอฝากเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำในที่น้ำท่วม ปฏิบัติตามคำแนะนำจากหน่วยงานของรัฐอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำจับปลาในบริเวณที่น้ำท่วมขังหรือทางน้ำไหลผ่าน เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากอาจพัดจมน้ำเสียชีวิต ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังโรคติดต่อที่มักเกิดในช่วงน้ำท่วมขัง รักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะในด้านการขับถ่าย ให้เก็บใส่ถุงที่ปิดมิดชิด จะช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและโรคระบาดต่างๆ ในช่วงฤดูฝน ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต หรือทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานและ ให้การช่วยเหลือต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ