แพทย์ไทยเผยความสำเร็จการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกผู้ป่วยหายขาดจากโรคธาลัสซีเมีย เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ข่าวทั่วไป Tuesday October 26, 2010 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค แพทย์ไทยย้ำความสำเร็จในการปลูกถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในปัจจุบัน มีโอกาสหายขาดมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ และขณะนี้มีผู้ป่วยรอเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกหลายพันราย เผยการผ่าตัดด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก รัฐจะรับภาระไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายเท่านั้น เผยมูลนิธิรามาธิบดี เตรียมการเปิดตัวโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเทิดไท้คู่ขวัญองค์ราชัน ราชินีในวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2553 นี้อย่างเป็นทางการ รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เริ่มรักษาโดยการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์ ให้แก่ผู้ป่วยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับการรักษาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปแล้วกว่า 800 ราย โดยใช้ไขกระดูกของตนเองและไขกระดูกจากผู้อื่น เช่น จากพี่น้องท้องเดียวกันหรือผู้บริจาคจากสภากาชาดไทยและจากธนาคารสเต็มเซลล์ ในต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกต่อรายจะอยู่ประมาณ 500,000-750,000 บาท ต่อราย โดยผู้ป่วยมีโอกาสประสบความสำเร็จในการหายขาดจากโรคธาลัสซีเมีย สูงถึง 96 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีการให้เลือด และการรับประทานยาขับเหล็กแล้ว ผู้ป่วยจะใช้เงินในการรักษาตลอดทั้งชีวิต เฉลี่ยต่อรายสูงถึง 30 ล้านบาท หากรักษาด้วยวิธีการนี้ต่อเนื่องยาวนาน 30 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 ยังใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีนี้และไม่สามารถรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ “ ปัญหาสำคัญของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในขณะนี้ คือการขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ในเรื่องของการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งผู้ป่วยยังถูกจำกัดสิทธิในการเลือกที่จะรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก ถึงแม้ว่าจะมีผู้บริจาคไขกระดูกให้ผู้ป่วยเหล่านี้แล้วก็ตาม เช่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันที่มีการตรวจเซลล์ของเนื้อเยื่อตรงกัน แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะรักษา เพราะถูกมองว่าค่าใช้จ่ายต่อรายสูงเกินกว่าที่รัฐจะรับภาระได้ ทำให้เป็นจุดอ่อนในการพัฒนาการการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งมีผู้ป่วยอยู่ในขณะนี้มากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ และมีประชากรไทยมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์หรือ 20 ล้านคน มีภาวะแฝง (ยีนแฝง) ของโรคดังกล่าว” รศ.นพ. สุรเดช กล่าว รศ.นพ. สุรเดช กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันในวงการแพทย์ไทย ได้มีการประยุกต์โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมาใช้ในการรักษาโรคเลือด ซึ่งพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการรักษา ในขณะที่โรงพยาบาลชั้นนำของรัฐ ต่างก็ได้นำวิธีการรักษาดังกล่าวมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะกับการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ในส่วนของผลการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคธาลัสซีเมียนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย และจำนวนเลือดที่ผู้ป่วยได้รับ รวมถึงระดับของธาตุเหล็กที่เกินก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก และลักษณะทางกายภาพของผู้ให้เซลล์ต้นกำเนิดในการทำปลูกถ่ายไขกระดูกจะต้องมีการสอดคล้องในเรื่องของยีนและพันธุกรรม ผู้ป่วยจะต้องได้รับการเตรียมตัวทั้งสภาพร่างกายและจิตใจมาเป็นอย่างดี มีการวางแผนล่วงหน้าในการให้เลือดมาจำนวนไม่มากและระดับเหล็กไม่สูง ถ้าได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่น้องที่มีเนื้อเยื่อตรงกับผู้ป่วย จะมีโอกาสหายขาดจากโรคโดยไม่ต้องได้รับเลือดหรือยาใด ๆ อีกต่อไปประมาณร้อยละ 90 สำหรับการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ แต่มีเอช แอล เอ ตรงกับผู้ป่วยจะมีโอกาสหายขาดน้อยกว่า ประมาณร้อยละ 80 สำหรับ ในวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2553 นี้ มูลนิธิรามาธิบดี เตรียมเปิดตัวโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเทิดไท้คู่ขวัญองค์ราชัน ราชินีในอย่างเป็นทางการณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่เวลา 13.00-14.30 น. เป็นต้นไป สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202 อีเมล์: tanasaku@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ