ไขความลับโรคกระดูกสันหลัง

ข่าวทั่วไป Monday November 8, 2010 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรคกระดูกสันหลัง เป็นโรคที่พบบ่อย พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เชื่อว่าทุกคนต้องเคยปวดหลังซักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะสาเหตุจากอะไรก็ตาม ในบทความนี้ขอแนะนำโรคกระดูกสันหลังที่พบบ่อย และแนวทางในการป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหลัง กระดูกสันหลังมีหน้าที่ ที่สำคัญมาก ในการช่วยเป็นแกนโครงสร้างของร่างกาย ทำให้คนเรายืนตัวตั้งตรงได้ รวมถึงช่วยทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว อิริยาบถต่างๆจากข้อต่อมากมายในกระดูกสันหลัง และยังช่วยเป็นเกราะป้องกันระบบประสาทไม่ให้ได้รับบาดเจ็บโดยง่ายด้วย อาการของโรคกระดูกสันหลังแบ่งออกได้เป็น 3 อาการ ได้แก่ 1. อาการปวดหลัง ถ้ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือเป็นๆหายๆ อาจบ่งชี้ว่า การรับน้ำหนักของข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet Joint) หรือ หมอนรองกระดูกสันหลัง (The Disc) ไม่ดี พบได้บ่อยในกลุ่มโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative Disc Disease) หรือ ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (Facet Joint Arthrosis) หรือร้ายแรงกว่านั้นเช่น โรคติดเชื้อ หรือเนื้องอกในกระดูกสันหลัง 2. อาการปวดร้าวลงขา ถ้ามีอาการปวดสะโพก และปวดร้าวลงขา อาจบ่งชี้ว่า มีการรบกวนเส้นประสาท หรือช่องโพรงไขสันหลัง เช่น โรคช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) หรือ หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Disc Herniation) 3.อาการปวดหลังร่วมกับปวดขา บ่งชี้ว่า การรับน้ำหนักของข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet Joint) หรือ หมอนรองกระดูกสันหลัง (The Disc) ไม่ดี ร่วมกับตัวโรคมีการรบกวนเส้นประสาทด้วย เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ, ตรวจร่างกายและส่งตรวจต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุ โชคดีที่ปัจจุบันมีเครื่องมือ ในการวินิจฉัยที่รวดเร็วและเม่นยำมากขึ้น เช่น เครื่อง เอ็ม อาร์ ไอ สแกน (MRI : Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพ โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะได้ภาพที่คมชัดกว่าและวินิจฉัยโรคได้แม่ยำกว่าการเอ็กซเรย์ธรรมดามาก ซึ่งการส่งตรวจก็ขึ้นกับ ประวัติ อาการ และดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา โดยแนวทางในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลัง ก็ขึ้นกับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคอะไร วิธีการรักษา ผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดหลัง จากความผิดปกติของกระดูกสันหลังแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 4 วิธี วิธีที่ 1: สังเกตอาการ ไม่มีการรักษา ส่วนใหญ่อาการปวดหลังทั่วๆไป ที่เกิดขึ้นมาเอง จะอาการดีขึ้นหรือหายไปได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ บางครั้งถ้าปวดไม่มาก เพียงสังเกตอาการ ถ้าอาการมีแนวโน้มดีขึ้น และสุดท้ายหายไปก็ไม่ต้องทำอะไร วิธีที่ 2: การทานยาและการกายภาพบำบัด ถ้าผู้ป่วยรู้สึกปวดหลังมากขึ้น และรู้สึกว่ารบกวนชีวิตประจำวันก็สามารถเริ่มการรักษาวิธีที่ 2 ได้ การทานยาก็ได้แก่ ทานยาแก้ปวดธรรมดา พาราเซตามอลหรือ ทานยาแก้ปวดที่แรงขึ้นเช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDS) ซึ่งมีหลายตัว หลายกลุ่ม สามารถลดอาการปวดและการอักเสบได้ดี แต่ควรระวังเนื่องจากยากลุ่มนี้ อาจระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ 1-2 สัปดาห์ เมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วควรหยุดยา การใช้ยาแก้ปวด กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ ก็สามารถใช้ลดอาการปวดได้ในกรณีที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อร่วมด้วย การทำกายภาพ ได้แก่ การใช้เครื่องอัตราซาวน์ หรือกระตุ้นไฟฟ้า สามารถลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ และทำให้อาการปวดดีขึ้นได้ เครื่องดึงคอหรือหลัง( Traction) ช่วยยืดข้อกระดูก และหมอนรองกระดูก ช่วยลดความดันที่กดลงบนเส้นประสาท และทำให้อาการปวดดีขึ้นได้ Chiropractic เป็นวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกวีธีหนึ่ง ซึ่งจากงานวิจัย พบว่า สามารถลดอาการปวดหลังในระยะเฉียบพลันได้ แต่ในกลุ่มที่ปวดเรื้อรัง และมีกระดูกผิดรูปร่วมด้วย การศึกษาวิจัยยังไม่ชัดเจนนัก การฝังเข็ม เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกอีกวีธีหนึ่ง สามารถลดอาการปวดหลังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อเกร็ง ( Myofacial pain Syndrome) วิธีที่3 : การฉีดยาเข้าไปภายในโพรงกระดูกสันหลัง (Epidural steroid injection) วิธีนี้ใช้เฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวจากเส้นประสาทเป็นหลัก เช่น ปวดแขน หรือ ปวดขา เนื่องจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท วีธีการคือ จะฉีดยาสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่สามารถลดการอักเสบได้อย่างดี ฉีดเข้าไปบริเวณโพรงกระดูกสันหลังที่มีพยาธิสภาพ ให้ยาเข้าไปลดการอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ เมื่อการอักเสบของเส้นประสาทลดลง อาการปวดก็จะดีขึ้น วิธีที่ 4:การผ่าตัด ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ปวดหลังจะต้องผ่าตัดนะครับ มีเพียง 5-10% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จำเป็นต้องผ่าตัด เนื่องจากรักษาด้วยยาและการกายภาพไม่ได้ผล แต่ระยะยาวผู้อ่านสามารถป้องกันการปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลัง ได้หลายวิธี ได้แก่ 1. การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะนั่งทำงานควรนั่งหลังตรง หรือพิงพนักเก้าอี้ ไม่ควรนั่งหลังค่อม, การยกของจากพื้น ไม่ควรใช้วิธีก้มหลัง แต่ควรใช้วิธีย่อเข่าและหลังตรงแทน จะลดโอกาส เกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง 2. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนเกินไป ไม่ทำให้กระดูกสันหลังรับน้ำหนักที่มากเกินไป 3. ควรหลีกเลี่ยง เหล้าและบุหรี่ เพราะมีการศึกษาชัดเจนว่าทำให้เกิดการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น 4. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้ กล้ามเนื้อเส้นเอ็น และกระดูกสันหลังแข็งแรงมากขึ้น และ บาดเจ็บยากขึ้นจะทำให้โอกาสเกิดโรคของกระดูกสันหลังลดลง แนะนำให้ออกกำลังกายทั่วไป เช่น แอโรบิก, จ๊อกกิ่ง, ว่ายน้ำ จะบริหารกล้ามเนื้อได้ดีกว่า การออกกำลังเฉพาะส่วน 5. การทานอาหารเสริมกลุ่มแคลเซียม ให้เพียงพอในแต่ละวัน สามารถลดโอกาสเกิดโรคกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนได้ ? สุดท้ายนี้อยากจะฝากว่าทุกวันนี้มีวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเกิดขึ้นมากมาย ไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด ทุกวิธีมีข้อดี ข้อเสีย ก่อนจะเริ่มการรักษาจึงควรจะทราบก่อนว่าตนเองเป็นโรคอะไร ศึกษาอย่างรอบคอบ ปรึกษาแพทย์ที่รักษาวางแผนและ เลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดก็จะได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด น.พ. อาทิตย์ หงส์วานิช ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026862700 โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ