กทม.ชวนคนกรุงนำสุนัขฉีดไมโครชิปฟรีในงาน ม.มหิดลคนรักสัตว์ 20-21 พ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Monday November 15, 2010 15:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กทม. กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนคนกรุงรักสัตว์ นำสุนัขเลี้ยงไปรับบริการจดทะเบียนสุนัขและฉีดไมโครชิปฟรี ในงาน “ม.มหิดลคนรักสัตว์ ครั้งที่ 8” ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2553 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 53 แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวเชิญชวนคนกรุงเทพฯ นำสุนัขเลี้ยงไปรับบริการจดทะเบียนสุนัขและฉีดไมโครชิปโดยไม่ต้องเสียค่าบริการในงาน “ม.มหิดลคนรักสัตว์ ครั้งที่ 8” ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2553 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สำหรับกิจกรรมภายในงานดังกล่าว นอกจาก “สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร” โดย “สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข” ได้จัดหน่วยให้บริการจดทะเบียนสุนัขและฉีดไมโครชิปให้แก่สุนัขเลี้ยงโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนสุนัขแล้ว หากเจ้าของสุนัขท่านใดไม่สะดวกนำสุนัขไป สามารถขอรับไปรษณียบัตรเพื่อแสดงความจำนงในการรับบริการดังกล่าวได้ภายในงาน จากนั้น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ จะดำเนินการจัดส่งใบตอบรับแจ้งให้ท่านไปรับบริการ ณ สถานที่ใกล้บ้านที่ท่านสะดวกในภายหลัง ซึ่งไม่ต้องเสียค่าบริการเช่นกัน พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการประกวดสุนัขพันธุ์ทางชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การประกวดสุนัขแฟนซี การให้บริการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของคุณ โครงการหาบ้านใหม่ให้น้องหมา การทดสอบหมานิสัยดี โครงการเปิดบ้านสัตวแพทย์ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในราคาพิเศษ นอกจากนี้ ท่านสามารถนำสุนัขเลี้ยงของท่านไปรับการจดทะเบียนสุนัขและฉีดไมโครชิปโดยไม่ต้องเสียค่าบริการได้ที่คลินิกสัตวแพทย์กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ดินแดง ( http://www.vphbma.com/rabies ) คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานครทั้ง 7 แห่ง ( http://www.vphbma.com/vetclinic ) โรงพยาบาลสัตว์ของสถาบันการศึกษา หรือคลินิกสัตวแพทย์เอกชนกว่า 100 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขยายเวลาในการให้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าบริการออกไปอีก 1 ปี โดยที่ผ่านมา “สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข” ได้ดำเนินการจดทะเบียนสุนัขตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 และระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดให้ผู้เลี้ยงสุนัขในเขตกรุงเทพมหานครจะต้องนำสุนัขที่มีอายุไม่เกิน 120 วัน ไปรับการฉีดไมโครชิป และขึ้นทะเบียนทำบัตรประจำตัวสุนัข เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งเลี้ยงสุนัขด้วยความรักและความรับผิดชอบ ซึ่งจากการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขในพื้นที่กรุงเทพมหานครล่าสุดปีนี้ พบสุนัขมีเจ้าของจำนวนทั้งสิ้น 597,357 ตัว และสุนัขไม่มีเจ้าของอีกจำนวน 102,490 ตัว รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า “กรุงเทพมหานคร” และ “คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเสนอให้ประชาชนและองค์กรทุกภาคส่วน อาทิ มูลนิธิและชมรมต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ซึ่งนอกจากการรณรงค์จดทะเบียนสุนัขและฉีดไมโครชิปให้แก่สุนัขเลี้ยงแล้ว “กรุงเทพมหานคร” จะจัดสร้าง “สวนสาธารณะสำหรับสุนัขเลี้ยง” (Dog Park) แห่งแรกบริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา เพื่อเป็นสถานที่ฝึกทักษะและสุขลักษณะที่ดีสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยอาศัยความร่วมมือในการดูแลสัตว์เลี้ยงของคนในชุมชนด้วยกัน ตลอดจนการดำเนินการ “โครงการบ้านพักพิงสุนัขในชุมชน” (Community Shelter) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนหรือกลุ่มคนรักสัตว์ที่เลี้ยงสุนัขจรจัดมากกว่า 100 ตัวขึ้นไป ( http://www.vphbma.com/community_shelter ) และในอนาคตจะสำรวจพื้นที่เพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะสำหรับสุนัขเลี้ยง กระจายไปตามชุมชนต่างๆ โดยจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้ดูแลสถานที่ และมีสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานครเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้การดูแลสัตว์เลี้ยงในชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย นอกจากนี้ ยังจะมีโครงการสัตว์เลี้ยงในโรงเรียนเพื่อฝึกฝนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ เกิดความเมตตา มีเอื้อเฟื้อระหว่างกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ติดตามข่าวสารเพื่อเจ้าตัวโปรดใน กทม.จากแหล่งข่าวได้ที่... เว็บไซต์สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กทม. http://www.vphbma.com หรืออัพเดทผ่านเครือข่ายคนกรุงรักสัตว์ http://facebook.com/vphfan http://twitter.com/vphbma สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022487417 vphbma.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ