ปภ. ร่วมฝึกอบรมการประเมินความต้องการภายหลังภัยพิบัติ (PDNA)

ข่าวทั่วไป Tuesday November 23, 2010 17:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสหภาพยุโรป ธนาคารโลก และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ดำเนินโครงการฝึกอบรม เรื่องการประเมินความต้องการภายหลังภัยพิบัติ ระหว่างวันที่ ๒๔ —๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการประเมินความเสียหาย การฟื้นฟูผู้ประสบภัยภายหลังเกิดภัยพิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้แทนจากประเทศสมาชิก ARF นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับสหภาพยุโรป ธนาคารโลก และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ดำเนินโครงการฝึกอบรมเรื่องการประเมินความต้องการภายหลังภัยพิบัติ ในระหว่างวันที่ ๒๔ — ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยแบ่งการฝึกอบรมเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำนวน ๓๕ คน ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ ห้องลิขิต ๑ โรงแรมสวนดุสิต เพลส เขตดุสิต กรุงเทพฯ กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ ผู้แทนจากประเทศสมาชิก ARF จำนวน ๒๕ ประเทศ และ ๑ องค์กร ได้แก่ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา แคนาดา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ลาว พม่า มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกีนี ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย ติมอร์ตะวันออก เวียดนาม และสหภาพยุโรป จำนวน ๕๕ คน ในวันที่ ๒๕ — ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ ซึ่งการอบรมทั้งสองหลักสูตรจะเน้นไปในแนวทางเดียวกัน คือ การประเมินความต้องการภายหลังภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะ ครอบคลุมเนื้อหา ดังนี้ กรอบงานด้านการประเมินความต้องการในการฟื้นฟูบูรณะภายหลังเกิดภัยพิบัติ การประเมินความต้องการในการฟื้นฟูบูรณะภายหลังเกิดภัยพิบัติในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูง การประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ การประเมินความต้องการการฟื้นฟูผู้ประสบภัย และการพัฒนากรอบงานในการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อสร้างศักยภาพด้านการประเมินความเสียหาย และการฟื้นฟูผู้ประสบภัยภายหลังการเกิดภัยพิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนเป็นการเตรียมการด้านการประสานงานและวางแผนการฟื้นฟูบูรณะของภาครัฐ มาตรการร่วมกันลดความเสี่ยง การวางแผนด้านงบประมาณ และการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงที่เป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในระดับชาติด้านการช่วยเหลือรัฐบาลและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ส่งผลให้ประเทศที่ประสบภัยพิบัติสามารถระบุความต้องการในการฟื้นฟูบูรณะ ซึ่งจะสามารถนำมากำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านมนุษยธรรม และพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านการประเมินความเสียหาย การฟื้นฟูบูรณะในระดับท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ