กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนา “ น่านฟ้าเดียวกัน สัมพันธ์ไทย-จีน” เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย

ข่าวท่องเที่ยว Thursday November 25, 2010 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--การบินไทย นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้แทน นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นประธานในพิธีการเปิดการจัดสัมมนาส่งเสริม การเดินทางทางอากาศมายังประเทศไทย “น่านฟ้าเดียวกัน สัมพันธ์ไทย — จีน” ( Silken Sky of Paradise ) โดยมีนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการเดินทางโดยการขนส่งทางอากาศมายังประเทศไทยกล่าว รายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาฯ และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งฝ่ายไทยและจีนกว่า 200 คน นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับเป็นเจ้าภาพการจัดสัมมนาเรื่อง “ น่านฟ้าเดียวกัน สัมพันธ์ไทย — จีน” (Silken Sky of Paradise) ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายขนส่งทางอากาศเป็นผู้ดำเนินการจัดสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางทางอากาศของนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางมายังประเทศไทยให้มากขึ้นเพราะประเทศจีนยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งการจัดสัมมนาในปีนี้ได้จัดให้มีขึ้นในวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีผู้เข้าสัมมนาประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทั้งภาครัฐและเอกชนในไทย ตัวแทนการท่องเที่ยว และสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และไต้หวัน โดยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ข้อเสนอแนะระหว่างกัน รวมทั้งการรับฟังปัญหาอุปสรรคในการให้การช่วยเหลือและส่งเสริมอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และไต้หวันให้เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้แม้ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย — จีน จะได้มีการสถาปนาอย่างเป็นทางการในโอกาสที่ครบรอบ 35 ปี ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วก็ตามแต่ในความเป็นจริงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และประเทศจีนนั้นมีมาหลายร้อยปี ซึ่งคนไทยและคนจีนยังมีความผูกพันคุ้นเคยกันดังเช่นญาติมิตรที่มีความแน่นแฟ้นตั้งแต่ระดับราชวงศ์ ตลอดจนประมุข ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมความร่วมมือ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา ตลอดจนการท่องเที่ยวไปจนถึงกรอบความร่วมมือในระดับพหุภาคี ซึ่งถือได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและมีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุนกับจีนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2548 — 2553 โดยมีมูลค่าการค้า ระหว่าง 2 ประเทศ มีมูลค่าการลงทุนมีสูงถึง 1,045.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การท่องเที่ยวทั้งไทยและจีนก็มีปริมาณนักท่องเที่ยวระหว่างกันในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก และยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติของกรมการบิน พลเรือน ระบุว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยทางเครื่องบินตั้งแต่ปี 2008 — 2010มีจำนวนมากถึง 2,139,558 คน สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีความแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ดร.ศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายขนส่งทางอากาศกล่าวว่า ในปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาหลายด้านรวมทั้งการปิดสนามบิน และยังมีวิกฤตการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น กระทรวงคมนาคม ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายขนส่งทางอากาศ เพื่อเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในหลายรูปแบบ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินพลเรือนและศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ อีกทั้ง เพื่อให้การช่วยเหลืออุตสาหกรรม การขนส่งทางอากาศ ที่กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่กำกับดูแล ที่ผ่านมา ในปี 2552 คณะกรรมการฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการเดินทางโดยการขนส่งทางอากาศมายังประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 โดยเน้นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เพราะเล็งเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงนั้นลดลงต่ำมาก อีกทั้งประเทศจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องและจากผลของการจัดสัมมนาในปีที่ผ่านมายังมีหลายประเด็นที่คณะกรรมการฟื้นฟูฯ ได้มาสานต่อเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ยังมีเหตุจากสถานการณ์การเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องขึ้นอีก ดังนั้นคณะกรรมการฟื้นฟูฯ จึงได้กำหนดให้มีการจัดสัมมนาอีกครั้งในปีนี้ เป็นการต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว โดยในปีนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะสายการบินแห่งชาติของไทย โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแล ได้ทำการขนส่งผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวจากจีนให้เข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมากทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน และทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศทำให้เกิดการสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนของแต่ละประเทศอีกด้วย และเนื่องในโอกาสที่บริษัท ฯ ครบรอบ 50 ปี ในปีนี้ บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงการเติบโตในทุกๆ ด้านของประเทศจีน รวมทั้ง ยังได้พิจารณาตลาดนักท่องเที่ยวของจีนที่มีศักยภาพและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาโดยตลอด ในปัจจุบัน การบินไทยได้ทำการบินเชื่อมระหว่างประเทศไทย ไปยังเมืองต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เฉิงตู กวางโจว คุนหมิง เซี่ยงไฮ้ และเซียะเหมิน และบินไปยังเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน รวมทั้งเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมีเที่ยวบินรวมแล้วมากกว่า 200 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และในอนาคตบริษัทฯ กำลังพิจารณาเพิ่มจุดบินหรือเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน เพื่อขนส่งผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการต้อนรับแก่ผู้ใช้บริการด้วยความเป็นไทย ทั้งยังคำนึงถึงเรื่องความสะดวกสบายและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นักท่องเที่ยวที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางเข้าประเทศไทยมีมากเป็นอันดับ 3 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ทอท.ได้จัดทำป้ายแนะนำสิ่งอำนวยความสะดวกและขั้นตอนการเดินทางโดยมีภาษาจีนอยู่ด้วยรวมทั้งจัดทำเอกสารแนะนำการให้บริการภายในท่าอากาศยานเป็นภาษาจีน นอกจากนั้น ในการสัมมนาครั้งนี้ ทอท.จะได้นำเสนอข้อมูลเรื่อง “ การพัฒนาท่าอากาศยานในประเทศไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว” โดย ทอท.ได้มีการพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง เช่น ระหว่างปี 2554 - 2559 ทอท.ได้มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร จาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ท่าอากาศยานภูเก็ต มีแผนพัฒนาระหว่างปี 2552 - 2556 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคน ต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี เป็นต้น” หม่อมหลวงบวรนวเทพ เทวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า “หลังจากประสบความสำเร็จกับเส้นทางบินกรุงเทพ บินตรงสู่เซินเจิ้นและกวางโจว ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ทุกเที่ยวบิน วันนี้แอร์เอเชียยังยืนยันในการเป็นฟันเฟืองกระตุ้นเศรษฐกิจสองประเทศ จึงวางแผนเชิงรุกขยายเส้นทางบินใหม่สู่ประเทศจีน เริ่มต้นที่เส้นทางกรุงเทพ-หางโจว คาดว่าจะพร้อมให้บริการไม่เกินต้นปี 2554 โดยชูจุดเด่นการเป็น สายการบินราคาประหยัดมีเครื่องบินใหม่ทั้งฝูงบิน รวมทั้งเครือข่ายการบินที่ครอบคลุมทั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน” กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เอเชีย บูธีค แอร์ไลน์ กล่าวว่า “ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต้อนรับทุกท่านที่เดินทางมาร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ บริษัทฯได้มีแผนที่จะทำการบินสู่ประเทศจีนอีกครั้งโดยจะทำการบินในเส้นทางจาก กรุงเทพ สู่ กุ้ยหลิน จำนวน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ภายในไตรมาสแรกของปี 2011 โดยปัจจุบันบริษัทฯได้เปิดให้บริการในเส้นทาง ฮ่องกง — สมุย และมีแผนที่จะร่วมมือกับพันธมิตรด้านการบินในการขยายเส้นทางการบินสู่ประเทศจีนและไต้หวันต่อไปในเร็วๆ นี้” นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการการดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการเดินทางโดยการขนส่งทางอากาศมายังประเทศไทยในปีนี้ กล่าวว่า “ การจัดสัมมนาในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมมาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และยังเป็นวิทยากรพิเศษ บรรยายในหัวข้อ นโยบายและแนวทางการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายสรุปนโยบายการส่งเสริมการเดินทางทางอากาศมายังประเทศไทยจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ การบินไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ATTA เป็นต้น และในงานดังกล่าว ยังมีการออกบูธแนะนำ การท่องเที่ยวไทย กว่า 70 บูธ อีกด้วย ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับความสนับสนุนจากผู้สนับสนุนหลัก ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. บริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับความสนับสนุนจากผู้สนับสนุนรอง ได้แก่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทยจีน (THAI - CHINESE TOURISM ALLIANCE ASSOCIATION หรือ T.C.T.A. ) คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (AOC) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ” สำหรับการจัดสัมมนา “น่านฟ้าเดียวกัน สัมพันธ์ไทย - จีน” กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะทำให้มีชาวจีนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีละ 1 ล้านคน เป็นปีละ 2 ล้านคน อีกทั้ง การจัดสัมมนาครั้งนี้จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้หมดไป เพื่อสร้างความพึงพอใจให้นักเดินทางชาวจีน อาทิ เรื่องวีซ่า ภาษา และการอำนวยความสะดวกทางด้านคมนาคม ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการส่งเสริมให้มีจำนวนนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ในการเดินทางเข้ามาประเทศไทยดังกล่าว จะทำให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกภาคส่วน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ