สธ. แนะ ไม่เพิกเฉย ร่วมดูแลกัน ลดบาดแผลทางใจสตรี

ข่าวทั่วไป Friday November 26, 2010 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กรมสุขภาพจิต จากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2553 พบว่า มีจำนวนถึง 25,744 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 71 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว โดยเฉพาะความรุนแรงต่อสตรี ว่า ความรุนแรงต่อสตรี คือ การกระทำใด ๆ ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว ซึ่งหมายรวมถึง ความรุนแรงต่อร่างกาย ทางเพศ และจิตใจที่เกิดขึ้นในครอบครัว ในชุมชน ทั้งการทุบตี การทารุณกรรมทางเพศ การข่มขืนโดยคู่สมรส หรือไม่ใช่คู่สมรส การนอกใจภรรยา ด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เศร้า เสียใจ ปิดกั้นโอกาสทางสังคม ไม่ให้ติดต่อกับเพื่อน ญาติพี่น้องหรือสังคมภายนอก หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชาย การไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครอง ที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์จนนำไปสู่การทำแท้งเถื่อนที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ขณะนี้ รวมทั้ง การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ข่มขู่ ในสถานที่ทำงาน ในสถาบันการศึกษาและสถานที่ต่างๆ การนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ในสื่อลามก การโฆษณาสินค้า ตลอดจนการค้าหญิงและการบังคับให้ค้าประเวณี รมช.สธ.กล่าวต่อว่า ความรุนแรงต่อสตรี เกิดขึ้นมาช้านานและบ่อยครั้ง จนชาชิน จนเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องส่วนตัวที่เกิดกับผู้หญิงนั้น ๆ แต่ความจริงแล้วความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง ไม่ว่าในรูปแบบใด มาจากทัศนคติและค่านิยมที่มองผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ด้อยกว่าเพศชาย ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เหล่านี้มีผลกระทบต่อผู้หญิง ทั้งร่างกายและจิตใจ อันเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำซากมาเป็นเวลานาน หากไม่เสียชีวิต อาจใช้ความรุนแรงตอบโต้ เช่น ฆ่าสามี ผลตามมาคือผู้หญิงต้องรับโทษ ลูกไม่มีคนเลี้ยงดูกลายเป็นปัญหาสังคมได้ รมช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบด้านจิตใจเป็นบาดแผลที่ไม่อาจลบเลือน ผู้หญิงที่ถูกทำร้าย ในลักษณะต่างๆ จะได้รับความกดดัน มีความเครียดกังวล ที่บางครั้งแสดงอาการโดยไม่รู้สาเหตุ เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หรืออาจมีอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะ ในผู้หญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา และกระทำทารุณกรรมทางเพศ จากคนที่อยู่ใกล้ชิดและไว้วางใจมากที่สุด จะมีความกดดันทางร่างกายและอารมณ์จนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขได้จัดดั้งศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ทุกแห่งและจะขยายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแล้ว รมช.สธ.ยังได้แนะถึงแนวทางลดความรุนแรง ที่เกิดขึ้นว่า ประชาชนควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเรื่องความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง ไม่มองว่าเป็นความผิดของฝ่ายหญิงที่ถูกกระทำ ไม่เพิกเฉยเมื่อพบการทำร้ายผู้หญิง ควรรีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถเช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจหรือการให้ที่พักพิงชั่วคราว ปฏิเสธสื่อลามกทุกรูปแบบ มีท่าทีเป็นเพื่อนที่ดี ให้กำลังใจและเข้าใจผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง เป็นเพื่อนให้คำปรึกษา แนะนำแหล่งข้อมูลหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ และรักษาความลับของหญิงที่เดือดร้อน สนับสนุนหน่วยงานที่ทำงานด้านการยุติความรุนแรงหรือช่วยเหลือผู้หญิง รวมทั้ง ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน เพราะความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนจะนำไปสู่การสร้างระบบเฝ้าระวังการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญ ครอบครัว ควรอบรมเลี้ยงดูและปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม ทั้งลูกผู้หญิงและลูกผู้ชายให้ เท่าเทียมกัน เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช้การอบรมสั่งสอนลูกแบบสองมาตรฐาน เช่น การสอน ให้ลูกผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานบ้าน ขณะที่ลูกผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบอะไร พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีงามของการมีความรัก เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ไม่นอกใจกัน ยอมรับและให้ความสำคัญของบทบาทซึ่งกันและกัน หันหน้าเข้าหากัน พูดคุยปรึกษาหาทางออกอย่างสันติเมื่อมีปัญหาครอบครัวเกิดขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานเห็นถึงบทบาทที่ดีของหญิงชาย ไม่เสพสิ่งมึนเมา ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง แม้จะไม่มีร่องรอยบาดแผลหรือร่องรอยที่เกิดขึ้นตามร่างกาย ซึ่งกรณีที่ไม่รุนแรงจะเลือนหายไป แต่บาดแผลภายในจิตใจนั้นถือว่าไม่อาจลบเลือนไปได้ง่ายๆ และอาจอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ผลกระทบนี้ ส่งผล ต่อบุคลิกภาพของผู้ถูกกระทำที่ต้องการการเยียวยา บางรายอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ หรือการทำหน้าที่การงาน ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจำนวนมากจะซึมเศร้า หรือกระวนกระวาย มีผลให้จิตใจแปรปรวน ขณะที่บางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากสูญเสียความมั่นคงในตนเอง กลัวสังคมไม่ยอมรับ อับอาย คิดว่าตนเองไร้ค่า มีมลทินติดตัว (โดยเฉพาะกรณีที่ถูก ล่วงละเมิดทางเพศ) หลายรายมีอาการทางจิตมากขึ้น เมื่อถูกกระทำซ้ำๆ บางรายมีอาการหวาดกลัว หวาดผวา แม้เหตุการณ์สิ้นสุดมาเป็นเวลานานแล้ว แต่สภาพจิตใจยังได้รับผลกระทบอยู่ และจากผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายทุบตีมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงโดยทั่วไปถึง 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่สามีไม่ได้ใช้ความรุนแรง การกระทำความรุนแรงเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะพบว่า เด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จะเกิดผลกระทบทางจิตใจเท่าเทียมกับเด็กที่ถูกทารุณกรรม ทางร่างกายและทางเพศโดยตรง เด็กผู้หญิงที่เห็นเหตุการณ์พ่อหรือพ่อเลี้ยงกระทำรุนแรงกับแม่มีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่มากกว่าเด็กผู้หญิงที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีความรุนแรง ขณะที่เด็กผู้ชายที่เห็นหรือประสบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยา เมื่อเติบโต เป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวของตัวเอง ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยสามารถเริ่มได้จากจุดเล็กๆ ของสังคม นั่นก็คือครอบครัวและตัวเราเอง ทั้งนี้ หากพบว่า คนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากถูกกระทำรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง www.twitter.com/dmhhappy อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 ประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ