“ไอเอ็นจี ไทย ยูโร ไฮดิวิเดนด์”เผยทีเด็ดลงทุน เน้นหุ้นยุโรปจ่ายปันผลขั้นต่ำ 2.5%

ข่าวทั่วไป Wednesday March 21, 2007 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่น
บลจ.ไอเอ็นจี เผยทีเด็ดลงทุนในยุโรป ผ่าน“กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ยูโร ไฮดิวิเดนด์” ทั้งนโยบายลงทุน กระบวนการคัดสรรหุ้นสไตล์ไอเอ็นจีที่ได้เคยพิสูจน์สร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ลงทุน การบริหารจัดการลงทุน และการปรับน้ำหนักการลงทุนทุกไตรมาส เน้นลงทุนหุ้นปันผลไม่ต่ำกว่า 2.5% เปิดจองแล้ววันนี้ถึง 29 มีนาคม
นายจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด-กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) กองใหม่ล่าสุดของ บลจ.ไอเอ็นจี ที่ใช้ชื่อว่า “กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ยูโร ไฮดิวิเดนด์” ซึ่งเน้นลงทุนในกองทุนของไอเอ็นจีที่มีอยู่ในต่างประเทศ คือ ING (L) Invest Euro High Dividend ซึ่งมีผลประกอบการเท่ากับ 21.36% ในปี 2549, 19.55% ในปี 2548 และ 22.98% ในปี 2547 โดยกองทุนต้นทางดังกล่าวเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มสหภาพการเงินยุโรป นับได้ว่ามีความแตกต่างจากการลงทุนในยุโรปของกองทุนทั่วๆ ไป เนื่องจากกองทุนดังกล่าวมีนโยบายที่ชัดเจนในการลงทุน โดยเฉพาะกระบวนการคัดสรรหุ้นที่จะเข้าไปบริหารจัดการลงทุน
ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการปันผลคาดการณ์ (Dividend Yield) ไม่ต่ำกว่า 2.5% ขึ้นไป และมีการถือหุ้นแต่ละตัวในน้ำหนักเฉลี่ยใกล้เคียงกันตัวละประมาณ 2.0% ของพอร์ตการลงทุน
“ตัวอย่างเช่น หุ้น A มีอัตราการปันผลคาดการณ์เท่ากับ 2.5% หมายถึงมีการคาดการณ์ว่าจะจ่ายเงินปันผลเท่ากับ 2.5 ยูโรต่อหุ้น ในขณะที่ราคาหุ้นเท่ากับ 100 ยูโรต่อหุ้น (2.5/100 = 2.5%) หากว่า ต่อมาราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมาเป็น 125 ยูโรต่อหุ้น ในขณะที่เงินปันผลคาดการณ์ยังอยู่ที่ 2.5 ยูโรต่อหุ้น ส่งผลให้อัตราการปันผล (Dividend Yield) ลดลงเหลือประมาณ 2.0% (2.5/125 = 2.0%) จากเดิมที่ 2.5% ดังนั้น กองทุนก็จะทยอยขายหุ้นตัวนั้นออกมา ในทางกลับกัน หากราคาหุ้น A ลดลง ก็จะทำให้ปันผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งกองทุนก็จะเข้าไปซื้อเพิ่มขึ้น” นายจุมพลกล่าว
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด-กองทุนรวม บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวด้วยว่า จากกระบวนการดังกล่าว จะพบว่าหลักการของกองทุนกองนี้จะขายเมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้นและจะซื้อเมื่อราคาหุ้นลดต่ำลง โดยการซื้อขายเป็นไปอย่างมีวินัยโดยอิงจากอัตราการปันผลคาดการณ์ (Dividend Yield) และการถือหุ้นเฉลี่ยในน้ำหนักใกล้เคียงกันทั้งพอร์ต
นอกจากนี้ กระบวนการคัดสรรหุ้นที่จะมาลงทุน ยังเน้นการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) และในเชิงปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) เป็นหลัก เช่น หุ้นที่จะลงทุนต้องมีขนาดของมูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) ไม่น้อยกว่า 1 พันล้านยูโร เพื่อสภาพคล่องในการลงทุน และยังต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานอื่นประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ หรืออัตราส่วนหนี้ต่อทุน ซึ่งหลักการในการคัดสรรหุ้นอย่างนี้ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มไอเอ็นจี ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุน
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ กำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว เนื่องจากยุโรปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่น่าสนใจ และนักลงทุนมิอาจละเลยการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเขตเศรษฐกิจที่พัฒนามายาวนานอย่างกลุ่มประเทศยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งฟื้นตัวจากทั้งการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยสินค้าที่ส่งออกเป็นหลักอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น เครื่องจักรกล รถยนต์ และอุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์การขนส่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความอ่อนไหวต่อฤดูกาลค่อนข้างน้อย และเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ บลจ.ไอเอ็นจีฯ จะได้นำเงินลงทุนจากประเทศไทยไปแสวงหาผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ผ่านกองทุนต้นทางที่มีผลการดำเนินงานดีและมีแนวโน้มที่ดี โดยใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 2,000 บาท ก็สามารถกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนพอใจภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
สำหรับกองทุนดังกล่าวสามารถเปิดให้ซื้อหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการและขายคืนได้เดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งนักลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (02) 688-7777 ต่อ 7782-7789 หรือ www.ingfunds.co.th
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : กฤติยาพร พลตรี
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
โทร. 02-643-1191 ,02-248-7967-8 มือถือ 08-9636-8414
E-mail address : c_mastermind@yahoo.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ