iTAP ชู “ผู้เชี่ยวชาญ เกษตรอินทรีย์” นำวิทย์-เทคโนฯฟื้นวิถีชุมชน

ข่าวทั่วไป Friday December 3, 2010 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สวทช. iTAP ชูผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด จากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฟื้นชุมชนทำระบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เช่น เลี้ยงหมูชีวภาพ-ผลิตปุ๋ย-ทำไบโอแก๊ส-ปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต ฯลฯ ย้ำการทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีความรู้วิทย์-เทคโนฯเข้าช่วยลดต้นทุนสำคัญอย่าง “ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง” หวังให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด ปัจจุบันกระแสการคำนึงถึงสุขภาพ พิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรทำให้ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค สภาพแวดล้อม และสังคมเริ่มตระหนักถึงภัยใกล้ตัวจากการอุปโภค-บริโภคผลผลิตเหล่านี้เพิ่มขึ้น ระบบผลิตที่ไร้สารพิษ จึงกลับมาเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นแนวทางการผลิตพืชและสัตว์เพื่อการบริโภคหรือการค้าซึ่งใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้มาจากธรรมชาติล้วนๆ เช่น ใช้ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชที่ได้มาจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ งดใช้ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช เป็นต้น แต่แนวทางเหล่านี้อาจทำไม่ง่ายเลยตามความเคยชินในระบบเกษตรกรรมเพื่อการค้า อีกทั้งต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางรากฐาน ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์จาก iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)ซึ่งได้สานต่องานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเข้าไปดำเนินการวิเคราะห์ปัญหา และให้คำปรึกษาแนะนำในโครงการ ความเป็นไปได้ในการผลิตผักและผลไม้ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสหกรณ์ เพื่อทำระบบบริหารจัดการเครือข่ายการผลิตผักของเกษตรกร ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในที่สุด ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ได้เข้าไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด จ.นครราชสีมา“สมาชิกของสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชหลายๆชนิดทั้ง ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีรายใดทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความรู้หลายด้าน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี อีกทั้งปัจจัยหลักของการทำเกษตรคือ ปุ๋ย แต่การทำเกษตรอินทรีย์จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตอื่นมาทดแทนสิ่งเหล่านี้” ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาแนะนำเกษตรกรในโครงการดังกล่าว โดยมองว่าการทำเกษตรกรรมมีต้นทุนสำคัญได้แก่ “ปุ๋ย” และหากเป็นการทำเกษตรอินทรีย์นั้นจำเป็นต้องมีการผลิตปุ๋ยจากธรรมชาติขึ้นมาใช้เอง จึงให้เกษตรกรเริ่มต้นด้วย “การเลี้ยงสุกร” เพื่อนำมูลใช้เป็นปุ๋ยให้กับพืชได้โดยตรง ส่วนที่เหลือสามารถนำไปทำปุ๋ยหมัก(สร้างคอกสุกรบนบ่อแก๊ส)และยังมีผลพลอยได้คือ ไบโอแก๊สเป็นพลังงานหุงต้ม หรือแนะนำให้เกษตรกรทำ “ปุ๋ยหมัก”จากเศษวัสดุอย่างพืชชนิดต่างๆมาผสมกับมูลสัตว์ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การผลิตปุ๋ยอีกชนิดได้แก่ “การเพาะเลี้ยงแหนแดง”เพื่อนำมาใช้เป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ เนื่องจากแหนแดงเป็นพืชตระกูลเฟิร์นมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอยู่ในโพรงใบและมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนในอากาศจึงไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน นอกจากนี้แหนแดงยังมีโปรตีนสูง 25-30% และมีแคโรทีนประมาณ 360 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแห้ง 1 กิโลกรัม จึงเหมาะสำหรับการเป็นอาหารสัตว์เมื่อนำไปเลี้ยงเป็ดจะทำให้ได้ไข่สีแดงและมีวิตามินเอสูง อีกทั้งแหนแดงยังช่วยกำจัดวัชพืชในนาข้าวเมื่อแหนแดงขึ้นเต็มพื้นที่ระหว่างต้นข้าวจะทำให้ไม่เจริญเติบโตเนื่องจากขาดแสงแดด ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร กล่าวว่า ปกติเกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเป็นต้นทุนสูงมาก เมื่อสามารถผลิตปุ๋ยขึ้นใช้เอง ต้นทุนในการทำเกษตรจึงไม่มี “หากสามารถผลิตปุ๋ยเองได้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไม่พึ่งปัจจัยภายนอก แม้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้นในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรคงที่หรือลดลง เช่น ในอดีตลองกองจำหน่ายกิโลกรัมละ 90 บาทขณะนี้เหลือเพียง 20 บาท เกษตรกรก็แย่แบกรับต้นทุนไม่ไหว และจะทำอย่างไรให้ลดต้นทุน เรียนรู้ว่าสามารถผลิตปุ๋ยเองได้ การทำเกษตรอินทรีย์จึงสอนวิธีทำปุ๋ย วิธีการที่จะอยู่อย่างพอเพียง ค่อยๆศึกษาหาความรู้ไปกลายเป็นระบบเกษตรที่ยั่งยืน” นอกจากปุ๋ยจะเป็นต้นทุนสำคัญแล้ว ยาฆ่าแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆก็เป็นต้นทุนสำคัญหนึ่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์มีวิธีการทดแทนสารเคมีเหล่านี้ได้จากธรรมชาติ เช่น แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงเป็ดและไก่ผสมผสานในการทำเกษตรกรรม “การเลี้ยงเป็ดและไก่นอกจากจะให้ปุ๋ยจากมูลสัตว์เหล่านี้แล้ว ยังช่วยกำจัดแมลง โดยเฉพาะในนาข้าวที่มีปัญหาหอยเชอร์รี่ เกษตรกรต้องใช้สารเคมีกำจัดปูหรือหอยเชอร์รี่ที่มากินต้นข้าว แต่หากปล่อยเป็ดไว้ในนาข้าวก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมี”และยังแนะนำให้มีการปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลียนแบบธรรมชาติ หรือควบคุมศัตรูพืชด้วยสมุนไพร เช่น ปลูกสะเดาเพื่อใช้เป็นสารฆ่าแมลงและกระเพราเพื่อล่อแมลงวันทองไม่ให้ไปเกาะผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ iTAP ยังมีงานวิจัย การใช้แหนแดงและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต ซึ่งเป็นการนำแหนแดงและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย(ระดับน้ำประมาณ 2-5 เซนติเมตร) จุดเด่นของการปลูกข้าวต้นเดี่ยวฯ เช่น ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยเพียงอัตรา 1 กิโลกรัม/ไร่ (ปกติใช้ 5-15กิโลกรัม/ไร่) สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้แหนแดงแทนและเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและแหนแดง นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกข้าวที่ประหยัดน้ำและสามารถกำจัดวัชพืชได้ง่ายทั่วถึงและได้ปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 50-70% เป็นต้น โดยยังได้นำงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ในโครงการความเป็นไปได้ในการผลิตผักและผลไม้ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสหกรณ์ ข้างต้นนี้อีกด้วย ผลของโครงการดังกล่าวยังสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตผักที่มีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ออกจำหน่าย โดยมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้ต้นแบบ “นายอ่างโมเดล iTAP : ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง” ซึ่งเป็นผลมาจากการแนะนำการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่ นายอ่าง เทียมสำโรง เกษตรกรตัวอย่าง ต.บ่อปลาทอง อ.ปักธงชัย ที่เข้าร่วมโครงการจนประสบความสำเร็จ โดยเกษตรกรต้นแบบสามารถนำความรู้ที่ได้ทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร เช่น ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกข้าวระบบต้นเดี่ยว เลี้ยงสุกร ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ตลอดจนทำไบโอแก๊สขนาดระดับครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นโดยใช้ระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวจากเดิม 400-500 กิโลกรัมต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 830 กิโลกรัมต่อไร่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผักอินทรีย์ 12,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังมีรายได้จากการเลี้ยงสุกร 5 ตัว 10,000 บาทในเวลาเพียง 6 เดือนและเกิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์”เพื่อให้เกษตรกรและคนทั่วไปเข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย ผลงานของ ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร ยังมีส่วนผลักดันและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญในการทำ “เกษตรอินทรีย์” โดยเริ่มต้นจากการทำบ่อไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสีย นำไปสู่การผลิตปุ๋ยและมีผลพลอยได้คือแก๊สหุงต้ม ทำให้มีสมาชิกสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิงเห็นตัวอย่างความสำเร็จและต้องการเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น “ปัญหาของการทำเกษตรอินทรีย์ คือ การขาดองค์ความรู้ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การผลิตปุ๋ยใช้เอง การนำพืชธรรมชาติทดแทนสารเคมี ระบบกำจัดของเสียที่ครบวงจรและนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อกำจัดวัชพืช ฯลฯ คาดหวังว่าต้นแบบข้างต้นจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เกษตรกรรายอื่นหันมาให้ความสนใจ ตัวอย่างต่างประเทศเช่นที่ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์มานานและมีหน่วยงานรับรองตรวจสอบสารพิษ ยิ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์จะมีราคาสูงแม้ผลิตภัณฑ์มีรอยแมลงกัดแทะ ซึ่งขณะนี้ในยุโรปก็เริ่มอนุโลมเรื่องความสวยงามของผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ และให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น” การทำเกษตรอินทรีย์ ยังมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถมีรายได้และประกอบอาชีพอยู่ภายในครัวเรือน ลดการอพยพเข้าเมืองและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งได้บริโภคอาหารสุขภาพทำให้มีร่างกายแข็งแรง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ทุกวันนี้แม้จะเกษียณราชการไปแล้วแต่ ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด ยังคงเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเกษตรอินทรีย์ ทำงานวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญ iTAP คอยแนะนำเกษตรกรในด้านต่างๆ อาทิ ระบบจัดการไร่ การทำไบโอแก๊ส ตลอดจนยังคงทำงานทดลองและวิจัยด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่(ส่วนกลาง) โทร.0-2564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือที่ iTAP เครือข่าย มทส.โทร.0-4422-4947 ,0-4422-4921 โทรสาร 0-4422-4814

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ