TCDC เดินหน้ากลยุทธ์ Creative Future หวังยกระดับ "มหานครกรุงเทพ" สู่ทำเนียบ "เมืองสร้างสรรค์"

ข่าวทั่วไป Thursday December 16, 2010 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--เวิรฟ TCDC เดินหน้ากลยุทธ์ Creative Future หวังยกระดับ “มหานครกรุงเทพ” สู่ทำเนียบ “เมืองสร้างสรรค์” ชั้นนำของโลก ในงานสัมมนา “เปิดศักยภาพกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์” ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ระดมมันสมองของคนสร้างสรรค์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างปรากฏการณ์พัฒนา “เมือง” สู่ “เมืองสร้างสรรค์” ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองทางความคิด ในงานสัมมนา “เปิดศักยภาพกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์” (Creative City: Bangkok’s Creative Potentials) เพื่อเปิดโอกาสให้คนเมืองได้ร่วมกันค้นหาแนวทางการพลิกโฉม “มหานครกรุงเทพ” สู่ความเป็น “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) ชั้นนำแห่งใหม่ของโลก พร้อมเปิดตัวผลงานการวิจัยเชิงลึกในด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐและข้อมูลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นเมืองธุรกิจ ยุคใหม่ที่น่าจับตามอง นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดดังกล่าว โดยได้กำหนดเป็นแผนแม่บทในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 สำหรับ TCDC ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในแง่ของการสร้างพื้นฐานความรู้และกระตุ้นให้คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ได้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อสานต่อพันธกิจแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมด้วยแนวคิด “Creative Future: สร้างสรรค์...สร้างอนาคต” ซึ่งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneur) เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) และองค์ความรู้สร้างสรรค์ (Creative Knowledge) โดยนำไปใช้ในการกำหนดกรอบแผนงานและกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล” “สำหรับการจัดทำนโยบายและแผนงานด้าน “เมืองสร้างสรรค์” TCDC ได้กำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรม ไว้หลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมสัมมนาวิชาการครั้งสำคัญภายใต้หัวข้อ “เปิดศักยภาพกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์” (Creative City: Bangkok’s Creative Potentials) ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “เมืองสร้างสรรค์” ที่จัดทำขึ้นเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้รุดหน้ามากยิ่งขึ้น โดยงานสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาและยกระดับ “กรุงเทพมหานคร” สู่การเป็น “มหานครสร้างสรรค์” ชั้นนำแห่งใหม่ของโลก ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนของนโยบายในระดับชาติมาสู่ระดับเมือง โดยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาที่สอดรับกับสภาพความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบ่มเพาะนักคิดและการประกอบธุรกิจของนักสร้างสรรค์จากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองและเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเชิงมหภาค” นายอภิสิทธิ์กล่าว กิจกรรมสัมมนา “เปิดศักยภาพกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะเป็นการระดมสมองแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดในการร่วมค้นหาแนวทางการพัฒนาและพลิกโฉม “เมือง” ครั้งยิ่งใหญ่ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภูมิทัศน์และผังเมืองจากทั้งใน และต่างประเทศ เริ่มต้นเปิดเวทีสัมมนากับการเปิดเผยข้อมูลผลงานวิจัยในเชิงลึก โดย ดร.พีรดร แก้วลาย ประธานหน่วยวิจัยเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการนำเสนอผลงานการวิจัยในหัวข้อ “ศักยภาพสู่การก้าวเป็น...กรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการทำวิจัยต่อเนื่องจากการสำรวจสินทรัพย์สร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานครใน 6 พื้นที่ (Bangkok Creative Spaces) ประกอบด้วย จตุจักร ทองหล่อ สยามสแควร์ ทาวน์อินทาวน์ อาร์ซีเอ และสุขุมวิท ที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของสินค้าและบริการ บริบททางสังคม วัฒนธรรมที่ส่งผลต่อ การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่รวมตัวกันเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการตีแผ่ปัญหาและความต้องการของธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งได้มีการนำเสนองานวิจัยดังกล่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สำหรับการวิจัยต่อเนื่องในครั้งนี้ จะเน้นการนำเสนอเนื้อหาเชิงลึกสะท้อนผ่านประเด็นเกี่ยวกับศักยภาพของกรุงเทพฯ ในด้าน การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่น อีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนของ “กรุงเทพฯ” ในฐานะ “เมืองสร้างสรรค์ต้นแบบ” ที่จะเป็นโมเดลกระจายไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไป โดยได้ทำการวิจัยจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยรอบกรุงเทพฯ รวม 12 ย่าน จำนวน 20,000 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ประตูน้ำ โบ๊เบ๊ พาหุรัด บางลำภู จตุจักร สยามสแควร์ สวนลุมไนท์บาซาร์ ซอยละลายทรัพย์ ตลาดหลังการบินไทย ตะวันนา คลองสาน และยูเนี่ยนมอลล์ ซึ่งจากผลสำรวจทางผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนาหรือวางแผนประชาสัมพันธ์ความเป็นย่านธุรกิจหรือ Fashion District อาทิ การจัดทำแผนที่ย่านธุรกิจแฟชั่นภายในกรุงเทพฯ การตั้งคณะกรรมการพัฒนาย่านโดยความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการเพิ่มศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพิ่มบุคลากรด้านการพัฒนาวัตถุดิบของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งขยายบทบาทของนักออกแบบให้ทำงานได้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการตลาด นอกจากนี้ควรมีการสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบ รวมถึงการหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากร การเพิ่มแหล่งเรียนรู้ด้านแฟชั่น รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังต้องการความช่วยเหลือด้านพื้นฐานในระบบสาธารณูปโภค การจราจร นโยบายภาษี เป็นต้น ต่อเนื่องด้วยการบรรยายในหัวข้อ “พื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ในเมืองสร้างสรรค์” โดย มร.สตีเฟ่น พิมบลีย์ สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริษัทสปาช ผู้มีผลงานการปรับปรุงภูมิทัศน์ โครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดวางภูมิทัศน์ของเมืองต่างๆ ทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง ที่จะนำเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ในระดับภาพรวมของเมืองและการพัฒนาพื้นที่เพื่อการสร้างงานศิลปะ และปิดท้ายด้วยการบรรยายในหัวข้อ “เราจะสร้างพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างไร” โดย มร.เบอร์ทรัม ชูสซ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “สปินเนอไรน์” (Spinnerei) สตูดิโอศิลปะขนาดใหญ่ในเมืองลิปซิก ประเทศเยอรมัน ซึ่งเคยเป็นโรงงานปั่นฝ้ายอายุกว่าร้อยปี ที่ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสตูดิโอศิลปะร่วมสมัยสำหรับศิลปินเพื่อใช้ทำงานและจัดแสดงผลงาน รวมทั้งยังเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ จนทำให้เมืองเล็กๆ ในยุโรปแห่งนี้ สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลก “กิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายแนวคิดการพัฒนา “เมือง” สู่ความเป็น “เมืองสร้างสรรค์” ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและเตรียมพร้อมในการปรับตัวสู่แนวทางการพัฒนาและพลิกโฉม “เมือง” ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าวสรุป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) คุณกนกพร เกียรติศักดิ์ หรือคุณพัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ โทร. 0-2664-7667 เวิรฟ (Verve) คุณพรทิพย์ วิริยะกิจพัฒนา (บี) โทร. 02-204-8210 และคุณพรทิภา อยู่แสง (อั๋น) โทร. 02-204-8078
แท็ก สมอง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ