กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำนครปักกิ่ง
การจัดการกับปัญหาปากท้องชาวจีนจำนวน ๑,๓๐๐ ล้านคนซึ่งคิดเป็น ๑/๕ ของประชากรโลกต้องประสบกับปัญหาการจัดสรรทรัพยากรซึ่งมีที่ดินเฉลี่ย ๐.๑ เฮกตาร์/คน และน้ำ ๒๒,๐๐ ลูกบาศก์เมตร/คน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ ๔๐ และ ร้อยละ ๒๘ ตามลำดับของค่าเฉลี่ยมาตรฐานโลก และปัญหาความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งในอดีตตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านธัญหารจากองค์การสหประชาชาติมาโดยตลอด เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความกังวลให้รัฐบาลจีนมาโดยตลอด
การปฎิรูปการเกษตรประเทศครั้งใหญ่ในปี ๒๕๔๗ รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณและใช้นโยบายต่างๆในการทำให้เกษตรกรรมจีนพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยใช้มาตรการต่างๆเช่น นโยบายเพิ่มพื้นที่และผลผลิต โครงการรับซื้อสินค้าเกษตรด้วยราคาขั้นต่ำ (Minimum Price) การลดและยกเลิกการเก็บภาษีจากเกษตรกร การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร การเปิดเสรีตลาดการค้าธัญพืช เป็นต้น จนในที่สุดตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ปฎิเสธความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ และเปลี่ยนบทบาทเป็นประเทศผู้บริจาคธัญหารในปริมาณที่มากเป็นอันดับ ๓ รองจากอเมริกา และสหภาพยุโรป แทน
นาย Han Changfu รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจีนกล่าวว่า ปัจจุบันจีนประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตธัญพืชอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๗ ปี เพราะนโยบายสนับสนุนต่างๆของรัฐ เช่นการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนภาคการเกษตร ปี ๒๕๕๓ มูลค่า ๑๓๔.๕ พันล้านหยวน (๒๐.๒๓ พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มจากปี ๒๕๔๗ ซึ่งมีเพียง ๑๔.๕ พันล้านหยวน ทำให้รายได้เฉลี่ยเกษตรกรเพิ่มขึ้นมากกว่า ๕,๐๐๐ หยวน เพิ่มกว่าร้อยละ ๘.๓ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๙-๒๕๕๒ นอกจากนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าขยายผลผลิตธัญพืชให้ได้มากกว่า ๕๕๐ ล้านตันภายในปี ๒๕๖๓ แต่อุปสรรคที่จีนต้องก้าวข้ามให้ได้ในอนาคตคือปัญหาพื้นที่การเกษตรและแหล่งน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและเขตเมืองรวมถึงปัญหามลภาวะและการแข่งขันที่ดุเดือนบนเวทีโลก
เอกสารอ้างอิง : China Daily News ; www.chinadaily.com.cn/china/2010-12/08/content_11667781.htm
China Agri News ; http://www.nyxw.org.cn/