กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ TCDC เปิดโครงการส่งท้ายปีเสือ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ปี 2554”

ข่าวทั่วไป Thursday December 23, 2010 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--เวิรฟ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ TCDC เปิดโครงการส่งท้ายปีเสือ“การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ปี 2554”ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ปูทางสู่ตลาดสากล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ผุดโปรเจกต์ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ปี 2554” ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังประสบความสำเร็จท่วมท้นเมื่อต้นปี หวังพัฒนาศักยภาพและยกระดับ SMEs ไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในตลาดสากล นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepreneurs Creation: NEC) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 ถึงปัจจุบัน โดยพัฒนาแนวคิดของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถแก่ผู้ที่จะก้าวมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อให้สามารถก่อตั้งกิจการได้สำเร็จ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มทักษะการประกอบการเฉพาะด้าน การจัดกิจกรรมสนับสนุนด้านการเงิน การตลาด และเสริมสร้างความเชื่อมั่นหรือลดความเสี่ยงช่วงก่อตั้งหรือขยายธุรกิจ ทางกรมฯ จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการต่างๆ ขึ้นเพื่อพัฒนาและต่อยอดศักยภาพของโครงการอย่างต่อเนื่อง และเนื่องด้วยทางกรมฯ ได้เล็งเห็นถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของ TCDC ในแง่ของการส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ตลอดจนโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้มีความเข้มแข็งและสามารถทำตลาดได้จริงทั้งในและต่างประเทศ จึงได้มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ วิธีการ ตลอดจนกระบวนการคิดเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ วัสดุ และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงความเข้าใจในด้านการตลาดสมัยใหม่ ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อันได้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างสินค้าและบริการใหม่ ตลอดจนเป็นการขยายบทบาทหน้าที่การสร้างความรู้ด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของหน่วยงานของรัฐสู่สาธารณะ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) “การพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์” กับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อจัดทำโครงการ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์” ครั้งที่ 1 ซึ่งจากผลสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ ทำให้ทางกรมฯ ได้จัดทำโครงการ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ปี 2554” ขึ้นเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของกรมฯ ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงและเรียนรู้วิธีการแปรสินทรัพย์และทุนทางวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นมาสู่สินค้าและบริการที่หลากหลาย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทางกรมฯ จะเข้าไปมีบทบาทในแง่ของการร่วมคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs จากทั่วประเทศที่ลงทะเบียนในฐานข้อมูล จากนั้นจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาคัดกรองประเภทของธุรกิจและพิจารณาความเหมาะสมในเชิงกายภาพของผู้ประกอบการที่เข้าหลักเกณฑ์ของโครงการในเบื้องต้น และจะดำเนินการจัดส่งรายชื่อและจำนวนของผู้ประกอบการมายัง TCDC เพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ประกอบการในเชิงลึกในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประกอบการในเชิงลึกกับทาง TCDC โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินธุรกิจ การสำรวจปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการ ตลอดจนการร่วมนำเสนอแนวทางในการสรรหาปัจจัยที่ผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจสร้างสรรค์ต้องการเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อร่วมเติมเต็มความต้องการ รวมถึงเสริมสร้างและขยายโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยได้มีเวทีและช่องทางในการนำเสนอผลงานจากความคิดสร้างสรรค์สู่สาธารณชนได้ต่อไปในอนาคต ด้านนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า สำหรับ TCDC ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในแง่ของการสร้างพื้นฐานความรู้และกระตุ้นให้คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนให้ตระหนักถึงคุณค่าของงานออกแบบที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ “Creative Economy” นั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการร่วมดำเนินงานในโครงการ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ปี 2554” ในครั้งนี้ โดยจะเปิดโอกาสและมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เสื้อผ้าและสิ่งทอ กลุ่มที่ 2 เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน กลุ่มที่ 3 บรรจุภัณฑ์อาหารและสมุนไพร และกลุ่มที่ 4 ของที่ระลึกและงานฝีมือ โดยใช้สินทรัพย์ทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรสู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการสัมมนาและการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เข้มข้นทั้งเนื้อหาและความสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังได้เพิ่มกิจกรรมสัญจรไปยังหัวเมืองภูมิภาค ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเปิด โลกทัศน์ให้แก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้ก้าวทันตลาดและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 คน จากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs” และการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อ “ถอดรหัสความคิดเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า” โดยผู้เข้าร่วมหลักสูตรจะได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชัยประนิน วิสุทธิผล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีบีดับบลิวเอ (ประเทศไทย) จำกัด วีณา อ่องจริต นักวางแผนกลยุทธ์และการตลาด อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไพพรรณ หลักแหลม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสบริหารศูนย์การค้าและบริหารลูกค้าสัมพันธ์ เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ไชยยง รัตนอังกูร บรรณาธิการนิตยสาร Wallpaper* ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดีไซเนอร์ อาจารย์ และหุ้นส่วนแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Osisu ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุรีไซเคิล และ วุฒิชัย หาญพานิช นักสร้างแบรนด์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ Harnn โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ หลังจากนั้นจะทำการคัดเลือกผู้ประกอบการให้เหลือ 50 คน โดยกระจายการคัดเลือกให้มีประเภทสินค้าต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะพิจารณาจากการแสดงความคิดรวบยอดที่ได้รับหลังการเข้าร่วมอบรมตลอดหลักสูตร รวมถึงวิธีการนำเสนอผลงาน และแรงบันดาลใจในการพัฒนาสินค้าที่ต้องการผลิตจริงให้แก่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกจากปัจจัยหลักทั้งจากตัวผู้ประกอบการ รูปแบบสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่เห็นได้ชัด และปัจจัยด้านการวางแผนธุรกิจในอนาคตเป็นสำคัญ สำหรับระยะที่ 2 ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยเน้นเนื้อหาที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการอันนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ ตลอดจนสามารถนำผลิตภัณฑ์มาวางจำหน่ายที่ร้าน The Shop@TCDC จาก 4 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กฤษณ์ เย็นสุดใจ ดีไซเนอร์มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ศุภพงศ์ สอนสังข์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ผศ.ดร.อรนิศ ปันยารชุน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร ผู้จัดการร้านค้า The Shop@TCDC และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่จะมาให้ความรู้และคำปรึกษาตลอดระยะเวลาการอบรม โดยทาง TCDC จะมีการติดตามวัดผลคุณภาพและพัฒนาการของสินค้าในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงโอกาสในการจำหน่ายสู่ตลาดจริงทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ หลังจากจบโครงการ ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) พร้อมร่วมแสดงผลงานเพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในเทศกาลปล่อยแสง คิด/ทำ/กิน ครั้งต่อไปอีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) คุณกนกพร เกียรติศักดิ์ หรือคุณพัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ โทร. 0-2664-7667 เวิรฟ (Verve) คุณพรทิภา อยู่แสง (อั๋น) โทร. 02-204-8078 คุณพรทิพย์ วิริยะกิจพัฒนา (บี) โทร. 02-204-8210

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ