เผยคนไทยเกือบ 2 ล้านคน ไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน แพทย์ไทยเร่งพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยง ช่วยคนไทยป้องกันเบาหวาน

ข่าวทั่วไป Thursday August 9, 2007 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--สวรส.
สวรส.ให้ทุนพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานสำหรับคนไทย โดยสามารถคำนวณปัจจัยเสี่ยง และรู้ความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเจาะเลือด ระบุความแม่นยำถึง 75% พร้อมคำแนะนำในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน หวังให้คนไทยมีอัตราการเกิดโรคลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์มากโรคหนึ่ง คือ โรคเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ประชากรโลกมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากขึ้นซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังสร้างความลำบากให้กับญาติและครอบครัวอีกด้วยโดยปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวานคือ กว่า 50% ของผู้ป่วยในประเทศไทยหรือประมาณ 1.8 ล้านคนไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้จึงสูญเสียโอกาสในการป้องกันและรักษาทำให้โรคดำเนินไปพร้อมทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะแทรกซ้อน
รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน ผู้อำนวยการสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย (สสท.) ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่แสดงอาการช้า ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคนี้ในระยะแรกจะไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน แต่ขณะเดียวกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานก็จะเริ่มขึ้นตามไปด้วยจากการอุดตันของหลอดเลือดและส่งผลไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตา และเท้าเป็นต้น
ดังนั้นผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานจึงไม่ได้ดูแลรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และความดันเลือดให้พอเหมาะ โดยเฉลี่ยพบว่าปัจจุบันมีการวินิจฉัยโรคช้าไปประมาณ 9-12 ปี ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว และเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเบาหวานกว่า 75% มีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ
อย่างไรก็ดี มีการศึกษาวิจัยพิสูจน์ว่าเบาหวานสามารถป้องกันได้ โดยการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคุมน้ำหนัก ซึ่งจะสามารถลดอัตราการเป็นเบาหวานได้มากกว่า 58% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความเสี่ยงเหมือนกันแต่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนั้นหากสามารถทราบได้ว่าผู้ใดมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็จะสามารถป้องกันการเป็นเบาหวานได้
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน (Thai Diabetes Risk Score) ขึ้น โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (HISO) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
“แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน เป็นเครื่องมือแนวคำถามที่สามารถทำนายความเสี่ยงของประชาชนได้ว่ามีโอกาสเกิดโรคในเบาหวานอนาคตมากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันหลายประเทศมีการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้แล้ว เช่น ประเทศฟินแลนด์ เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา หากแต่การนำแบบประเมินของต่างประเทศมาใช้อาจมีความแม่นยำในการทำนายไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องมีการพัฒนาแบบประเมินขึ้นเฉพาะสำหรับประเทศไทย โดยการพัฒนาแบบประเมินครั้งนี้ได้อาศัยข้อมูลการศึกษาระยะยาว ซึ่งเป็นข้อมูลการตรวจร่างกาย และการเก็บตัวอย่างเลือดจากพนักงานการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2528 และพ.ศ.2540 รวมระยะเวลา 12 ปี โดยจะเลือกข้อมูลของคนที่ไม่มีภาวะเป็นเบาหวานในปี พ.ศ. 2528 และเปรียบเทียบกับข้อมูล พ.ศ.2540 ว่ามีอุบัติการณ์ของเบาหวานรายใหม่จำนวนเท่าใด จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติและจัดทำเป็นแบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานขึ้น”
จากการสรุปข้อมูลสู่แบบประเมินมีการทดสอบความแม่นยำของการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคตพบว่ามีความแม่นยำถึง 75% ทั้งนี้ แบบประเมินจะมีการให้คะแนนปัจจัยเสี่ยงแต่ละประเภทไม่เท่ากัน ซึ่งการประเมินโดยใช้แบบประเมินจะช่วยให้เห็นความเสี่ยงในภาพรวมที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านรวมกัน ได้แก่ เพศ อายุ ค่าดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว ความดันเลือด และประวัติเบาหวานในครอบครัว การมองภาพรวมความเสี่ยงจะดีกว่าการพิจารณาแต่ละปัจจัยเสี่ยง เช่น บางคนอาจมีปัจจัยเสี่ยง 2 ประเภทเท่ากัน แต่ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคะแนนของปัจจัยเสี่ยงที่ได้ อาทิ ค่าดัชนีมวลกายที่มากเกิน 27.5 kg/m2 มีคะแนนความเสี่ยงมากที่สุดดังนั้นหากเปรียบเทียบคนที่มีดัชนีมวลกายมากเกิน 27.5 kg/m2 มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากนี้ข้อดีของการใช้แบบประเมินคือสามารถทำนายความเสี่ยงได้ง่ายด้วยตนเองโดยไม่ต้องเจาะเลือด รวมถึงมีข้อควรปฏิบัติบอกให้ทราบในความเสี่ยงแต่ละระดับด้วย
รศ.นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้แบบประเมินให้กับโรงพยาบาล และสถานีอนามัยหลายแห่ง เพื่อให้สามารถนำไปใช้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง และให้รู้ความเสี่ยงของตัวเอง หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงแม้ว่าผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ควรแก้ไขลดปัจจัยเสี่ยงที่มี เพื่อลดโอกาสการเป็นเบาหวานในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานด้วยตนเองได้ง่ายๆ ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.hiso.or.th/hiso/teachnology/teachnology1_1.php หรือเข้าร่วมงาน Thailand Research Expo 2007 ที่บูธของ สวรส. ระหว่างวันที่ 7 — 11 กันยายน 2550 ณ ศูนย์การค้าเซนทรัลเวิลด์พลาซ่า ซึ่งจะมีการบริการตรวจเบาหวานให้ฟรี พร้อมสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
โทร. 0-2270-1350-4ต่อ105 e-mail:prhsri@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ