ประชาชนในไฟใต้...ชีวิตปกติในพื้นที่ไม่ปกติ...ความพร้อมที่ต้องเร่งสร้าง

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2007 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สกว.
เป็นธรรมดาเมื่อภาพที่ปรากฏผ่านสื่อสร้างความตกตะลึงไปทั้งประเทศเมื่อเห็นข่าวระเบิด ไฟไหม้ ประชาชนล้มตายในจังหวัดชายแดนใต้ช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่มุมหนึ่งก็เห็นความร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่ ประชาชนช่วยกันดับไฟ อะไร...เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้....และเขาควรทำตัวอย่างไรจึงจะอยู่อย่างปลอดภัยในพื้นที่ซึ่งมีภาพของ “ความไม่ปกติ”
“บังหมาน” ผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งใน อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ในวันนั้นที่หมู่บ้านเกิดเหตุจุดหนึ่งเป็นการลอบเข้ามาเผาโรงอาหารที่โรงเรียนในชุมชน ระหว่างช่วงเวลาละหมาดชาวบ้านไปอยู่ที่มัสยิด ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียน ประมาณสัก 19 นาฬิกา รู้สึกท้องฟ้าสว่างหันมองเห็นไฟไหม้โรงเรียน โต๊ะอิหม่ามและชาวบ้านรีบช่วยกันเอาน้ำไปดับไฟ ระหว่างนั้นชาวบ้านพูดกันว่า “ถ้าไม่กลัว...ก็จะตามล่าไม่ยอมให้หนีลอยนวลไปได้ แต่เกรงว่าฝ่ายนั้นจะมีปืนหรืออาวุธ...เดี๋ยวจะเป็นอันตราย เพราะบางครั้งมีการยิงปืนตามถนน เช่น การยิงป้อมยามทหาร ตำรวจ”
เกิดเหตุแล้วชาวบ้านก็ตกใจ พยายามระมัดระวังตัวมากขึ้น ไม่ออกไปกรีดยางตอนกลางคืน ไปเฉพาะกลางวัน ถ้าต้องเข้าไปลึก ๆ ก็ไปพร้อมกันหลาย ๆ คน รวมกันไป ช่วยกันทำ และรีบกลับบ้านก่อนมืด กลับมาแล้วก็อยู่ในบ้านและเพื่อความปลอดภัยที่จะทำให้อุ่นใจมากขึ้นคือ ต้องให้มีแสงสว่างเข้าไว้ เวลานอนต้องมีอาวุธอยู่ใกล้ตัว
....นี่คือ...วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้และพวกเขาดูแลกันเอง เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทุกคนจะกลับไปอยู่ในบ้านอยู่กับครอบครัวตัวเองและเตรียมพร้อม เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาอีก ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาก็ให้รีบตีเกราะ เคาะไม้หรืออะไรก็ตามที่จะให้เกิดเสียงดัง ๆ ให้คนในหมู่บ้านได้ยินกันทั่วถึง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านก็เตรียมพร้อม ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายแจ้งชาวบ้าน รวมทั้งการใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน เราต้องเตรียมพร้อม...ตลอดเวลา....ช่วยเหลือกันได้ใกล้ชิด มีการเฝ้าระวังในหมู่บ้านและความร่วมมือกับหมู่บ้านข้างเคียง
“เคยมีเหตุการณ์ลอบยิงชาวไทยมุสลิมในหมู่บ้าน โชคดีที่ไม่ตาย เมื่อติดตามข่าวสืบสาวไปจนรู้ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้ชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธซึ่งเป็นหมู่บ้านติดกันเกิดความแตกแยก ตอนแรกคนสองหมู่บ้านก็รู้สึกหวาดระแวงกันแต่เมื่อผู้ใหญ่บ้านทั้งสองหมู่ร่วมกันหา “คำตอบ” จนได้ความจริงที่ชัดเจน คนในสองหมู่บ้านจึงเข้าใจกันดังเดิม และเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกก็จะไม่เชื่อง่าย ๆ เกิดความร่วมมือในการป้องกันและเฝ้าระวัง”
“บังหมาน” บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงว่ามีกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีอยู่จำนวนไม่น้อยและส่วนหนึ่งคือเยาวชน ซึ่งน่าห่วงมาก แม้ในหมู่บ้านจะไม่มีปัญหานี้แต่ในหมู่บ้านใกล้เคียงมีปัญหามาก...หากยังปล่อยอยู่อย่างนี้เยาวชนจะถูกดึงออกไปทำไม่ดีเพิ่มขึ้น...ความอึดอัดใจของชาวบ้านคือการไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรไปถึงไหน เมื่อเกิดเหตุการณ์จับกุมผู้ต้องหาไป 3 วัน 5 วัน..ปล่อยกลับมา...แล้วทุกอย่างก็เงียบทุกที ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ...”
อย่างล่าสุดที่ชาวบ้านคุยกันหลังละหมาดเขาบอกว่า “ทำไมที่กรุงเทพฯ 9 จุดคืนนั้น ตำรวจ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบมีการติดตามตลอด แต่ภาคใต้บ้านเราเกิดอะไรขึ้นมาแล้วก็เงียบ...ตายกันไปเหมือนไก่ เป็ด ตายไปแล้วกว่าแสนคน มันไม่คุ้มเลย....กี่รัฐบาล กี่คนลงไปก็บอกว่ามาถูกทางแล้ว แก้ปัญหาถูกทางแล้ว แต่ทำไมมันยังไม่หยุด แล้วมันถูกทางตรงไหน อธิบายได้มั๊ย นี่คือสิ่งที่คนในพื้นที่อยากรู้จริง ๆ”
“บังหมาน”บอกอีกว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่อย่าเอาแต่ตั้งรับ รอให้เกิดเหตุแล้วค่อยบอกว่า “ระวังนะ” เคยทดลองพกอาวุธไปเพื่อดูว่าป้อมยามทหารตำรวจที่มีเป็นระยะ ๆ ทำงานกันยังไง ปรากฏว่าไม่มีใครเรียกตรวจไปจนถึงหาดใหญ่ได้สบาย ๆ ก็กลับมาคิดกันว่าเอ๊ะ...อย่างนี้พวกที่มุ่งก่อเหตุการณ์ก็พกอาวุธไปก่อเหตุได้สบาย....ทำไมเวลาเกิดเหตุและจับคนร้ายได้ไม่เรียกผู้ใหญ่บ้าน กำนันไปช่วยดูช่วยให้ข้อมูลเพราะเขารู้จักลูกบ้าน จะเรียกไปประชุมลับที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายมากแต่ยังไม่เห็นทำกันเลย...ดูเหมือนยังมีช่องว่างของแต่ละฝ่ายที่ยังไม่ผสานกัน”
“บังหมาน”บอกว่า ไม่ว่า “ใคร”หรือ “อะไร” ที่ทำให้ชายแดนภาคใต้ร้อนเป็นไฟ ในความรู้สึกตามที่ชาวบ้านพูดก็คือ “จะเล่นอะไร มันโล่ง มาเล่นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเป็นสนามบอลที่...เตะสบาย มีเรื่อง มีปัญหาที่กรุงเทพก็มาสร้างที่ภาคใต้...” ถ้าจับความดูจะเห็นว่ามันมีนัยทางการเมือง ผลประโยชน์ การเมืองขัดแย้ง ก็มาทำที่ภาคใต้ นี่แหละ...โชคร้ายของคนใต้ พื้นที่สมบูรณ์แต่กลายเป็นสนามบอลแบบนี้ไป
นายปัญญศักย์ โสภณวสุ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นักวิจัยในชุดโครงการความมั่นคงศึกษา ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 50 จุดใน 4 จังหวัดภาคใต้ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา มีความหลากหลายทั้งทางด้านยุทธวิธี ระดับความรุนแรง และเป้าหมายในการปฏิบัติการ ซึ่งก็น่าเชื่อว่าจะเป็นการกระทำของคนหลายกลุ่มที่มีลักษณะการจัดตั้งเป็นอิสระต่อกัน(ในแนวดิ่ง)แต่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย(ในแนวนอน)โดยทุกกลุ่มมีจุดมุ่งหมายสุดท้าย เป้าหมายหลักจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ และมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงอยู่บ้างซึ่งเขาก็รู้ตัวกัน แต่ยังไม่ได้ลามไปถึงประชาชนทั่ว ๆ ไป การมองหรืออธิบายปัญหาภาคใต้จึงไม่สามารถ “ตีขลุม” อธิบายรวม ๆ ด้วยชุดความเข้าใจเดียวได้ บางกลุ่มมุ่งโจมตีเอาชีวิตอย่างไม่จำแนก บางกลุ่มก็แค่ก่อกวน อย่างการระเบิดปัตตานีคอนกรีตและโชว์รูมรถยนต์เชฟโรเลตก็ไม่ได้มีการทำร้ายยาม/รปภ.ที่เป็นมุสลิมไทยเพียงแต่จับไปมัดไว้ เป็นต้น
“ปัญญศักย์” เชื่อว่า “ไฟใต้”ที่ผ่านมาหากมีการทบทวนและสรุปบทเรียนจริงจังแล้วสามารถจำแนกได้ว่าเป็นฝีมือกลุ่มไหนซึ่งดูได้ชัดเจนจากแบบแผนการปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่วิธีป้องกันอาจทำได้ยากเพราะกลุ่มเหล่านี้จะเปลี่ยนยุทธวิธี/วิธีการไปเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความเข้าใจกับมวลชนให้เกิดขึ้นให้ได้ พร้อมๆ กับการเฝ้าระวังและรุกอย่างมีเป้าหมาย มีนโยบายที่ชัดเจน ปฏิบัติได้ และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและมีความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุขึ้น ประชาชนจะไม่มาเป็น “ไทยมุง” เหมือนในกรุงเทพ แต่จะอยู่ในบ้านหรือดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เขารู้ว่าเมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้น มักจะมีการระเบิดซ้ำตามมาอีก อย่างที่เกิดระเบิดดับไฟที่ปัตตานี เป็นประสบการณ์ใหม่ของที่นี่ และส่วนใหญ่ก็เกิดเหตุในรอบนอกเมือง ในแง่การป้องกันจะเห็นว่า มีกลุ่มคนสองกลุ่มคือ พวกที่รู้ข่าวอยู่ที่บ้านก็จะอยู่แต่ในบ้านหรือรีบกลับเข้าบ้าน สิ่งที่ขาดคือแสงสว่างซึ่งก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป กับอีกพวกหนึ่งที่สัญจรอยู่บนถนน ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นมักจะมี “เรือใบ” เขาจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นในการเดินทาง นั่นคือการเรียนรู้และช่วยเหลือตัวเองเพราะ ยังไม่มีการทำคู่มือที่ให้สามารถเตรียมตัวอย่างเป็นระบบได้ ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าควรจะมี จะเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น ถ้าเกิดสถานการณ์ไฟดับจะทำอย่างไร จะขอความช่วยเหลือจากที่ใดบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ควรให้บทบาทกับหน่วยปกครองท้องถิ่นเป็นคนทำ จะเป็นคู่มือพื้นฐานสำหรับประชาชนคล้ายกับเรื่องสาธารณภัย น้ำท่วม วาตภัย แต่กรณีความไม่สงบในปัตตานี ยะลา นราธิวาส จะไม่ยืดเยื้อ หลังเกิดสถานการณ์ประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมงแล้วก็จะคลายตัวเข้าสู่ภาวะปกติ
นายปัญญศักย์ กล่าวว่า การจะบอกให้ประชาชนเตรียมพร้อมจะบอกเหมือนกันหมดไม่ได้ เพราะระดับความรุนแรงและยุทธวิธีที่ผู้ก่อการใช้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีการหรือกระบวนการที่รัฐจะบอกกับคนในพื้นที่สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ ฝ่ายทหาร ต้องจำแนกเหตุการณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมาให้ชัด แล้วบอกประชาชนไปในแต่ละพื้นที่ให้เข้าใจ และการจัดการปัญหาในแต่ละพื้นที่ก็จะต่างกันไป เพราะฉะนั้นคนที่จะมาดูวิเคราะห์ต้องเป็นกองบัญชาการใหญ่เลย ไม่สามารถทำชุดคู่มือแล้วใช้ได้ทุกพื้นที่ ต้องเป็นคู่มือที่ออกแบบเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจย่อยลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้านด้วยซ้ำ ลำพังกล้องวงจรปิดอย่างเดียวคงช่วยได้ระดับหนึ่ง ทหารหรือจังหวัดจะมาแบกรับภารกิจทั้งหมดและทำทุกเรื่องคงไม่ได้ เราเห็นรอยขาดระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่อยู่เยอะ เป็นปัญหามาโดยตลอด แต่การสร้างความเข้าใจกับมวลชนนั้นเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
นายปัญญศักย์ กล่าวว่า จะเห็นว่าโดยทั่วไปเมื่อเกิดเหตุประชาชนเขาจะเตรียมตัวของเขาได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ประชาชนเตรียมตัวได้สมบูรณ์ รัฐต้องรู้ก่อนว่าความแตกต่างในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ที่สำคัญฟากรัฐต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนและเข้าใจได้ มีหลักฐานยืนยัน ถ้ายังไม่มีการอธิบายที่สมบูรณ์ อย่างเช่น นโยบายสมานฉันท์หรือการให้ความเป็นธรรม ซึ่งหากทำให้เกิดรูปธรรมขึ้นได้จะลดปัญหาไปได้มหาศาล
“บอกว่ารัฐต้องต่อสู้ทางความคิด..ก็ถูก.. แต่จะสู้อย่างไร ความเป็นธรรมให้เขาได้จริงไหม เพราะในกรุงเทพเชื่อว่า..ใช่ คนกรุงเทพเหมือนจะรับรู้ว่ารัฐใช้นโยบายสมานฉันท์แล้ว แต่คนในพื้นที่เขาไม่เชื่อเพราะมีสิ่งผิดปกติอยู่เรื่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จริงเท็จไม่รู้ เป็นข่าวลือ ที่ไม่มีใครชี้แจงยืนยันได้ และการฆ่าฟันในหลายกรณีหลัง ๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่อาศัยสถานการณ์ แต่เวลาหนังสือพิมพ์ลงก็เหมารวมไปหมด ก็ทำให้คนในจังหวัดอื่น ๆ มองว่าใน 3 จังหวัดมันน่ากลัว การตรวจสอบ “ข่าวลือ” และ “ใบปลิว” จึงเป็นประเด็นที่ควรบอกประชาชน ควรจะต้องตรวจสอบให้ได้ก่อนว่าต้นตอข่าวนั้นมาจากไหน แหล่งข่าวมีความน่าเชื่อถือ มีคุณธรรมและจริยธรรมหรือไม่ แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่”
นายสนิท ชมชาญ อดีตข้าราชการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยังไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาลนี้ หรือกองกำลังของรัฐเข้มแข็งพอที่จะป้องกันเขาได้แล้ว ปัญหาจะแย่มากขึ้น เพราะจริง ๆ เราต้องการกำลังสนับสนุนหลาย ๆ ด้านจากภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชนไทยและนักธุรกิจทั้งหลายในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ต้องแสดงความเข้มแข็งให้เห็นว่าสามารถป้องกันเขาได้ และต้องทำโดยรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ต้องแยกให้ออกว่าจะใช้บทบาทยุทธศาสตร์สมานฉันท์อย่างไร ในส่วนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการสู้รบ หรือปฏิบัติการในสนามต้องแยกให้ชัดเช่นกัน และต้องประสานปัจจัยทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร สังคมจิตวิทยาเข้าด้วยกัน
“เหตุการณ์ภาคใต้ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาด เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องในการระวังป้องกัน เพราะมีการจับจ้องอยู่จากฝ่ายก่อความไม่สงบฯ “การข่าว”จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญต้องเร่งฟื้นฟู วันนี้ในภาคใต้มีกองกำลังของฝ่ายรัฐอยู่ประมาณ 40,000 คน จะใช้คนกลุ่มนี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เพราะปัญหาภาคใต้อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการปรับแก้อย่างเป็นระบบ ชัดเจน และอธิบายได้ การแก้ปัญหาจึงจะดีขึ้นได้”
นายสนิทกล่าวอีกว่า ฝ่ายกองกำลังของรัฐน่าจะทบทวน “จุดอ่อน” และ “จุดแข็ง” จากบทเรียนการแก้ปัญหาในอดีตมาใช้กับสถานการณ์ภาคใต้ในปัจจุบันได้ เช่น “ศูนย์การุณยเทพ” ที่เป็นการกระจายอำนาจการดำเนินคดีกับผู้ต้องหากระทำเป็นคอมมิวนิสต์จากตำรวจสันติบาลให้ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครองเข้ามามีส่วนในการไม่ต้องฟ้องคนพวกนี้ คือปล่อยคนพวกนี้ได้ หลังจากสอบถามจนได้ข้อมูลแน่ชัดแล้วจึงอาจให้อยู่ร่วมกิจกรรมทำความเข้าใจกัน จากนั้นผู้อำนวยการศูนย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม่ทัพก็เซ็นปล่อยตัว ซึ่งกระบวนการมันจบได้ในเวลาอันสั้น แทนที่คนเหล่านี้จะต้องถูกคุมขังรอส่งฟ้องทีละรายกว่าจะได้ขึ้นศาลอาจถูกขังลืมอยู่ 4-5 ปี อย่างนี้เท่ากับซ้ำเติมปัญหาเพราะเขาก็จะฝังใจในทางไม่ดีกลับออกไป เป็นอันตรายมากกว่าอีก
เมื่อความเข้าใจของประชาชนคือหัวใจของการแก้ปัญหา หากวันนี้ไม่ซ้ำเติมปัญหา และมีการอธิบายอย่างเข้าใจได้จากฝ่ายรัฐ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอย่างมีรูปธรรม ก็น่าเชื่อว่าจะทำให้ช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนเขยิบมาอยู่ใกล้กันมากขึ้นได้.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร.0-22701350

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ