ผู้แทนประเทศไทยเคมีโอลิมปิกเปิดใจการชิงชัยระดับโลก

ข่าวทั่วไป Friday July 27, 2007 17:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สสวท.
ผู้แทนประเทศไทยจำนวน 4 คน คว้า 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน จากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ วันที่ 15-24 กรกฎาคม 2550 ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย ได้แก่
นายบวร หงษ์ศรีจินดา โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ได้เหรียญทอง
นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้เหรียญเงิน
นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เหรียญเงิน
นายเตชินท์ จุลเทศ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้เหรียญเงิน
คณะอาจารย์ที่ร่วมเดินทาง ประกอบด้วย หัวหน้าทีม รศ. ดร. วุฒิชัย พาราสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. ยงศักดิ์ ศรีธนาอนันต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ดร. อมราวรรณ อินทศิริ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร. เอกสิทธิ์ สมสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดการทีม นายณรงค์ศิลป์ ธูปพนม หัวหน้าสาขาเคมี สสวท.
นายบวร หงษ์ศรีจินดา (เหรียญทอง) จบโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กทม.ปัจจุบันเป็นนิสิตแพทย์ปี 1ที่จุฬาฯ หนุ่มน้อยอารมณ์ดีเผยถึงการไปแข่งขันครั้งนี้ว่า ข้อสอบแล็บปีนี้ง่ายกว่าปีที่แล้ว แต่ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ยาก ส่วนทฤษฎีถือว่าอยู่ในขั้นยากมาก ยากที่สุดตั้งแต่มีการสอบโอลิมปิก คะแนนจึงลงมาจากที่แล้วมาก ปีนี้แค่ 57-58 คะแนนก็ได้เหรียญทองแล้ว ที่หนึ่งปีนี้แค่ 76 คะแนนเอง ส่วนผมได้ 61
ตอนทำข้อสอบไม่ตื่นเต้นอะไร การติวถือว่าอาจารย์สอนได้ครอบคลุมแล้ว แต่ขึ้นอยู่ที่การคุมสติของแต่ละคนมากกว่า คือมันจะคุมกันไม่ค่อยอยู่ เครียดจนท้องเสียก็มี ปีหน้าอาจารย์บอกว่าต้องจัดติวอีกแบบหนึ่ง คือความรู้มันถึงเหรียญทองทุกคนอยู่แล้ว แต่สติมันคุมกันยังไม่ถึง…สิ่งที่ได้จากโอลิมปิกคือได้เพื่อนต่างชาติ ได้ติวกับอาจารย์ดีๆ ในมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศ หาโอกาสดีๆ อย่างนี้ไม่ได้แล้วครับ
ด้านผู้ปกครองของบวรที่มารับลูกชายแต่เช้า โดยคุณพ่อหงวน หงษ์ศรีจินดา กล่าวถึงความดีใจและการเรียน ความสนใจของบวรตอนเด็กๆ ว่า “ผมดีใจจนพูดไม่ออก ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ดีถึงขั้นนี้ แต่ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์อย่างสูงเลยครับ... ตอนเล็กๆ บวรสนใจเครื่องจักร ผมวาดเครื่องจักรให้เขาดู แต่พอโตขึ้นเริ่มเรียนม.4 เขาก็มาสนใจเคมี เราก็สนับสนุนเขา”
คุณแม่วรนุช หงษ์ศรีจินดากล่าวเสริมว่า “อย่างหนังสือ เขาสนใจก็จะซื้อให้ อยากเรียนพิเศษก็จะติดตามให้ สมัครให้ เพราะเขาไม่ค่อยมีเวลา คือคอยช่วยอยู่ข้างหลัง”
คุณพ่อฝากส่งท้ายถึงผู้ปกครองที่มีบุตรหลานไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเรียนเป็นสิ่งสำคัญ การที่เรามีลูก เราต้องช่วยส่งเสริมให้เขาได้ความรู้ เพราะผมไม่มีความรู้ เขาไม่จำเป็นต้องรวยหรือเป็นเศรษฐี แต่เขาควรประคองตัวเอาตัวรอดได้ เงินเดือนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้มีความรู้ที่จะไปทำงานตรงนั้นก็พอ”
นายธนธรณ์ ขอทวีวัฒนา (เหรียญเงิน) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ หนุ่มน้อยสุดในทีมเผยว่า ข้อสอบปีนี้ได้ขึ้นชื่อว่ายากที่สุดเท่าที่เคยแข่งมา ผมไปพลาดด้านปฏิบัติ แต่ภาคทฤษฎีทำได้มาก คือทั้งสามคนที่ได้เหรียญเงินพลาดปฏิบัติหมด...ตอนเข้าห้องสอบสิ่งแรกเลยคิดถึงหน้าพ่อ-แม่ เพื่อนๆ อาจารย์ ตื่นเต้นมากๆ ต้องพยายามควบคุมสมาธิอยู่หลายนาที...
วิธีการเรียนปกติของผมใช้วิธีเรียนด้วยตัวเอง อ่านเอง ตรงไหนไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์.สิ่งที่ได้จากการสอบโอลิมปิก คือได้เพื่อน ได้รู้จักอาจารย์หลายๆ ท่าน สนิทกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน นอกเหนือจากความรู้แล้ว คือได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมายที่ไปแข่งต่างประเทศ ได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยต่างๆ
อนาคต ผมรับทุนโอลิมปิกไปเรียนต่อด้านเคมีในต่างประเทศ ตั้งใจว่ากลับมาแล้วจะเป็นนักวิจัยช่วยเหลือประเทศชาติครับ
รศ.สมบัติ ขอทวีวัฒนา คุณพ่อของธนธรณ์ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเคมีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงธนธรณ์...ลูกชายว่า “เขาเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน มีสมาธิ เป็นคนช่างคิด ผมว่าการเล่นมีส่วนช่วยเขาเยอะ คือเขามีพื้นฐานด้าน ดนตรี กีฬา วาดรูป เพราะส่งเสริมให้เขาเรียนตั้งแต่เล็ก ส่วนคุณแม่ซึ่งจบคณิตศาสตร์มาก็ช่วยสอนให้เขา
พอขึ้น ม.4 เขาเห็นหนังสือที่ผมเขียนเกี่ยวกับน้ำตาลด้านเคมี เขาก็อ่านและก็ชอบ เคมีมันลึกลับดี ในส่วนนี้สิ่งรอบตัวก็มีส่วนมาก ตั้งแต่เด็กเขาเห็นผมทำงาน เห็นพี่ทำแล็บ ก็เลยชอบเคมี สิ่งที่อยากฝากถึงผู้ปกครองคือ ช่วยส่งเสริมเรื่องพื้นฐานด้านความคิดที่ดีให้เขาตั้งแต่เด็ก เช่น ดนตรี กีฬา หรือวาดรูป ส่วนวิชาการลึกๆ เด็กเขาชอบทางไหนเขาก็จะไปของเขาเอง ผู้ปกครองก็ช่วยส่งเสริมตามที่เขาสนใจ”
นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ (เหรียญเงิน) จบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เผยว่า “ข้อสอบปีนี้ยากมากๆ ผมทำได้แค่ครึ่งเดียวเอง ปฏิบัติพอทำได้แต่คะแนนไม่ดี เพราะวิเคราะห์ไม่ออก ส่วนทฤษฎีปีนี้ยากมาก แต่ทุกประเทศก็ทำไม่ค่อยได้เหมือนกันหมด เราก็เลยมีโอกาสได้เหรียญเงิน...ตอนเห็นข้อสอบทีแรก ช็อคเลย จึงค่อยๆ ทำสมาธิ พลิกดูทั้งหมดแล้วจึงเริ่มทำ...
วิธีการเรียนของผมคือฟังอาจารย์ในห้องให้เข้าใจ เพราะผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ กลับบ้านก็แค่ทบทวนอีกนิดหน่อย สิ่งที่ได้จากโครงการโอลิมปิก คือ ได้เพื่อน ได้ความอดทน ได้รู้จักกับการจัดการความกดดัน อย่างตอนสอบเสร็จคิดว่าคงไม่ได้แล้ว พอตอนประกาศผลทุกคนก็ลุ้น พอได้เหรียญเงิน ทุกคนก็ดีใจ อนาคต ผมรับทุนโอลิมปิกไปเรียนเคมีในต่างประเทศ โดยพรุ่งนี้จะเดินทางไปอเมริกา เรียนจบกลับมา คงมาเป็นอาจารย์ครับ”
นางรัชดา เมธเศรษฐ คุณแม่ของพรชัย กล่าวถึงลูกว่า “ตอนเล็กเขาสนใจเรียนมาก มีความพยายาม เราก็สนับสนุนเขา แต่กลัวเขาเครียด บอกว่าอย่าเรียนเยอะเลย ไม่ต้องไปแข่งกับเขาก็ได้ แต่ใจเขาก็คิดอยากเรียน เขาก็ไม่ได้พูดอะไร แม่ก็สอนไม่เป็น ได้แต่ขายของ แต่ก็มีใจสนับสนุนเขา อยากเรียนอะไรก็เรียน... เชื่อว่าเด็กทุกคนมีพรสวรรค์ของเขา แต่เขาอาจไม่มีโอกาส เขาเก่งแต่ไม่มีที่แสดง ถ้าคนเป็นแม่สนับสนุนเขา ก็ยิ่งทำให้เขาเก่งได้”
นายเตชินท์ จุลเทศ (เหรียญเงิน) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หนุ่มอารมณ์ดี และมีความมั่นใจในตัวเอง กล่าวถึงความรู้สึกในการไปแข่งขันครั้งนี้อย่างฉะฉานว่า ปีนี้เขาเปลี่ยนวิธีออกข้อสอบ เพราะเขามองว่าที่ผ่านมาข้อสอบทฤษฎีก้าวไม่ทันการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของโลก ขณะที่ภาคปฏิบัติค่อยๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ และทันเหตุการณ์ ดังนั้นปีนี้ข้อสอบทฤษฎีจึงยากมากกว่าปกติหลายเท่าเลยครับ ส่วนการสอบของผม พอดีผมไม่สบายตอนสอบภาคทฤษฎี เลยทำคะแนนไม่ค่อยดี แต่ปฏิบัติ...ก็ไม่ค่อยดีเหมือนกัน(หัวเราะ) ปีหน้าขอแก้ตัวใหม่ครับ
วิธีการเรียนของผมคือ อ่านหนังสือเอง ชอบศึกษาเอง การสอบโอลิมปิกหนนี้ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สำคัญคือได้บรรยากาศของการแข่งขัน รู้ว่าในโลกนี้ยังมีคนเก่งๆ อีกมาก ต่างประเทศเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เราจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ.
อนาคตของผม ผมตั้งใจว่าจะสอบทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนเศรษฐศาสตร์ อยากทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับพลังงาน เพราะอย่างปัจจุบัน พลังงานมีการใช้ทั้งเซลล์เชื้อเพลิง ไบโอดีเซลผมจึงอยากใช้ความรู้เคมีในฐานะนักบริหาร... สิ่งที่ได้จากโอลิมปิกคือ เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงศักยภาพที่ทุกคนมี ถ้าเกิดใครสนใจด้านไหนก็ขอให้ตามล่าหาฝันของตนเองไป โอลิมปิกก็เป็นโครงการหนึ่งที่ให้คุณได้แสดงตัวตนของตนเอง และศักยภาพที่คุณมี
นางศิริพร จุลเทศ คุณแม่ของเตชิน กล่าวถึงเตชินว่า เล็กๆ เขาสนใจคณิตศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ เลยให้เรียนดนตรี วาดรูป เพิ่ม เขาจะได้พัฒนาสมองของเขาทั้งสองด้าน เขาเริ่มสนใจเคมีเมื่อตอนอยู่เตรียมอุดม อาจารย์ก็เห็นว่าน่าไปได้ เลยให้ความสนับสนุน ในฐานะที่เราเป็นแม่ก็สนับสนุนลูกทุกอย่าง การเรียนพิเศษก็เป็นสิ่งสำคัญถ้าเราคิดว่าจะไปถึงต่างประเทศ เราต้องเพิ่มวิชาความรู้ให้ลูก สิ่งที่จะฝากคือ อยากให้ผู้ปกครองสนับสนุนลูกตามตามความถนัดของเขา คอยเป็นกำลังใจให้เขา และที่สำคัญ ครอบครัวต้องอบอุ่นใกล้ชิดลูก
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ