ก.พลังงานหนุนรถไฟใช้ NGV มั่นใจลดใช้น้ำมันดีเซลปีละกว่า 6 แสนลิตร

ข่าวบันเทิง Thursday August 4, 2005 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สนพ.
ก.พลังงาน สนับสนุน ปตท.และรฟท.ดำเนินโครงการทดลองและสาธิตการใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับน้ำมันดีเซลในรถไฟ มั่นใจลดใช้น้ำมันดีเซลปีละกว่า 6 แสนลิตรต่อหัวลาก เผยทดลองวิ่งขบวนแรกเส้นทางลาดกระบัง-แหลมฉบัง กลางเดือนสิงหาคมนี้
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นในการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงพลังงานผลักดันให้ใช้ก๊าซธรรมชาติในรถไฟ โดยนำเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนให้สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการทดลองและสาธิตการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับน้ำมันดีเซลในรถไฟ
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งชุดอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถทดลองวิ่งในเส้นทาง ลาดกระบัง-แหลมฉบัง ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18,973,000 บาท โดยกองทุนฯ สนับสนุนจำนวน 9,953,000 บาท
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการฯ จะทำให้มีหัวรถจักรต้นแบบที่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับน้ำมันดีเซลที่คาดว่าสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลหัวลากรถไฟได้ประมาณ
50% จากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลปีละประมาณ 609,000 ลิตร/หัวลาก หรือประหยัดเงินได้ปีละประมาณ 3,731,720 บาท
“ปัจจุบัน รฟท.มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงสูง เพราะราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับน้ำมันดีเซลจะสามารถประหยัดรายจ่ายด้านเชื้อเพลิง ได้และยังลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศด้วย รวมทั้งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการใช้บริการรถไฟ เนื่องจาก รฟท.สามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดค่าเชื้อเพลิงมาปรับปรุงระบบบริการเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน ”นายเมตตา กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทดลองและสาธิตการใช้ก๊าซธรรมชาติแบบเชื้อเพลิงร่วมในรถไฟ มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการในปัจจุบัน เพื่อรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นข้อมูลประเมินผลสมรรถนะ อัตราการใช้เชื้อเพลิง เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาความ คุ้มทุนด้านบริหารการใช้เชื้อเพลิงของการรถไฟฯ และขยายผลการใช้ก๊าซธรรมชาติในหน่วยงานอื่นที่ใช้เครื่องยนต์ในลักษณะคล้ายกัน หรือประยุกต์กับงานด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้เชื้อเพลิง และเป็นข้อมูลวางแผนนโยบายด้านพลังงานของประเทศต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ