สวมวิญญาณหนังตะลุงมีชีวิต มรภ.สข. สืบวัฒนธรรมท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday January 25, 2011 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มรภ.สข. ด้วยเล็งเห็นว่า นับวันศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนังตะลุง มโนราห์ จะหาคนรุ่นใหม่สืบสานได้ยากเต็มที สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข.) จึงจัดโครงการ “หนังดาวรุ่งตะลุงราชภัฏ” เปิดโอกาสให้นายหนังรุ่นเยาว์ ได้อวดฝีไม้ลายมือแสงเงามีชีวิตบนผืนผ้าใบ ทุกวันศุกร์แรกของเดือน โครงการหนังดาวรุ่งตะลุงราชภัฏ รวบรวมนายหนังรุ่นใหม่กว่า 10 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ ซึ่งมีใจรักในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนังตะลุง และบรรดานายหนังที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ต่างรับงานแสดงหนังตะลุงเป็นอาชีพเสริม ควบคู่ไปกับการศึกษา นายปริญญา ศรีวรรณ หรือ หนังโอม ตะลุงปริญญา นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มรภ.สข. นายหนังตะลุงรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวถึงคุณค่าของหนังตะลุงว่า หนังตะลุงเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานศาสตร์ทุกแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขับร้องกลอน การพากย์เสียงหนังตะลุงตัวต่างๆ อาทิ เป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวตลก ซึ่งการแสดงคืนหนึ่งๆ ต้องพากย์เสียงหนังตะลุงไม่ต่ำกว่า 20-30 ตัว ตนจึงมองว่าการเล่นหนังตะลุง เป็นการสวมวิญญาณให้ตัวหนังเหล่านั้นมีชีวิต สามารถออกมาโลดแล่นบนผืนผ้าใบ ซึ่งในฐานะที่ตนเป็นนายหนังตะลุงคนหนึ่ง อยากเชิญชวนให้เยาวชนช่วยกันสืบทอด และเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมใต้ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ขอแค่เหลียวกลับมามองบ้างก็ยังดี นายธนาวุฒิ ชัยมัน หรือ หนังบิ๊ก ศ. ตะลุงเมธี นักศึกษาปี 2 โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มรภ.สข. กล่าวเสริมว่า การเล่นหนังตะลุงก่อให้เกิดคุณค่าต่อจิตใจ เพราะเป็นการนำสิ่งดีๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสืบสาน ซึ่งแต่ละคนอาจมีมุมมองหรือความชอบแตกต่างกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหนังตะลุงเท่านั้น ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้อื่นๆ อย่าง มโนราห์ เพลงบอก ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น ดังนั้น วัฒนธรรมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หากเราเปิดใจสักนิดจะเข้าใจว่าคนสมัยก่อนต้องใช้ภูมิปัญญาในการคิดค้นสิ่งเหล่านี้ ด้าน นายเทพฤทธิ์ พัสระ หรือ หนังเทพฤทธิ์ พัสระ นักศึกษาปี 1 โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สข. กล่าวว่า การเล่นหนังตะลุงให้ประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการพากย์บทเจรจา ซึ่งจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในการดำเนินเรื่อง อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของภาคใต้ และอยากเชิญชวนทุกคนให้หันมาสนใจหนังตะลุง แล้วจะรู้ว่าสนุกเพียงใด ในขณะที่ นางสาวอังสวัณย์ วรเพียรกุล และ นางสาวสุภาวดี เพ็งศรี นักศึกษาปี 4 โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สข. ซึ่งร่วมชมการแสดงหนังตะลุง ให้ความเห็นว่า เยาวชนส่วนใหญ่รู้จักหนังตะลุงเพียงผิวเผินเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันหนังตะลุงหาดูได้ยาก ประกอบกับคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหนังตะลุง จนทำให้ในบางพื้นที่หนังตะลุงได้เลือนหายไป แต่เมื่อได้ชมการแสดงหนังดาวรุ่งตะลุงราชภัฏ ก็รู้สึกสนุกสนานไปกับบทพากย์ของนายหนัง หากคนรุ่นใหม่ไม่ช่วยกันสืบสาน หรือแม้แต่จะหันกลับมามอง วันหนึ่งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็จะเป็นเพียงประวัติศาสตร์ ที่ถูกจารึกอยู่ในหน้าหนังสือเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ