สร้างความเข้าใจผู้ประกอบในการป้องกันอุบัติภัย

ข่าวทั่วไป Friday July 27, 2007 13:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กทม.
กทม. เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย เพื่อกำหนดแนวทางควบคุม ดูแลกิจการลดการเกิดอุบัติภัย รวมทั้งขอให้สถานประกอบการหมั่นฝึกซ้อมการบรรเทาอุบัติภัย เพื่อลอความสูญเสียเมื่อเกิดเหตุ
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนา "การป้องกันและระงับอุบัติภัยในสถานประกอบกิจการ" ซึ่งสำนักอนามัย กทม. จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของการป้องกันอุบัติภัยแก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่กรุเทพมหานคร รวมทั้งเพื่อชี้แจงนโยบายทางการควบคุมดูแลกิจการที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย แนวทางการปฏิบัติและการดำเนินงานเพื่อลดการเกิดอุบัติภัยในสถานประกอบการ ทั้งนี้ได้เชิญสถานประกอบการจากทั้ง 50 เขต กว่า 3,200 ราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตและกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวน 136 คน รวมประชุม
ดร.วัลลภ เปิดเผยว่า การสัมมนาจะมีการอภิปรายในหัวข้อ "บทบาทการดำเนินงานป้องกันอุบัติภัยของหน่วยงานและสถานประกอบการ" โดยผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และตัวแทนผู้ประกอบการ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติภัยที่ผ่านมา พบว่า เกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ กรุงเทพมหานครจึงขอให้เจ้าผู้ประกอบกิจการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอุบัติภัยให้แก่ลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการแต่ละแห่ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นได้ รวมทั้งขอหมั่นฝึกซ้อมการบรรเทาอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถระงับเหตุได้อย่างรวมเร็วอันเป็นการลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยกรุงเทพมหานครพร้อมและยินดีให้การสนสนับสนุนด้านวิชาการ ความรู้ และร่วมฝึกซ้อมดังกล่าวด้วย
สำหรับผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย 12 ประเภท ที่กรุงเทพมหานครเชิญเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่ 1.การผลิต บรรจุ สะสม และการขนกรด ด่าง สารออกซิไดซ์ หรือสารทำลาย 2.การผลิต บรรจุ สะสม และการขนส่งก๊าซ 3.การผลิต กลั่น สะสม และขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมหรือการผลิตปิโตรเลี่ยมต่างๆ 4.การประกอบกิจการห้องเย็น แช่แข็งอาหาร 5.การผลิตน้ำแข็งฯ 6.การผลิต สะสม การขนส่งดอกไม้เพลิงหรือการเคมีอันเป็นส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิง 7.การผลิตพลาสติก เซลลูลอยด์ เบเกอร์ไลท์ หรือวัตถุคล้ายคลึง 8.การผลิตสีหรือน้ำมันผสมสี 9.การผลิต บรรจุ สะสม และการขนส่งสารกำจัดศัตรูพืชหรือพาหะนำโรค 10.การผลิตน้ำแข็งแห้ง 11.การผลิตเชลแล็กหรือสารเคลือบเงา และ 12.การผลิต บรรจุ และการสะสมกาว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ