กรมบัญชีกลาง - มาตรการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ 9 กลุ่ม

ข่าวทั่วไป Friday January 28, 2011 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางชี้แจง ที่จะมีมาตรการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ 9 กลุ่ม ไม่ใช่เพราะราคาแพง แต่เพราะใช้เกินความจำเป็น กรมบัญชีกลางชี้แจง ไม่ได้ตัดสิทธิการเบิกค่ารักษาจากการใช้ยาดีมีคุณภาพ ยาจากต่างประเทศ หรือยาราคาแพง โดยผู้มีสิทธิยังคงเบิกค่ารักษาได้เช่นเดิม ยกเว้น ยาที่ไม่มีผลชัดเจนในการรักษา หรือใช้ยาเกินความจำเป็นของอาการ ทั้งนี้ มาตรการด้านการเบิกค่ายาต่างๆ มีข้อมูลวิชาการแพทย์และความเห็นจากฝ่ายแพทย์ประกอบทั้งสิ้น นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลางชี้แจงว่า กรอบวิธีปฏิบัติของกรมบัญชีกลางในการจัดทำมาตรการควบคุมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ระบุว่า ยาที่ไม่สามารถเบิกได้ หมายถึงยาที่ขาดหลักฐานแสดงความคุ้มค่า และ/หรือความสมเหตุสมผล ซึ่งในบางกรณีหมายถึงการใช้ยาเกินความพอเพียงของอาการของโรค โดยยาที่เบิกได้ในปัจจุบันมีทั้ง “ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ” และ “ยานอกบัญชียาหลักแห ่งชาติ” ซึ่งบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นบัญชียาที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จัดทำขึ้นสำหรับใช้ในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีทั้งยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยาที่ผลิตในประเทศไทย สำหรับการวางมาตรการควบคุมการเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นการศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาลของรัฐ 34 แห่ง คือ 1. มีกลุ่มยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 6 กลุ่ม ที่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติสามารถใช้ในการรักษาได้ ได้แก่ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร ยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง ยาลดความดันโลหิต ยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงควรใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็อาจต้องร่วมจ่ายค่ายา ซึ่งกรมบัญชีกลางจะกำหนดราคาอ้างอิงสำหรับส่วนที่ให้เบิกจ่ายได้ต่อไป แต่ห ากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี ยาหลักแห่งชาติ เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กรมฯ ก็จะต้องเยียวยาผู้ป่วยดังกล่าวโดยไม่ต้องร่วมจ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและวางระบบการเบิกจ่ายที่เหมาะสม 2. กลุ่มยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ยามะเร็ง ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน ยังคงให้เบิกจ่ายได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่องค์กรวิชาชีพ เช่น ราชวิทยาลัย สมาคม กำหนด เนื่องจากพบว่ามีการสั่งใช้ยาในกลุ่มยามะเร็งเกินกว่าระยะของอาการของโรค ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย เพราะจะทำให้มีการดื้อยา และเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นถึงระยะที่ควรได้รับยาชนิดนี้ก็ไม่สามารถควบคุมอาการได้แล้ว หรือกรณีที่มีการสั่งใช้ยาเป็นจำนวนมากเพื่อจะได้ไม่ต้องไปพบหมอบ่อย ๆ ก็อาจมีผลเสียได้ เช่น อาการของโรคควรได้รับยาตัวใหม่แล้ว เป็นต้น ทางกรมบัญชีกลางขอยืนยันว่าผู้มีสิทธิยังคงเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับอาการป่วยได้ทุกโรค โดยไม่ถูกลิดรอนสิทธิ แต่ต้องมีวิธีบริหารจัดการให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดูแลการใช้เงินของประเทศที่มาจากเงินภาษีของประชาชนให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด กำจัดส่วนที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น และขณะนี้ทางกรมฯ ได้เริ่มมีการประชุมหารือร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐ 2 — 3 แห่งแล้ว เพื่อหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่ผู้มีสิทธิและครอบครัว สำหรับกรณีที่ทางโรงพยาบาลเห็นว่า จะทำให้รายได้ของโรงพยาบาลลดลงไม่สามารถนำเงินไปชดเชยกับการรักษาฟรีผู้ป่วยรายอื่นๆ นั้น เป็นการบริหารจัดการของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลก็เป็นส่วนราชการ หากงบประมาณไม่พียงพอ ก็ต้องขอรับการจัดสรรเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้ประชาชนของประเทศได้รับสวัสดิการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคกัน นายรังสรรค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ