สชอ. ชี้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เผด็จการ วอน สนช. ไม่รับหลักการ

ข่าวทั่วไป Thursday March 29, 2007 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
สมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ขัดกับระบอบประชาธิปไตย และยังขาดนโยบายภาคการผลิตและการคุ้มครองผู้บริโภคทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้จริง
นายวรินทร์ เทียมจรัส ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย สชอ. เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ที่เกิดจากความร่วมมือแบบพหุภาคีของกลุ่มที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวกับกับแอลกอฮอล์ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน สมาคมธุรกิจ กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักวิชาการ และสถาบันวิจัย สชอ. ใคร่ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาไม่รับร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีช่องโหว่ที่พบได้ในร่าง พ.ร.บ. ในทุกๆ ด้าน ได้แก่ ด้านของเศรษฐกิจ โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจชุมชน และแรงงานระดับล่าง ซึ่งมีผลกระทบจากธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร ค้าปลีก และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น สิ่งพิมพ์ ของพรีเมี่ยม ป้ายขนาดเล็กและใหญ่ กีฬาชุมชน เป็นต้น
ในภาคของผู้บริโภค จะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขาดมิติการคุ้มครองผู้บริโภค และการให้การศึกษาแก่สังคม มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภค ซึ่งความจริงแล้วผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิในการรับรู้ โดยในกลุ่มที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควรเน้นการให้ความรู้เรื่องการดื่มและอันตรายจาการดื่ม ขณะที่กลุ่มผู้ดื่มแอลกอฮอล์และไม่สร้างปัญหาสังคม กลุ่มนี้ ผู้บริโภคถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพสินค้า ปริมาณดีกรี ราคา กิจกรรมการตลาด อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ. ควรกำหนดให้ข่าวสารเหล่านี้ต้องไม่กระตุ้นการดื่มอย่างไม่เหมาะสมและไม่ขัดต่อศีลธรรมจรรยา ในขณะเดียวกันควรต้องให้ความรู้เรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ เช่น ปริมาณการดื่มมาตรฐาน ส่วนกลุ่มที่ดื่มและสร้างปัญหาต่อตนเองและสังคม รัฐควรมีมาตรการที่รุนแรงและบังคับใช้ โดยการบังคับใช้นั้น ควรส่งเสริมให้เป็นการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการ ในรูปแบบความร่วมมือพหุภาคี (Co-regulatory Scheme) เช่น การส่งเสริมให้บังคับใช้กฎหมายประกันว่าด้วยเรื่อง “เมาไม่จ่าย” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนมีส่วนในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยตนเอง หากดื่มแล้วต้องออกมาใช้รถ ใช้ถนน
ส่วนในเชิงของธุรกิจ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจและการตลาด เกิดการครอบงำการตลาด มีวาระซ่อนเร้นเรื่องภาษี กล่าวคือ ไม่มีการนำมาตรการภาษีมาใช้ในการควบคุมการผลิต ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสังคมที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ผลิตเหล้าขาวที่เสียภาษีน้อย สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคโดยเสรี เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ ยังทำให้ประเทศไทยและผู้ประกอบการชาวไทยเสียโอกาสการแข่งขัน OTOP ไวน์ไทย และทำลายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมของไร่องุ่นในภาคเหนือและภาคอีสาน
ที่สำคัญ มาตรการควบคุมที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาสังคมโดยการกำหนดข้อจำกัดต่างๆ นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ แต่ยังเพิ่มความรุนแรงของปัญหาสังคมยิ่งขึ้น เพราะปริมาณการดื่มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการห้ามการโฆษณาและสื่อสาร ที่ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้กลยุทธ์ราคา ทำให้ราคาสินค้าถูกลง ผู้บริโภคดื่มมากขึ้น และเพิ่มการลักลอบนำเข้าจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ได้ระบุว่า มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่มุ่งเน้นการจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การห้ามโฆษณา หรือกำหนดเวลาในการจำหน่ายนั้น ไม่สามารถลดการบริโภคได้เลย เนื่องจากผู้บริโภคสามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับร้านค้าย่อยต่างๆ ที่รัฐควบคุมไม่ถึง ที่สำคัญยังเป็นช่องว่างให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่าย ที่สำคัญในต่างจังหวัดนั้น กฎนี้แทบจะบังคับใช้ไม่ได้เลย นอกจากจะควบคุมผู้ประกอบการไม่ได้แล้ว ยังไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สชอ. ขอเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติถอนร่างพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากสภาในวันที่ 28 มีนาคม และนำกลับมาทบทวนใหม่ด้วยการใช้วิธีมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมี สชอ เป็นตัวแทนนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา
สชอ. ยึดหลักมติที่ประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 ซึ่งระบุว่าผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียที่จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้การยอมรับกลยุทธ์การลดปัญหาแอลกอฮอล์จากหลากหลายภาคส่วน และ เห็นควรให้ภาครัฐปรึกษากับภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางในการให้ความร่วมมือเพื่อลดการใช้แอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสม
“สชอ. ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนที่ต้องการช่วยภาครัฐแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ที่ถูกจุดและมีประสิทธิผล แต่กลับไม่เคยได้รับการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น หรือนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ได้รับจากพหุพาคีภาคประชาชน เราได้รับความเดือดร้อนในฐานะองคาพยพหนึ่งในสังคมไทย ขอวิงวอนต่อ ฯพณฯ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึงความไม่ถูกต้องชอบธรรมของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว” นายวรินทร์กล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
บ.พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
วันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ
โทรศัพท์:0-2651 8989 ต่อ 222
โทรสาร: 0-2651 9649-50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ