การพนัน ความยากจน การนอกใจ ทำครอบครัวไทยยุคใหม่เปราะบาง หวังรัฐจัดสวัสดิการแบบหุ้นส่วนสังคม มากกว่าแค่ “โยน”

ข่าวทั่วไป Friday February 25, 2011 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.-- การพนัน ความยากจน การนอกใจ ทำครอบครัวไทยยุคใหม่เปราะบางหวังรัฐจัดสวัสดิการแบบหุ้นส่วนสังคม มากกว่าแค่ “โยน” เงินให้ โลกอินเตอร์เน็ต ทำครอบครัวเปลี่ยน ลดการชม ไม่ขอโทษ คุยกับคนอื่นมากกว่าคนในครอบครัว กรุงเทพมหานคร 2554 นักวิชาการชี้ครอบครัวไทยเปราะบาง เผชิญอบายมุข ความรุนแรง ยากจนและการนอกใจมากขึ้น พบโลกอินเตอร์เน็ตทำคนในครอบครัวขาดการสื่อสารในเชิงบวก คุยกันน้อยลง แต่คุยกับคนนอกบ้านมากขึ้น หวังรัฐจัดสวัสดิการแบบการเป็นหุ้นส่วนสังคมสำรวจความต้องการของผู้รับ มากกว่าแบบให้เงินสงเคราะห์ และจัดสวัสดิการให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะที่มีผู้สูงวัย แม่วัยรุ่น คนพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นพิเศษ เพื่อลดปัญหาสังคมและช่องว่างระหว่างชนชั้น ในงานประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ. ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทยและ 15 องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการ คนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)และแผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย : ความท้าทายของนักพัฒนาครอบครัวในสังคมสวัสดิการ” มีนักพัฒนาครอบครัวร่วมงานกว่า 400 คน และได้จัดสัมมนากลุ่มย่อย 5 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดในเรื่องการจัดสวัสดิการของครอบครัวของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) ภาคชุมชน และภาคเครือข่ายครอบครัว โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม น.ส.ศิวพร ปกป้อง รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานถึงผลการวิจัยสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทยปี 2553 เปรียบเทียบกับปี2552 โดยใช้กรอบหยุด4 ทุกข์ อบายมุข หนี้สิน ความรุนแรง และการนอกใจ สร้าง 4 สุข ได้แก่ สื่อสารดี มีเวลาร่วมกัน แบ่งปันใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพ ผลการศึกษาในภาพรวมชี้ว่าครอบครัวไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวที่เปราะบางมากขึ้น ครอบครัวไทยกำลังพุ่งประเด็นไปแค่เรื่องรายได้ ฐานะทางเศรษฐกิจ และมอบหมายหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของครอบครัวให้กับสถาบันอื่นในสังคมแทน แม้การวิจัย 4 ทุกข์จะพบว่า ในปี2553 มีจำนวนครอบครัวที่มีสมาชิกยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข คือ สุรา หวยใต้ดิน และการพนัน ลดลงจากปี 2552 แต่ยังอยู่ในสัดส่วนลดลงน้อยมาก ครอบครัวไทยมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว และมีเงินออมเฉลี่ยลดลง แม้การปลอดหนี้จะสูงขึ้นถึงร้อยละ 10 แต่ความรุนแรงในครอบครัวทะเลาะ ทุบตี การนอกใจ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การสร้าง4 สุขนั้น พบว่าร้อยละ 36.6 เท่านั้น ที่พูดจากันด้วยคำพูดที่ไพเราะ เป็นสัดส่วนที่ลดลง มีการดุด่ากันโดยไม่ถามเหตุผลมากขึ้น กล่าวคำขอโทษหรือขอบคุณกันในครอบครัวร้อยละ24 การทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว เช่น การทานข้าวมื้อเย็นร่วมกัน ช่วยกันทำงานบ้านลดลง ละเลยการแสดงความรักและบอกกล่าวกันก่อนออกไปทำธุระนอกบ้านเพิ่มขึ้น มีเพียงประเด็นสุขภาพ คือการออกกำลังกาย และการทานผักผลไม้ในมื้ออาหาร ที่ครอบครัวไทยให้ความใส่ใจมากขึ้นจากปีก่อน นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับครอบครัวไทยว่า มาจากการเป็นสังคมโลกาภิวัฒน์ มีการปรับตัววิธีคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณี ดั้งเดิมให้เข้ากับโลกเศรษฐกิจใหม่ที่ไร้พรมแดน “สำหรับทางออก ภาครัฐควรเน้นนโยบายส่งเสริมครอบครัวให้เข้มแข็ง กระจายงบประมาณ พัฒนาตามสภาพครอบครัวที่แตกต่างกัน ควรมีศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้ทุกคนในครอบครัว ทำให้จัดการเวลา จัดการชีวิตให้เกิดความสมดุลได้” ส่วนเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวนั้น ดร.ทิพาภรณ์ โพธิ์ถวิล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาสวัสดิการครอบครัวลักษณะเฉพาะ คือ ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่ผู้สูงอายุเลี้ยงเด็กตามลำพัง และครอบครัวที่มีเด็กพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง ว่า ขาดการมองคนแบบองค์รวมของครอบครัว เน้นบริการเชิงสงเคราะห์ตัวเงิน มากกว่าบริการเชิงป้องกัน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ขาดการจัดบริการด้านอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย และกระบวนการยุติธรรม ปัญหาสวัสดิการที่ครอบครัวเฉพาะส่วนใหญ่เผชิญคือ ความไม่มั่นคงของอาชีพและรายได้ อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิ แนวทางการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะนั้น ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคม รวมถึงอาจลดขั้นตอนการบริการของรัฐด้วย” ดร.ทิพาภรณ์ กล่าว นอกจากนี้ภายในงานยังมีห้องย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “การจัดสวัสดิการ ครอบครัวขององค์กรภาคี” ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และเครือข่ายครอบครัว พร้อมมีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “นักพัฒนาครอบครัวมืออาชีพ : ผู้นำการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย” และการจัดนิทรรศการ “ถนนนักพัฒนาครอบครัว เส้นทางการเรียนรู้สู่นักพัฒนาครอบครัวมืออาชีพ” โดยมีนักพัฒนาครอบครัวชมงานกว่า 400 คน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : โทร. 0-2954-2346

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ