ไอพีดี! ไม่ได้คุกคามแค่เด็ก ผู้สูงอายุก็ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคติดเชื้อรุนแรงเช่นกัน

ข่าวทั่วไป Thursday March 10, 2011 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--โรงพยาบาลเวชธานี คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease : IPD) เป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อเด็กเท่านั้น ในความเป็นจริงผู้สูงอายุก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีสุขภาพเปราะบาง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย และต้องการการดูแลรักษาป้องกันไม่ต่างจากเด็กเล็ก ดังนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรงเฉียบพลัน หรือ ไอพีดี เช่นเดียวกัน โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “Streptococcus pnuemoniae” หรือเรียกย่อๆ ว่า นิวโมคอคคัส ที่เป็นสาเหตุของโรคที่พบบ่อยในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ นิวโมคอคคัส เชื้ออันตราย เชื้อนิวโมคอคคัสมีอยู่ประมาณ 80 สายพันธุ์ อาศัยอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ พบได้บ่อยในเด็กและผู้ใหญ่ (พบ 38-60%ในเด็ก และ 6-26%ในผู้ใหญ่) โดยปกติแล้วเมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง เชื้อจะไม่ทำอันตรายใดๆ แต่หากร่างกายอ่อนแอเชื้อนิวโมคอคคัสอาจก่อโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจก่อน เช่น ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หูน้ำหนวก รวมถึงปอดบวม หลังจากนั้น เชื้ออาจมีโอกาสลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเชื้อเดินทางไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มสมอง ไขสันหลัง และข้อต่อต่างๆ จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงและแพร่กระจาย เรียกว่า โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง หรือเรียกย่อๆ ว่า โรคไอพีดี การติดเชื้อชนิดนี้ทำให้มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 20-30 เลยทีเดียว การกระจายของเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน โดยผ่านระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม และสัมผัสกับละอองเสมหะของผู้ป่วยหรือพาหะ ผู้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ได้แก่ - ผู้สูงอายุ เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันต่างๆ ลดลง - ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด ถุงลมโป่งพอง หรืออักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไต - ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัด ผู้ที่ติดเชื้อโรคมะเร็ง ผู้ที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ รวมถึงผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น - เด็กเล็ก อาการของผู้ป่วย อาการการติดเชื้อสังเกตได้จาก อาการมีไข้ขึ้น หากเกิดการติดเชื้อที่ปอดจะมีอาการไอ มีเสมหะ เหนื่อย หายใจลำบาก อีกทั้งหากเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ไข้ขึ้น หนาวสั่น ช็อค และถ้าลุกลามไปสมองก็อาจเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้ ซึ่งเชื้อนิวโมคอคคัสจัดเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อันตราย และผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูง การรักษา ปกติแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย แต่ในปัจจุบันพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยาปฏิชีวนะหลายๆ ชนิด ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร การเลือกใช้ยาทำลายเชื้อยุ่งยากมากขึ้น ส่งผลให้ต้องใช้เวลารักษาและค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม และในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดสุราเรื้อรังอาจจะมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50 การเสียชีวิตส่วนมากจะเกิดขึ้นภายใน 5 วันแรก จากความรุนแรงของโรคนั่นเอง การป้องกัน ผู้สูงอายุหรือผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากภูมิต้านทานร่างกายลดลง ดังนั้นควรพาผู้สูงอายุในครอบครัวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ซึ่งประกอบด้วยสารก่อภูมิต้านทานรวมกัน 23 ชนิด ช่วยลดการเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสถึง 23 สายพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมได้ถึง 80% ของสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดรุนแรง รวมถึงสายพันธุ์ที่ดื้อยาเพนนิซิลลินด้วย ผลข้างเคียงของการฉีดอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และวัคซีนสามารถป้องกันโรคนี้ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นนี้หรือไม่ ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว ซ.111 (www.vejthani.com)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ