แพทย์โรคหลอดเลือดหัวใจจากประเทศญี่ปุ่น รับรองการรักษาด้วย Stent รูปแบบใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday March 16, 2011 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์ เมื่อเร็วๆนี้ ดร.โตชิยา มูรามัตซึ (Dr. Toshiya Muramatsu) หัวหน้าแผนกโรคหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลไซเซไก เมืองโยโกฮาม่า ฝั่งตะวันออก (Saiseikai Yokohama-City Eastern Hospital) อายุรแพทย์หัวใจชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่มีความชำนาญในด้านโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในการทำบอลลูนพร้อมใส่ขดลวด (Stent) ร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันโรคทรวงอก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการตีบตันซึ่งเป็นผลมาจากภาวะไขมันสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยง และหากถึงขั้นรุนแรงจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประเทศที่เจริญแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย สาเหตุหลักคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ ภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป การนิยมบริโภคอาหารแบบตะวันตกและไม่นิยมออกกำลังกาย รวมถึงการสูบบุหรี่ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นมักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี ขึ้นไป ทางสถาบันโรคทรวงอกและศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ รวมทั้งโรงพยาบาลศิริราช ได้จัดหาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติไว้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังได้ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการแพทย์กับแพทย์ที่มีชื่อเสียงจากนานาประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันในระดับสากล และเมื่อเร็วๆนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราชและสถาบันโรคทรวงอก ได้เชิญ ดร.โตชิยา มูรามัตซึ (Dr. Toshiya Muramatsu) อายุรแพทย์ที่มีชื่อเสียงด้านโรคหัวใจจากประเทศญี่ปุ่น มาแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำบอลลูนพร้อมใส่ขดลวด (Stent) ซึ่งปัจจุบัน Stent ได้ถูกพัฒนาให้เป็นชนิดเคลือบยาต้านการตีบซ้ำและโพลิเมอร์แบบย่อยสลายได้ (Biodegradable Polymer Stent) ซึ่งได้ผ่านการวิจัยระดับนานาชาติแล้วว่าได้ผลดีกว่าขดลวดที่ใช้โพลิเมอร์แบบย่อยสลายไม่ได้ (Durable Polymer Stent) เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตและการกลับมาตีบซ้ำในระยะยาวและการกลับมาทำหัตถการสวนหัวใจมีจำนวนน้อยกว่า ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาวิจัย 3 ปี ของงานวิจัย LEADERS (Limus Eluted from A Durable VS ERodable Stent Coating) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง Stent ที่ใช้โพลิเมอร์แบบย่อยสลายได้ (Biodegradable Polymer) และ Stent ที่ใช้โพลิเมอร์แบบย่อยสลายไม่ได้ (Durable Polymer) และการแสดงผลงานวิจัยในระดับนานาชาติที่งานประชุมแพทย์หัวใจนานาชาติ Transcatheter Cardiovascular Therapeutics 2010 (TCT2010) ณ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ดร.โตชิยา มูรามัตซึ (Dr. Toshiya Muramatsu) กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการรักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ในส่วนที่เกี่ยวกับ stent เราได้เห็นพัฒนาการของ Stent ที่ใช้โพลิเมอร์แบบย่อยสลายได้ ซึ่งมีผลรับรองว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างมากในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะตัวยาต้านการตีบซ้ำและโพลิเมอร์ที่เคลือบอยู่บนตัว Stent จะย่อยสลายไปเองภายในเวลา 6 - 9 เดือน ซึ่งจะเหลือเพียงขดลวดและไม่มีโพลิเมอร์ตกค้างในร่างกาย อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ Stent ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะของรอยโรค และ Stent ที่เลือกใช้ควรเป็นที่ยอมรับและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งแพทย์จะมีการทำการวิจัยศึกษาข้อดีข้อเสีย รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับผู้ป่วยในอนาคตควบคู่กันไป ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ คุณพิจิกา โล้เจริญรัตน์ 02 934 2160 — 75 สายตรง 02 394 2177

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ