Banking of the Year - ธนาคารกรุงเทพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 8, 2011 12:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--วารสารการเงินธนาคาร ธนาคารกรุงเทพ คว้าตำแหน่ง ธนาคารแห่งปี 2554 โชว์ผลงานเยี่ยมกำไร 2.4 หมื่นล้าน ครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตามติดด้วยธนาคารไทยพาณิชย์รั้งที่ 2 ด้านธนาคารเกียรตินาคิน ขยับขึ้นอันดับ 3 การเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2554 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี ประจำปี 2554 หรือ Bank of the Year 2011 ปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพ คว้าตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2554 ไปครองได้อีกหนึ่งปีเป็นปีที่ 5 หลังจากครองตำแหน่งธนาคารแห่งปีมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 24,205.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% รวมทั้งมีกำไรสุทธิต่อหุ้น และมูลค่าหุ้นตามบัญชีสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 12.68 บาท และ 120.23 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ธนาคารมีความพร้อมในการรองรับความต้องการบริการทางการเงินของทุกกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาถึงปี 2554 นี้ โดยในกลุ่มของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารมุ่งตอบสนองความต้องการสินเชื่อระยะกลางและระยะยาวเพื่อขยายกำลังการผลิต รวมถึงบริการด้านทุนธนกิจที่เน้นให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการระดมทุน การร่วมทุน การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ การร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยใช้เครือข่ายของธนาคารในต่างประเทศที่ครอบคลุมอยู่ในทุกภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากธนาคารจะให้การสนับสนุนทางการเงินแล้ว ยังจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ทางธุรกิจแก่ลูกค้าเอสเอ็มอี รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ขยายเครือข่ายธุรกิจ โดยมุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าขายข้ามชายแดน การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน การบริหารธุรกิจของครอบครัว และการสร้างรูปแบบธุรกิจที่มีความยั่งยืน ส่วนลูกค้าบุคคล ธนาคารยังคงเน้นการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในลูกค้าทุกกลุ่ม มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวโยงกัน โดยจัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการเป็นแพคเกจสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งประสานการทำงานระหว่างหน่วยธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ส่วนอันดับ 2 เป็นของ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 จำนวน 23,178.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 19% และมีกำไรสุทธิต่อรายได้รวมสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 28.42% ซึ่งในปี 2554 ธนาคารก็ยังคงเร่งขยายสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด พร้อมกับรักษาระดับการเติบโตของสินเชื่อประเภทอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม ควบคู่ไปกับการพัฒนากลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้าน ธนาคารเกียรตินาคิน อยู่ในอันดับ 3 โดยมีอัตรากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (ROA) กำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล สูงเป็นอันดับ 1 ที่ 2.51% 17.92% และ 4.74% ตามลำดับ ส่วนในปี 2554 ธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 16-19% ขณะที่ควบคุมสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4% สำหรับอันดับ 4 ในปีนี้ มีธนาคารสองแห่งครองตำแหน่งร่วมกันคือ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทิสโก้ โดย ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิเป็นอันดับ 3 จำนวน 18,614.79 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 7.78 บาท ซึ่งนอกเหนือจากการขยายฐานลูกค้าโดยยึดถือความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และการทำงานร่วมกันเป็นทีมของทั้งเครือธนาคารกสิกรไทยแล้ว ธนาคารยังมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในด้านการขายและการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วน ธนาคารทิสโก้ มีอัตรากำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROA) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 17% และ 3.95% ตามลำดับ ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับโครงสร้างทางธุรกิจเป็นการรวมศูนย์ที่ลูกค้า พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย ทีมขาย รวมทั้งการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด อันดับ 6 ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย โดยทำกำไรสุทธิได้ถึง 14,031.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% ซึ่งในปี 2554 ธนาคารยังจะเดินหน้าในการเป็นธนาคารแสนสะดวก โดยเพิ่มคุณภาพการให้บริการของธนาคารในทุกด้านให้เทียบเคียงได้กับธนาคารคู่แข่ง และสนับสนุนนโยบายและการดำเนินงานภาครัฐ โดยขยายงาน Agent Bank และธนาคารชุมชน เพื่อสร้างความสะดวกในการให้บริการลูกค้า ด้าน ธนาคารธนชาต และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ปีนี้ครองอันดับ 7 ร่วมกัน สำหรับ ธนาคารธนชาต หลังจากที่ได้ควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย ก็ยิ่งทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง และขยายความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งมั่นที่จะให้ลูกค้าทุกกลุ่มมีประสบการณ์ที่เหนือกว่าด้วยการนำเสนอบริการที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้า ส่วน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารยังคงมุ่งเน้นยกระดับความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และยังคงดำรงและพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเป็นผู้นำในระดับโลกด้านระบบบริหารความเสี่ยง อันดับ 9 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยมีกำไรสุทธิ 6,042.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3,400 ล้านบาท หรือประมาณ 137% ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายที่จะติดอันดับหนึ่งในสามของธนาคารที่มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงสุดภายในปี 2556 และเป็นธนาคารชั้นนำที่ให้บริการทางเงินครบวงจรพร้อมให้บริหารธุรกิจรายย่อยอย่างเต็มรูปแบบ ธนาคารยูโอบี อยู่ในอันดับ 10 ซึ่งธนาคารยังคงยึดแนวทางการบริหารด้วยความระมัดระวัง และดำเนินงานด้วยความใกล้ชิดกับลูกค้า และนำระบบกลไกที่มีประสิทธิภาพต่างๆ มาใช้ในการติดตาม ตรวจสอบ และบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย อยู่ในอันดับ 11 ซึ่งธนาคารยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ขณะที่แผนการขยายฐานเงินฝากจะเน้นกลยุทธ์การใช้สาขาในการบุกเบิกและสร้างฐานลูกค้าใหม่มากยิ่งขึ้น อันดับ 12 ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ซึ่งธนาคารยังมุ่งขยายลูกค้าในทุกกลุ่ม โดยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพันธมิตรทางกลยุทธ์มากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าธุรกิจ ด้วยการเข้าถึงเครือข่ายทั่วโลก นวัตกรรมทางการเงิน และบริการของไอเอ็นจี ด้าน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ในอันดับ 13 ซึ่งธนาคารจะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านช่องทางการขายและกระตุ้นการสร้างยอดขาย ควบคู่ไปกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ พร้อมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า ผ่านกลุ่มทางการเงินซีไอเอ็มบี ไทย และกลุ่มทางการเงิน CIMB ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) อยู่ในอันดับ 14 ซึ่งธนาคารมุ่งมั่นที่จะขยายการบริการไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยเน้นการนำนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายของกลุ่มไอซีบีซีทั่วโลก เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการบริการ ควบคู่ไปกับบริการด้านสินเชื่อธุรกิจครบวงจรทั้งธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และอันดับ 15 ได้แก่ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ซึ่งธนาคารมุ่งที่จะเป็นธนาคารที่มี “กลุ่มเป้าหมายชัดเจนในตลาดที่การแข่งขันไม่รุนแรง (Focus Bank)” เพื่อสนองตอบกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสถาบันการเงิน โดยให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งมั่นคง ประสิทธิภาพทางการเงิน และบริการที่สนองตอบลูกค้า มากกว่าการเติบโตเชิงขนาด ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6914126-30 วารสารการเงินธนาคาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ