ร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ....

ข่าวทั่วไป Wednesday May 4, 2011 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. .... ตามที่กระทวงการคลังเสนอ และส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการต่อไป ซึ่งร่างดังกล่าวจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานประสบปัญหาในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่งผลให้การให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการของรัฐดังกล่าวมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางตามกฎหมาย หรือตามความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องสูญเสียประโยชน์หรือเสียเปรียบในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. .... ดังกล่าวขึ้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมีหลักการสำคัญใน 2 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขข้อบกพร่อง อุดช่องโหว่ที่มีใน พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ โดยกำหนดบทบัญญัติให้มีความชัดเจน ครบถ้วน เช่น กระบวนการแก้ไขสัญญา และการต่อหรือขยายอายุสัญญา เป็นต้น 2. การกำหนดกระบวนการขึ้นใหม่ในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐทั้งหมดให้มีความชัดเจน และเป็นระบบมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐซึ่งเป็นแผนหลักระดับชาติในการกำหนดนโยบายการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมีมาตรฐาน ส่งผลให้ภาครัฐมีกลไกในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อนึ่ง แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมีบทบัญญัติกำหนดให้มีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทั้งฉบับ แต่มิได้หมายความว่า เป็นการยกเลิกไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น การยกเลิก พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้บุคคลที่กระทำความผิดอยู่แล้วหลุดพ้นความรับผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะรับไปพิจารณาเพิ่มเติมบทบัญญัติให้ชัดเจนในร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ