กรมสุขภาพจิต จับมือ ๑๐ องค์กร ด้านสื่อสารมวลชน เฟ้นหาสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ปี 2550 เพื่อร่วมเติมความเข้มแข็งให้สังคมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 7, 2007 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--เอดีทูวายด์ คอมมิวนิเคชั่น
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการ “สื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ประจำปี 2550” (Mental Health Media Award) เตรียมคัดเลือกสื่อสร้างสรรค์ด้านสุขภาพจิต 4 สาขา ได้แก่ สื่อภาพยนตร์ สื่อภาพยนตร์โฆษณา สื่อภาพข่าวหนังสือพิมพ์ และสื่อบุคคล ที่มีผลงานส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี ช่วยให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิต ภายใต้แนวคิด “คิดดี สื่อสารดี สังคมดี” เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมโหวตสื่อสร้างสรรค์ในดวงใจ
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคซึมเศร้าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งนับว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ปัจจุบันพบว่าความเจ็บป่วยทางร่างกายและโรคติดต่อมีอัตราลดลง แต่ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตกลับมีมากขึ้น แสดงให้เห็ว่าเมื่อคนมีความเครียดมากขึ้น สังคมก็จะมีปัญหามากขึ้น คนไทย 5% ที่มีภาวะและอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย
และแนวทางในการจัดการปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ คือการส่งเสริมป้องกันในบุคคลปกติ ซึ่งตัวกลางที่ใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุดก็คือ “สื่อ” ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายร่วมกันจัดกิจกรรม “สื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ประจำปี 2550” โดยได้รับความร่วมมือจาก สมาพันธ์ สมาคม องค์กร นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและสุขภาพจิต จำนวน 10 องค์กร เพื่อจะขยายผลด้วยการนำผลงานสร้างสรรค์จากสื่อต่างๆ เผยแพร่ไปสู่ประชาชนและสังคม รณรงค์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาและแก้ไขสุขภาพจิต เพราะสื่อต่างๆ มีอิทธิพลต่อการชักนำและโน้มน้าวจิตใจของผู้ที่กำลังมีปัญหาทางอารมณ์โดยเฉพาะสื่อที่มีความรุนแรง
ทางด้านนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า ธุรกิจสื่อสารมวลชนเป็นธุรกิจที่มิได้มุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงอุดมคติ มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น เพราะสื่อมีอิทธิผลต่อคนในสังคม ด้วยเนื้อหาของสื่อมีหลากหลายประเภท มีทั้งข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิง อีกทั้งสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจ สื่อมวลชนเองก็มีโจทย์ที่จะต้องตอบให้ได้ว่าจะนำเสนอในข้อมูลแบบที่สังคมต้องการ หรือจะช่วยยกระดับสังคมด้วยการเลือกเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ก็จะทำหน้าที่ให้กำกับดูแลเสรีภาพของสื่อมวลชนให้ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ มีบทบาทในการวินิจฉัยต่อข้องร้องเรียนของสังคมหรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอข่าวและภาพข่าว
ส่วนนางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เสนอมุมมองที่มีต่อรายการโทรทัศน์ว่า สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมมากที่สุด ผู้ชมจะรู้สึกใกล้ชิดเพราะมีทั้งภาพและเสียง ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จะต้องมีจิตสำนึกว่ากำลังจะนำเสนออะไรผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ในการผลิตรายการโทรทัศน์จะมีข้อมูลว่าผู้ชมต้องการอะไร รายการประเภทไหนที่ยังขาด บางครั้งไม่จำเป็นจะต้องทำรายการที่คนในสังคมกำลังนิยม ผู้ผลิตรายการจะต้องมีความเป็นผู้นำทางความคิดเพื่อเลือกสิ่งที่ดีให้กับสังคม ตัวอย่างรายการคนค้นคน ซึ่งได้รับรางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ปี 2549 เป็นรายการใหม่ที่ไม่ได้ทำตามกระแสมวลชนต้องการ แต่เป็นพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพูด และมีแง่คิดในการดำเนินชีวิตให้กับคนทั่วไป เราได้เห็นคนสู้ชีวิตที่มีขาดโอกาสทางสังคมแต่มีกำลังใจและสุขภาพจิตที่ดี
การมอบรางวัลให้กับสื่อที่สร้างเสริมสุขภาพจิตก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ผลิตรายการ ในอนาคตก็จะมีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ชมมากขึ้น ที่สำคัญจะต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบต่อผู้ชมให้มาก
รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงข้อคิดเห็นในฐานะกรรมการว่า พบว่าการนำเสนอข่าวสารสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้คนไทยมีความเครียดมากขึ้น ด้วยปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งการจัดกิจกรรมเฟ้นหาสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตที่ช่วยชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมไทย จะเป็นการพัฒนาสังคมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ
สำหรับการพิจารณาสื่อสร้างสรรค์จะคัดเลือกจากสื่อที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต เป็นผลงานที่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างถูกต้อง นำเสนออย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้ประชาชนได้เรียนรู้การปฏิบัติตนให้มีสุขภาพจิตที่ดีและลดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งคณะกรรมการจะมีการคัดเลือกผลงาน 5 อันดับในแต่ละสาขา และจะมีการจัดแสดงผลงานเพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและประชาชนร่วมโหวต โดยจะมีการประกาศและมอบรางวัลให้กับสื่อสร้างสรรค์ในงาน “สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2550” และจะนำผลงานที่ได้รับรางวัลไปจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่สาธารณชนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
อัญชลี ตู้ทอง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โทร. 0 2590 8054 โทรสาร 0 2 589 0419 Jennyjay99@gmail.com
ผกากานท์ ภู่ระโหง (ลูกหยี) โทร .02 910 7998 มือถือ 081 489 8419 ประสานงานประชาสัมพันธ์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ