การประกาศผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2011 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ว่า Fitch ได้มีการปรับระดับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของรัฐบาล (Outlook: Local Currency Long-Term Issuer Default Rating) จากมุมมองที่เป็นลบ (Negative Outlook) เป็นมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ที่ระดับ A- พร้อมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Foreign Currency Long-Term Issuer Default Rating) ที่ระดับ BBB ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Foreign Currency Short-Term Issuer Default Rating) ที่ระดับ F3 และระดับเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ BBB+ ดังตารางสรุปที่ 1 อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยFitch Ratings สถานะ Outlook อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล ระยะยาว (Foreign-Currency Long-Term IDR) BBB Stable ระยะสั้น (Foreign-Currency Short-Term IDR) F3 - อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทของรัฐบาล ระยะยาว (Local-Currency Long-Term IDR) A- Negative?Stable เพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ(Country Ceiling) BBB+ - ตารางสรุปที่ 1 ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย Fitch Ratings ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 โดย Fitch เห็นว่า การปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของประเทศในครั้งนี้สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการคลังของประเทศที่เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การดำเนินการตามแผนสร้างเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาล และความเสี่ยงของภาระผูกพันของรัฐบาลที่ลดลง อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและผลของการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้อาจมีผลต่อความมีเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งอาจส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในการวิเคราะห์กรณีฐาน Fitch คาดว่า สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อ GDP จะลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 30 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นร้อยละ 27 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งได้ประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2555 - 2558 โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในปี 2554 โดยสถานะทางการคลังในปี 2553 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ดังเห็นได้จากการขาดดุลการคลังที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.8 ของ GDP จากเคยอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 ของ GDP ในปี 2552 (การขาดดุลการคลังตามคำนิยามของ Fitch เท่ากับ การขาดดุลงบประมาณรวมกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ) และการที่รัฐบาลตั้งเป้าที่จะดำเนินนโยบายสมดุลทางการคลังให้ได้ภายในปี 2559 หลังการดำเนินนโยบายขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2552 — 2555 นอกจากนี้ Fitch คาดว่า ระดับความเสี่ยงของภาระผูกพันของรัฐบาลจะลดลงเนื่องจากการกำหนดวงเงินค้ำประกันเงินฝาก นอกเหนือไปจากการลดลงของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนหนี้ที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นนับเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งในการรับมือกับผลกระทบจากภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ โดยสินเชื่อของภาคเอกชนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 79 ของ GDP ในปีที่ผ่านมา จากที่อยู่สูงถึงร้อยละ 182 ในปี 2540 เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศในปี 2549 พร้อมกับได้ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2551 — 2552 อย่างไรก็ดี Fitch ได้ให้ข้อสังเกตว่า ความเสี่ยงที่เกิดจาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านการคลังได้ อย่างไรก็ดี Fitch มองว่า ความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองยังคงเป็นปัญหาด้านโครงสร้างที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดย Fitch มองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้จะไม่ช่วยในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลงอาจส่งผลเสียต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่อาจได้รับผลกระทบหากมีการดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อใช้ลดความขัดแย้งทางสังคมของประเทศเป็นการเพิ่มภาระทางการคลัง ซึ่งหากอ้างอิงจากการให้คะแนนของธนาคารโลก (World Bank) แล้ว คะแนนด้านความมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทยยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศอื่นที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ BBB สำหรับสถานะการเงินต่างประเทศสุทธิของประเทศไทยนั้นมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม BBB อย่างมาก รวมทั้งสินเชื่อสุทธิที่มีจำนวนสูงที่สูดในกลุ่มประเทศ BBB โดย Fitch เห็นว่า ดุลด้านต่างประเทศของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง ดังเห็นได้จากระดับสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 ต่อ GDP ในปี 2549 เป็นร้อยละ 52 ต่อ GDP ในปี 2553 ในขณะที่ระดับสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิของประเทศอื่นในกลุ่ม BBB โดยเฉลี่ย ลดลงจากร้อยละ 7 มาอยู่ที่ร้อยละ 6 นอกจากนี้ ระดับความสามารถในการชำระคืนเงินหนี้ต่างประเทศของไทยก็ยังดีกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอีกด้วย อย่างไรก็ดี สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เห็นว่า ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในครั้งนี้ไม่สะท้อนถึงสถานะทางเศรษฐกิจไทยและเมื่อเปรียบเทียบกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายอื่นแล้วอยู่ต่ำกว่า และการดำเนินการที่ล่าช้าในการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยโดยที่ Fitch ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทของไทยจากระดับ BBB+ และ A เป็น BBB และ A- ตามลำดับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2552 และได้ให้มุมมองที่เป็นลบตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2553 อาจส่งผลให้นักลงทุนได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจในการลงทุนเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ในขณะที่หากพิจารณาจากตัวเลขโดยรวมทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ต่ำ แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นบวก การท่องเที่ยวและการส่งออกที่จะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมจากนโยบายส่งเสริมของรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพของประเทศที่สามารถรองรับความผันผวนจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ผ่านมาได้ และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงเข้มแข็งและเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505 หรือ 5518

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ