TMC จัดประชุมวิชาการ เปิดตัวผลวิจัยใหม่ “น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการบริโภค” ผลจากงานวิจัยผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์

ข่าวเทคโนโลยี Monday May 28, 2007 17:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--TMC สวทช.
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทและชุมชน ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน อย. และคณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการ“น้ำหมักชีวภาพ เทคโนโลยีเพื่อความพอเพียง สู่นวัตกรรมเพื่อสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน” เผยแพร่ผลงานการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 500 คน เน้นให้ความรู้ที่ถูกต้อง ไขข้อสงสัยในกระบวนการผลิตเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข็ง เกิดสิทธิบัตรภูมิปัญญาไทย นำผลิตภัณฑ์ของชาติแข่งขันได้ในตลาดสากลต่อไป
เช้าวันนี้(25พ.ค.) ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการเรื่อง “น้ำหมักชีวภาพ เทคโนโลยีเพื่อความพอเพียง สู่นวัตกรรมเพื่อสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน” ซึ่งศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.โดยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทและชุมชน ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (คพช.อย.) และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค โดยมี ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช.และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะเภสัช-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาหน่วยงานของรัฐและเอกชน ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการและสื่อมวลชนกว่า 500 คนเข้าร่วมในงาน โดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กล่าวว่า
“ผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับครัวเรือนโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับพื้นบ้าน มีสูตรและรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรอย่างกว้างขวาง โดยจากข้อมูลการวิเคราะห์ดัชนีประชากรไทย 65 ล้านคน ซึ่งเป็นเกษตรกร 55 % ประมาณ 35.75 ล้านคน หากประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยการลด..
การซื้อเคมีภัณฑ์ และทดแทนบางส่วนด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นคนละ 100 บาท/เดือน รัฐบาลจะประหยัดเงินถึง 3,575 ล้านบาท/เดือน ช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณในการสั่งซื้อสารเคมีทางการเกษตรซึ่งใช้จ่ายเป็นค่าปุ๋ยเคมีประมาณ 1.6 -1.8 หมื่นล้านบาท/ปี ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตยาซึ่งมีมูลค่าเป็น 1.9 หมื่นล้านบาท/ปี และลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อยาเป็นเงิน 16,719.21 ล้านบาท/ปี รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งใช้จ่ายประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี”
ศ.ดร. ศักรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม “หากประชาชนสามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะเป็นเงินเหลือเก็บอยู่ในชุมชนเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับชาติอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลทางวิชาการของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคมีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์น้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะยืนยันถึงความปลอดภัย องค์ประกอบ คุณสมบัติ ประสิทธิผลเบื้องต้น และยังขาดมาตรฐานในการผลิตเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย จึงเกิดข้อจำกัดในการบริโภค”
จากเหตุผลข้างต้น จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพ โดยการสนับสนุนทุนชุดโครงการวิจัยแก่สถาบันการศึกษา จากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช และ อย. โดย ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัยครั้งนี้ ว่า
สวทช. และ อย. ได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ม.เชียงใหม่ ม.นเรศวร ม.อุบลราชธานี ม.สงขลานครินทร์ ม.มหาสารคาม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.บูรพา เทคโนโลยีราชมงคลหันตรา อยุธยา และศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ของ อย. ซึ่งความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชนบท มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ พร้อมทำการวิจัยเพื่อขอรับรองสถานภาพทางกฎหมายควบคู่กันไป โดยองค์ความรู้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สาธารณชน การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ได้รับทราบในวงกว้าง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนใช้ประกอบการตัดสินใจบริโภคของผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกประเทศ ยึดหลักตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อความพอเพียงและการมีสุขภาพที่ยั่งยืนของประชาชนต่อไป"
ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการดังกล่าวได้แบ่งการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยของนักวิจัยในสถาบันต่าง ๆ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคซึ่งได้ดำเนินเสร็จสิ้นแล้วมาเผยแพร่แก่สาธารณชน เพื่อให้คำตอบในประเด็นต่าง ๆ อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ ภาคเช้า ได้แก่ ความเป็นมาและแนวทางวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณประโยชน์ ภาคบ่าย ได้แก่ การประยุกต์ใช้น้ำหมักชีวภาพในการดูแลสุขภาพ การใช้ในครัวเรือนและเวชสำอาง การใช้ในด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและผลกึ่งเรื้อรังของน้ำหมักชีวภาพ ตลอดจนการเปิดเวทีพิจารณ์ พร้อมตอบประเด็นปัญหาและข้อสงสัยต่าง ๆ แก่ผู้เข้าร่วมประชุม
อนึ่ง งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทและชุมชน หรือ Science and Technology for Rural and Community เป็นงานในสังกัดภายใต้ TMC เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเอง โดยใช้แนวคิดที่อาศัยปัญหาของชนบทเป็นโจทย์หลัก เพื่อศึกษาให้แน่ชัดว่า ชุมชนมีภูมิปัญญาอยู่ตรงไหน และต้องการงานวิจัยและพัฒนาที่เหมาะสมอย่างไร โดยมีพื้นที่ดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี สกลนคร และสุรินทร์ และกำลังขยายไปทางภาคเหนือบางจังหวัด โดยพันธกิจหลักในปัจจุบันเน้นดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนองต่อชุมชนเป็นหลัก เพื่อพัฒนาชุมชนในรูปแบบของโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต สู่การเป็นชุมชนวิทยาศาสตร์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.tmc.nstda.or.th/rural
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ Technology Management Center (TMC)
TMC จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลัก คือ การนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการสนับสนุนและให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร ส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองของภาคธุรกิจ สังคม และชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน
ภารกิจหลักที่สำคัญของ TMC ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
ข้อมูลเพิ่มเติม www.tmc.nstda.or.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย / คุณชนานันท์ คงธนาฤทธิ์ งานประชาสัมพันธ์ TMC
โทร.0-2564-7000 ต่อ 1478 หรือ 081-454-5087, 081-639-6122
อีเมล์ pr@tmc.nstda.or.th เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ