มรภ.สงขลา วิจัยกล้วยไม้ป่าหายาก

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2011 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นับวันพันธุ์กล้วยไม้ป่าจะหาได้ยากเต็มที ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำโดย ดร.สุวรรณี พรหมศิริ และคณะ จึงร่วมกันสำรวจและรวบรวมพันธุกรรมกล้วยไม้ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเปี่ยมคุณค่าทางเศรษฐกิจ นำมาเก็บรักษาสายพันธุ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ดร.สุวรรณี พรหมศิริ กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการศึกษาชนิดกล้วยไม้ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ในภาคใต้ นำมาปลูก ดูแลรักษา และอนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ในโรงเรือนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์กล้วยไม้ป่าหายาก และรวบรวมภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ป่า ส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์กล้วยไม้ป่า ให้เกิดขึ้นกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในการดำเนินการ ทีมวิจัยได้สำรวจและรวบรวมในพื้นที่ป่าภาคใต้ พบกล้วยไม้ป่าจำนวน 97 ชนิด 42 สกุล ในจำนวนนี้สกุลหวาย (Dendrobium) พบมากที่สุด จำนวน 23 ชนิด สกุลที่พบรองลงมา คือ สกุลสิงโต (Bulbophyllum) จำนวน 20 ชนิด สกุลที่พบเพียง 1 ชนิด มี 31 สกุล บางชนิดเป็นกล้วยไม้ป่าหายาก หลงเหลือในธรรมชาติน้อยมาก เช่น รองเท้านารีม่วงสงขลา (Paphiopedilum barbatum (Lindl.) Pfitzer) กะเรกะร่อน ชนิด A pale-flower form of Cymbidium finlaysonianum L. และ An albinistic-form of C. finlaysonianum L. ซิมบิเดียมคลอแรนทัม (C. chloranthum L.) เอื้องปากนกแก้ว (Dendrobium cruentum Rchb.f.) และอีกหลายชนิด การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีการบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ถิ่นที่อยู่อาศัย และการกระจายพันธุ์ กล้วยไม้ป่า โดยปลูกรักษาสายพันธุ์ไว้ในเรือนอนุรักษ์ และขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้หากล้วยไม้ป่า เพื่อให้ทราบถึงภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ป่า พบว่า ผู้ที่หากล้วยไม้ป่าเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริม จะไม่เข้าใจการเก็บกล้วยไม้ป่าเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่ผู้ที่หากล้วยไม้ป่าขายเป็นอาชีพหลักจะรู้วิธีเก็บที่ถูกต้องคือจะเลือกเก็บเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ ต้นเล็กจะปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไป และไม่เก็บต้นที่มีฝักเพื่อให้แตกขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ กิจกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น หลังจากที่ทำวิจัยเสร็จแล้ว ยังได้มีการจัดอบรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้กับผู้ที่สนใจ รวมไปจนถึงพ่อค้ากล้วยไม้ป่า และนำกล้วยไม้ป่าที่ได้จากการขยายพันธุ์กลับคืนสู่ป่า การทำวิจัยในเรื่องนี้ ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ การจัดกิจกรรมและโครงการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์กล้วยไม้ป่า ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีความตระหนักในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ