กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
นับจากปี 2543 ที่แนวคิดสมัชชาสุขภาพ (Health Assembly ) ได้รับการนำมาใช้ในสังคมไทย เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิด “สร้างนำซ่อม” เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของคนไทยใน 4 มิติ คือทางกาย ใจ สังคม และปัญญา รวมไปถึงมิติของคน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ต่างจากเดิมที่จำกัดเพียงมิติทางกายและใจ การเสริมสร้างสุขภาพตามแนวทางดังกล่าวถือได้ว่าประสบความสำเร็จและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2550 ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นระบบ ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่ผสานเข้ากับภาคประชาชนได้อย่างสอดคล้องและสมดุล
สมัชชาสุขภาพที่ปรากฏใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 นับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นเครื่องมือสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นการกำหนดนโยบายจากล่างขึ้นบน (Bottom-up Approach) ทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาควิชาการ/วิชาชีพ ตลอดจนภาคการเมือง/ราชการ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ประกอบกับกลไกขับเคลื่อนคือคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ โดยมีกระบวนการวางกรอบและกำหนดทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ อันนำไปสู่ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552” ตลอดจนพัฒนา “สมัชชาสุขภาพ” ให้เป็นกลไกของสังคม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ
อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2543 เป็นต้นมา ถือได้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่ดำเนินการใน 3 รูปแบบ อันประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีการขับเคลื่อนไปทั่วประเทศ ก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะจากข้อเสนอของภาคประชาชน อาทิ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ.2552 (สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช) นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพด้านอาหารปลอดภัย (สมัชชาสุขภาพจังหวัดน่าน) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาวะ ว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน (สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย) ทั้งนี้ โดยมีหลักการที่นำไปสู่ความสำเร็จประกอบด้วย
1. กลไกจัดการที่เป็นพหุภาคี
2. การจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ
3. การใช้ฐานความรู้ผสานเข้ากับฐานด้านจิตตปัญญา
4. ทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมกันเป็นไปอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่
5. มีประเด็นชัดเจน
6. มีโอกาสผลักดันไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในหลายช่องทาง
กล่าวได้ว่า ตลอด 1 ทศวรรษ ที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพได้ปรับปรุงกระบวนการที่เหมาะสม เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับจังหวัด การขยายเครือข่าย ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาวะ จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศในลำดับต้นๆ ของโลกที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพอย่างเป็นระบบ อีกทั้งกระบวนการสมัชชาสุขภาพยังสามารถเข้าไปเปลี่ยนนิยามความหมายของนโยบายสาธารณะจาก “ประกาศของรัฐ” มาสู่ “ทิศทางและความมุ่งหวังของชุมชนสังคม” ได้อย่างสมดุล
สอดคล้องกับที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวไว้ว่า สังคมไทยได้สะท้อนมุมมองถึงวิวัฒนาการของกระบวนการนโยบายสาธารณะในประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่ายังมีความล้าหลังในเชิงนโยบายส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะโรคพร่องนโยบายอย่างรุนแรง เนื่องจากนโยบายสาธารณะยังคงเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง รัฐบาลและภาคราชการ ที่ให้ความสำคัญกับมิติต่างๆ อย่างไม่สมดุล ดังนั้นการปฏิรูประบบสุขภาพในสังคมไทยโดยกระบวนการสมัชชาจึงเป็นวาระที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน “เนื่องจากสุขภาพหรือสุขภาวะเป็นเรื่องที่บูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด ทั้งเป็นเรื่องที่อยู่เลยพรมแดนทางการแพทย์และสาธารณสุขไปมาก”
จวบจนวันนี้ การขับเคลื่อนกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่ดำเนินมาครบ 1 ทศวรรษ จึงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถสร้างสังคมให้เดินไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการสมัชชาสุขภาพยังก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สังเคราะห์บทเรียน ตลอดจนการแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตจริงของผู้คนจากหลากหลายพื้นที่สังคมวัฒนธรรม