กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สวทช.
ด้วยข้อจำกัดของนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้ใช้เวลาในการทำความเข้าใจในเนื้อหามากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งปัจจุบัน ยังขาดสื่อการเรียนการสอนที่สนุกและเหมาะสมกับนักเรียนหูหนวกที่ทดแทนการได้ยินเสียง ทำให้โลกเงียบของคนหูหนวกได้เงียบลงไปทุกที ทั้งที่พวกเขามีศักยภาพและมันสมองในการเรียนรู้ไม่แพ้คนปกติ ฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับครูและนักเรียนผู้พิการทางการได้ยินกว่า 20 ชีวิต ในหัวข้อ “ท่องแดนมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิต” โดยนำเรื่องยากๆ ในเนื้อหาบทเรียนมาแปลงในรูปสื่อให้สนุก เข้าใจง่ายและเหมาะสมต่อผู้พิการทางการได้ยิน ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ออกแบบกิจกรรมฝึกประสาทสัมผัสที่เอื้อให้เด็กผู้พิการทางการได้ยินสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้สนุก และมีความเข้าใจในเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น โดยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เป็น 3 ฐาน ได้แก่ ฐานแรก คือ ตะลุยเมืองเซลล์ โดยจำลองสถานการณ์ให้นักเรียนรู้จักโครงสร้างและหน้าที่ของส่วนต่างๆ ภายในเซลล์ว่าทำงานอย่างไร โดยส่วนต่างๆ ภายในเซลล์เปรียบเสมือนกับเมืองที่มีพระราชาทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไลโซโซมเป็นทหารป้องกันประเทศ ไมโตคอนเดรียเป็นโรงไฟฟ้าผลิตพลังงานแจกจ่าย และไรโบโซมเป็นภัตตาคารปรุงอาหารรสเลิศ และอีอาร์ทำหน้าที่เป็นฟาร์มที่เป็นสถานที่ผลิตวัตถุดิบให้กับเมืองและส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยนักเรียนจะได้สนุกกับการปั้นแป้งโดว์จำลองเมืองเซลล์และเรียนรู้ทำงานของเซลล์ผ่านหน้าที่พลเมืองที่ดี
ฐานที่สอง คือ สร้างโครโมโซมจำลอง ด้วยการนำไหมพรมมาสร้างโครโมโซมเป็นคู่คล้ายกับปาท่องโก๋ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างโครโมโซมเพศหญิงกับเพศชาย และโรคชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความปกติของโครโมโซม และนำเข้าสู่กิจกรรมฐานที่สาม คือเรียนรู้การถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมผ่านดีเอ็นเอ โดยครูและนักเรียนหูหนวกได้ลงมือพับกระดาษให้แปลงร่างกลายโครงสร้างดีเอ็นเอที่มีลักษณะคล้ายบันไดเวียน
สำหรับความรู้สึกของตัวแทนนักเรียนผู้พิการทางการได้ยินภายหลังการร่วมกิจกรรม ด.ญ.รุ่งระวี แซ่ลิ้ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโสตศึกษานนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ชอบกิจกรรมพับกระดาษให้เป็นบันไดดีเอ็นเอมาก เพราะสนุกและทำให้เข้าใจได้ว่า โครงสร้างสามมิติของดีเอ็นเอเป็นอย่างไร
ด.ญ. จิราพัชร เพชรกรด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโสตศึกษานนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ชอบกิจกรรมสร้างโครโมโซมจำลอง ได้พันลวดกำมะหยี่ให้เป็นโครโมโซม และตื่นเต้นเมื่อได้ทดลองทำโมเดลจริงๆ สัมผัสได้ว่าโครโมโซมที่อยู่ในร่างกายของเรานั้นมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร
ด้าน อาจารย์บุญโฮม จันทร์สมดี โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อได้ร่วมทำกิจกรรม รู้สึกประทับใจกับทั้งสามกิจกรรมมาก เพราะสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้จริง เด็กได้เล่นและลงมือทำด้วยตนเอง ไอเดียที่อยากนำไปประยุกต์เพิ่มคือ อยากจัดแสดงละครเรื่องเซลล์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการฝึกอบรมไปใช้ คาดว่า น่าจะสนุกและเด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ดี
อาจารย์จารุวรรณ ศรีน่วม โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จะนำเทคนิคการปั้นแป้งโดว์ไปเป็นโมเดลไปใช้ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ และจะนำลวดกำมะหยี่เป็นวัสดุที่หาไม่ยาก คิดว่าจะนำไปต่อยอด โดยสร้างเป็นโมเดลโครโมโซมที่อธิบายความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ตลอดจนสร้างโมเดลโครโมโซมที่ผิดปกติเพื่ออธิบายปรากฏการณ์เกิดโรคที่เกิดจากความผิดปกติจากพันธุกรรม
อาจารย์ละเอียด อัมพวะมัต ล่ามสอนภาษามือและอาจารย์โรงเรียนโสตศึกษานนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า แววตาเด็กๆ ที่ตื่นเต้นระหว่างแปล ทำให้รู้สึกชื่นใจ และหวังว่า การเรียนรู้ในครั้งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็กได้เข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตและการเรียนระดับสูงต่อไปในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 02-5647000 ต่อ 71186 หรือ 77216