ศปภ. เขต ๒ สุพรรณบุรี ซ้อมแผนป้องกันระงับไฟป่า

ข่าวทั่วไป Wednesday June 15, 2011 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ปภ. ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากไฟป่าและหมอกควันระดับกลุ่มจังหวัด ในวันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ บ้านถ้ำหิน หมู่ ๕ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนในการซักซ้อมบุคลากรให้มีความชำนาญในการปฏิบัติการดับไฟป่า รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันไฟป่า และร่วมกันควบคุมดูแลมิให้ไฟลุกลามเข้าไปในป่า นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๒ สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ที่สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและหมอกควันสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๒ สุพรรณบุรี จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐมและราชบุรี ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากไฟป่าและหมอกควันระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๔ ในวันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ บ้านถ้ำหิน หมู่ ๕ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมแผนฯ แบ่งเป็น ๓ รูปแบบ ดังนี้ ๑.การฝึกซ้อมเฉพาะเจ้าหน้าที่ (Functional Exercise) เป็นการฝึกซ้อมขนาดเล็กที่เน้นเฉพาะภารกิจและหน้าที่ ๒.การฝึกซ้อมในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) โดยจำลองสถานการณ์ในการวิเคราะห์ วางแผนและวินิจฉัยสั่งการ ๓.การฝึกซ้อมแบบปฏิบัติการภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) โดยจำลองสถานการณ์จริงภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการซักซ้อมให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยมีความพร้อมและความชำนาญในการปฏิบัติการดับไฟป่า รวมถึงรับทราบปัญหาอุปสรรคและแนวทางการบริหารวิกฤติไฟป่าและหมอกควัน ตั้งแต่ระดับปกติ รุนแรงและขั้นวิกฤต เพื่อนำผลที่ได้มาปรับแผน มาตรการและแนวทางในการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ไฟป่าและหมอกควันอย่างเป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันไฟป่าและร่วมกันควบคุมดูแลมิให้ไฟลุกลามเข้าไปในป่า โดยทำหน้าที่เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและดูแลป่าไม้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสียจากสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ