เผยโจ๋ไทยไม่หวั่นภาพเตือนบนซองบุหรี่

ข่าวทั่วไป Tuesday May 29, 2007 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สวรส.
เผยมาตรการรัฐในการพิมพ์ภาพคำเตือนข้างซองบุหรี่ส่งผลให้สิงห์รมควันลดการสูบบุหรี่ลงได้เพียงหนึ่งในสาม ระบุภาพที่มีผลต่อการลดการสูบบุหรี่ คือ ภาพมะเร็งปอด ภาพเตือนเรื่องกลิ่นปาก และภาพถุงลมโป่งพอง ส่วนรูปที่เตือนว่าบุหรี่มีผลกระทบต่อผู้อื่น สูบแล้วแก่เร็ว พบว่าไม่มีผลต่อนักสูบ ผลวิจัยพบสถิติวัยรุ่นไทยสองในสามเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกก่อนอายุ 25 ปี และจะเริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ชี้คนสูบบุหรี่จะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไปถึง 22 ปี วอนเยาวชนไทยลด ละ เลิกสูบบุหรี่เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม นี้
ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน หรือวันละ 142 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ที่เริ่มสูบตั้งแต่วัยรุ่นและสูบเป็นประจำจะเสียชีวิตในวัยกลางคน และที่สำคัญคือจะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไปถึง 22 ปี ทั้งนี้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ขณะนี้วัยรุ่นไทยติดบุหรี่กว่า 500,000 คน และมีแนวโน้มที่จะสูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนอายุ 15 — 24 ปี พบว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ 25 ปี
ที่ผ่านมามีการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่หลายรูปแบบ โดยมาตรการหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้นคือการบังคับให้มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่มีตัวหนังสือขนาดเล็กว่า “การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” มาเป็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งเป็นภาพ 4 สี พร้อมข้อความตัวอักษร 6 ภาพ ได้แก่ ภาพควันบุหรี่ฆ่าคนตายได้ ควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ควันบุหรี่จะทำร้ายลูก สูบแล้วจะแก่เร็ว สูบแล้วจะเกิดกลิ่นปาก และสูบแล้วถุงลมพองตาย ด้วยหวังว่ามาตรการนี้จะกระตุ้นให้เกิดความกลัว รับรู้ความรุนแรงของโรคและรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค นำไปสู่แรงจูงใจในการป้องกันโรค และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในที่สุด
ผศ.ดร.สุนันทา โอศิริ ศูนย์จัดการงานวิจัยระบบสาธารณสุขภาคตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผู้ทำวิจัยเรื่องภาพคำเตือนบนซองบุหรี่กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เปิดเผยว่าจากการสำรวจนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สูบบุหรี่ เกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ พบว่าร้อยละ 61.7 คิดว่าภาพเตือนบนซองบุหรี่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 52.7 ให้เหตุผลว่าเห็นพิษภัยจากบุหรี่มากขึ้น และ ร้อยละ 47.3 ให้เหตุผลว่าเห็นภาพแล้วทำให้เกิดความกลัว ส่วนผู้ที่คิดว่าภาพเตือนบนซองบุหรี่ไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้มีจำนวน ร้อยละ 38.3 เนื่องจากภาพเตือนยังไม่น่ากลัวพอ เมื่อเห็นนานๆ แล้วเกิดความคุ้นเคย และบุหรี่บางยี่ห้อยังไม่มีภาพเตือน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าภาพเตือนบนซองบุหรี่ที่มีผลให้ลดการสูบบุหรี่มากที่สุด คือ ภาพควันบุหรี่ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ( ร้อยละ 39.2) รองลงมาคือสูบแล้วทำให้เกิดกลิ่นปาก (ร้อยละ 27.5) และสูบแล้วถุงลมพองตาย (ร้อยละ 20) ส่วนภาพเตือนบนซองบุหรี่ที่ไม่ทำให้เกิดการลดการสูบบุหรี่คือ ภาพควันบุหรี่ฆ่าคนตายได้ ภาพสูบแล้วแก่เร็ว และภาพควันบุหรี่จะทำร้ายลูก
ผศ.ดร.สุนันทา กล่าวต่อว่า แม้ภาพเตือนบนซองบุหรี่จะทำให้เกิดความน่ากลัว แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่มักมีทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงในการเห็นภาพ คือ การย้ายบุหรี่ไปใส่ซองอื่น การซื้อที่ครอบซองบุหรี่มาใส่ บางรายเปลี่ยนยี่ห้อในการสูบบุหรี่ เลือกซื้อภาพที่ไม่น่ากลัว หรือเอาสีระบายทับที่ซองบุหรี่ เป็นต้น จึงพบว่าภาพเตือนบนซองบุหรี่สามารถลดการสูบบุหรี่ได้เพียงร้อยละ 32.5 ของผู้สูบบุหรี่ เท่านั้น โดยลดอัตราการสูบลงเหลือ 1-7 มวน/วัน จากที่เคยสูบบุหรี่สูงสุด 15 มวน/วัน นอกจากนี้ การสำรวจกลุ่มนักศึกษาที่สูบบุหรี่ พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก เพราะยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง หรือไม่ได้พักอยู่กับครอบครัว แต่มักพักอาศัยอยู่ตามหอพัก ทั้งที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและในนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสูบบุหรี่ได้สะดวก เพราะหอพักส่วนใหญ่ไม่มีกฎห้ามสูบบุหรี่ในหอพัก
อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการที่จะเลิกสูบบุหรี่ ไม่เพียงแต่สร้างความน่ากลัวเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ พร้อมทั้งควรมีมาตรการเสริมอื่นๆ ได้แก่ งดการโฆษณา ณ จุดขาย และเพิ่มราคาบุหรี่ อีกทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการลดการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ยาก การลดจำนวนผู้เริ่มสูบบุหรี่รายใหม่จึงเป็นอีกหนทางหนึ่ง โดยต้องปลูกฝังค่านิยมและทำให้เห็นถึงอันตรายของบุหรี่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
//////////////////////////////////////
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวรส.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก มะเร็งปอด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ