“จัดการความรู้” ทางเลือก-ทางรอด วิกฤติครูไทย

ข่าวทั่วไป Friday February 9, 2007 17:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สคส.
ในภาวะที่สถานการณ์บ้านเมืองเร่งบริหารจัดการองค์กรกันอย่างสุดขั้ว แต่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยต่างหลงลืมที่จะพัฒนาชีวิตคนทำงานควบคู่ด้วย ทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เมื่อชีวิตการทำงานไม่มีความสุข ไม่เกิดแรงจูงใจ ก็ยากที่จะทำให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้
โครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) เปิดเผยข้อมูลปี 2549 สะท้อนภาพชีวิตครูไทยพบว่าครูภาคใต้รักอาชีพมากที่สุด ครูกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงมีหนี้สินน้อยที่สุดทว่าเจอปัญหาเด็กเกเรป่วนครูมากที่สุด แม้ข้อมูลจะระบุว่าหนี้สินดีครูขึ้น ซึ่งดูได้จากอัตราส่วนการหักเงินเดือนชำระหนี้ต่ำลง
แต่ยังพบว่าครูไทยเป็นอาชีพที่มีหนี้สินเฉลี่ยมากกว่าอาชีพอื่นๆ
นอกจากนี้ภาระงานของครูยังหนักและทำงานเกินหน้าที่ อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือครูกว่าครึ่งกลัวลูกลำบากไม่อยากให้ลูกเป็นครู จึงมีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการเสนอให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดสถานะทางการเงินเพื่อให้วิชาชีพครูเป็นอาชีพชั้นนำของสังคมก่อนจะสายเกินไป
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าโครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) กล่าวว่า ในยุคซึ่งความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นทุกนาทีการช่วยเหลือให้ครูสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ควรฝึกครูให้เป็นนักเรียนรู้ (Learner) สามารถเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม
โดยเฉพาะกลุ่มครูซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็ก แต่ปัญหาครูหลายเรื่องสามารถที่จะจัดการได้ หากมีการสร้างเงื่อนไขให้ผู้บริหารมีความเป็นผู้นำและมองเห็นความสำคัญของครู รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าถึงความรู้เพื่อเกิดการพัฒนาตนเองและพัฒนาเด็กได้อย่างรอบด้าน ซึ่งหลักของการจัดการความรู้หากสามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการทำงาน อาศัยหลักของการขยายความสำเร็จเล็กๆ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และต่อยอดความรู้อย่างไม่มีวันจบ น่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้บริหารสามารถนำไปบริหารจัดการด้านต่างๆในโรงเรียน และให้ชีวิตครูมีความสุขมากขึ้น
ตัวแบบการพัฒนาครูแบบอิงพื้นที่เป็นฐาน เป็นอีกแนวทางในการพัฒนาชีวิตครู โดยความร่วมมือของศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันรามจิตติ และสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา(สคบส.) ซึ่งเป็นตัวแบบที่เหมาะสมกับการพัฒนาครูที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ครูรายจังหวัด เริ่มดำเนินการโดยศึกษาและใช้ปัญหาหรือความสนใจของครูแต่ละคนเป็นฐาน(Problem-Based) ในโครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) โดยใช้พื้นที่โรงเรียนหรือพื้นที่ใกล้เคียงเป็นฐานในการพัฒนา เพื่อมิให้ครูต้องทิ้งภาระงานสอนหรือนักเรียนของตน (Site-Base,On-the Job Basis)
ในการร่วมกิจกรรมการพัฒนาเน้นความต่อเนื่องของการพัฒนาและความครอบคลุมกระบวนการเรียนรู้อย่างครบวงจร (Continuous and Comprehensive Learning Process) มีกระบวนการสร้างตัวแบบและการพัฒนาครู 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ครูมีความต้องการพัฒนาตนเอง รวมทั้งรู้ข้อมูลแหล่งบริการต่างๆ ระดับโรงเรียน สร้างเงื่อนไขการพัฒนาครูทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ ระดับเขตพื้นที่ สร้างเงื่อนไข แรงจูงใจและการสนับสนุนเชิงระบบที่เอื้อเครือข่ายกลุ่มโรงเรียน (School Cluster) ในการพัฒนาครูร่วมกัน
จากการดำเนินการพัฒนาตัวแบบที่เหมาะสมกับการพัฒนาครูที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ครูนั้นจะสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงระบบ ได้แก่ เครือข่ายกลุ่มโรงเรียนพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development School Cluster) ระบบข้อมูลพื้นที่เกี่ยวกับแหล่งบริการ Service Delivery Unit (SDU) และกลไกลสนับสนุนแรงจูงใจระดับโรงเรียน/เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว มีการพัฒนาตัวแบบที่เหมาะสมกับการพัฒนาครูที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ครูโดยกระบวนการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพครูแบบอิงโรงเรียนเป็นฐาน ในพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ภาคเหนือ (จังหวัดพิษณุโลก) ภาคกลาง (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดมหาสารคราม) และภาคใต้ (จังหวัดนครศรีธรรมราช) เพื่อพัฒนาครูในโรงเรียนที่ขาดความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ ด้านสื่อการสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การพัฒนาตนเองด้าน IT เทคนิคการคิดคำนวณ การจัดการความรู้ ตลอดจนกระบวนการจัดการเรียนการสอนด้านต่างๆ ที่ครูค้นพบปัญหาของตนเอง โดยมีกลุ่มครูพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการให้ความรู้ แนะนำและติดตามผลการช่วยเหลือเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์ปฤษณา ชนะวรรษ ครูโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เล่าว่า “มีประสบการณ์การช่วยเหลือเพื่อนครูและนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านครู ด้านการสอน และด้านผู้เรียน โดยอาศัยหลักเพื่อนช่วยเพื่อน ใช้ทุนทางสังคมเช่น วัฒนธรรมโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้องเพื่อวางรูปแบบด้านการเรียนการสอนให้มุ่งไปสู่มิติอื่นๆ ทำให้ครูที่ได้รับความช่วยเหลือมีความกระตือรือร้น และเติมเต็มแนวคิดการทำงานให้กัน สิ่งที่ช่วยเหลือครูและนักเรียนในโรงเรียนเล็กๆได้ คือ การพัฒนาการเรียนการสอน โดยการทำสื่อการสอนในเรื่อง IT และสอนการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง โดยใช้ครูและนักเรียนในโรงเรียนใหญ่มาช่วยสอนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผลที่ได้คือ ครูมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เห็นศักยภาพของตนเอง และเห็นคุณค่าของผู้อื่นมากขึ้น”
อาจารย์ปฤษณา อธิบายถึงความสำเร็จเล็กๆ พร้อมบอกต่อไปว่า สิ่งที่ควรคิดต่อ คือ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในด้านการพัฒนาของครูและนักเรียนต่อไป หากจะพัฒนาครูให้มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยกระบวนการการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management (Km) ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้ครูหันกลับมาตั้งหลักเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และนำประสบการณ์กลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดความรู้สู่การค้นพบทางออกในชีวิตที่ดีขึ้น ก็คงไม่ผิดนักที่ครูจะเรียนรู้ในสถานการณ์ชีวิตเช่นนี้ร่วมกัน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก ครูไทย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ