กทม.เตือนมาตรการฉุกเฉินเมื่อเกิดเพลิงไหม้

ข่าวทั่วไป Thursday July 19, 2007 17:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กทม.
แจ้งเตือนเจ้าของบ้านเรือนหรืออาคารแก้ไขกองวัสดุ อุปกรณ์กีดขวางทางเดิน วัสดุเป็นเชื้อเพลิง จัดให้มีระบบดับเพลิงเบื้องต้น หรือเปิดช่องทางฉีดน้ำเข้าตัวอาคารเพื่อดับไฟ รวมทั้งการติดตั้งเหล็กดัดให้เอื้อต่อการเปิดออกเพื่อหนีไฟได้ นอกนั้นต้องแจ้ง 199 โดยตรงเพื่อความรวดเร็ว ส่วนอาคารชุมนุมชนต้องซ้อมหนีไฟปีละ 2 ครั้ง
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ในระยะนี้มีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และหลายครั้งจะมีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้นโยบายเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายในเวลา 8 นาที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เนื่องจากการเกิดเหตุโดยเฉพาะเพลิงไหม้แต่ละครั้งมีปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว รวมถึงอุปสรรคในการหนีออกจากบ้านเรือนหรืออาคาร เช่นการกองวัสดุ อุปกรณ์กีดขวางทางเดิน วัสดุนั้นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ไม่มีระบบดับเพลิงเบื้องต้น หรือตั้งวางวัสดุกีดขวางทางฉีดน้ำเข้าตัวอาคารเพื่อดับไฟ และรวมทั้งการติดตั้งเหล็กดัดไม่เอื้อต่อการเปิดออกเพื่อหนีไฟได้ จึงก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับบ้านเรือนหรือตึกแถว หากมีการติดตั้งเหล็กดัดต้องสามารถเปิดได้จากภายในหรือกุญแจได้ทันทีที่เกิดเหตุ และทุกคนในบ้านหรืออาคารต้องทราบโดยทั่วกันว่าจะเปิดเหล็กดัดได้อย่างไร และทุกครัวเรือนจำเป็นต้องมีสัญญาณเตือนภัย เช่นสัญญาณวัดระดับความร้อน สัญญาณเตือนเมื่อเกิดควัน เมื่อเกิดเหตุจะได้มีสัญญาณเตือนให้ทุกคนได้ยินทั่วกัน ส่วนในบ้านหรืออาคารควรจัดให้มีไฟฉุกเฉินพร้อมทำงานทันทีที่ไฟฟ้าดับ เปิดไฟส่องสว่างให้ทุกคนสามารถออกจากบ้านหรืออาคารได้โดยสะดวก บริเวณบันใดหรือทางออก และที่สำคัญต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ทุกคนสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ เพื่อแก้ไขเบื้องต้นกรณีเกิดเพลิงไหม้ และเมื่อเกิดไฟไหม้ให้โทรศัพท์แจ้งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทันทีที่หมายเลข 199 เบอร์เดียว ซึ่งหากกดไปหมายเลขอื่นจะเกิดความล่าช้าในการประสานงานได้ และระหว่างรอให้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการเอาชีวิตรอดด้วยการเอาผ้าชุบน้ำให้เปียกอุดจมูกและคลุมหัวแล้วรีบออกมานอกบ้านหรืออาคารทันที
ดร.วัลลภ กล่าวอีกว่า สำหรับอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารชุมนุมชน ให้ผู้เข้าใช้อาคารนั้นๆ ต้องสังเกตทางหนีไฟด้วยตนเอง เช่นในโรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า โรงแรม ห้องอาหาร รวมทั้งสังเกตจุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงเพื่อใช้ได้ทันทีกรณีเกิดเหตุ ส่วนคอนโดมิเนียม หอพัก เกสเฮาส์ ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการเกิดเพลิงไหม้ หากมีกองวัสดุ สิ่งกีดขวางทางเดิน หรือประตูหนีไฟถูกล็อค ให้รีบแจ้งเจ้าของอาคารนั้นแก้ไข หากไม่มีการแก้ไขให้แจ้งสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเข้าไปดูแลและสั่งการให้แก้ไขต่อไป และสิ่งสำคัญอาคารแต่ละแห่งต้องมีการซ้อมหนีไฟอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งด้วย โดยสามารถประสานเจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้ความรู้และร่วมในการซ้อมได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ