สสส. หนุนผู้สูงวัย “ชะลอชรา” ด้วย “ชี่กง” ฟื้นฟูสุขภาพ “กาย-ใจ” สร้างสังคมผู้สูงอายุเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี จากความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่มีคุณประโยชน์และมีมาตรฐานความปลอดภัยมากกว่าในอดีต ทำให้ประชากรไทยอายุยืนยาวมากขึ้น จากเดิมที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 50 ปี ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 70 ปี ซึ่งทำให้สังคมไทยในปี 2011 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนมากกว่า 7.5 ล้านคน เห็นได้ชัดว่า “สังคมผู้สูงอายุ” กำลังขยายตัวขึ้นตามลำดับ ซึ่งประชากรในกลุ่มนี้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ก็ต่อเมื่อได้รับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเหมาะสม แต่จากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันพบว่า มีผู้สูงอายุจำนวนมากถูกทอดทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง หลายรายต้องรับภาระดูแลเด็กเล็กที่ลูกหลานนำมาฝากเลี้ยงไว้ สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้สูงอายุเกิดการเสื่อมถอยของร่างกาย ง่ายต่อการถูกรุมเร้าด้วยโรคภัยไข้เจ็บ กลายเป็นปัญหาที่จะกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงได้จัดทำ “โครงการการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการออกกำลังกายชี่กง 18 ท่า” ขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ “บ้านนี้มีสุข กำลัง 2” ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เกิดการรวมกลุ่มออกกำลังกายด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับช่วงวัย เกิดการเสริมสร้างอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างสัมพันธ์ และการรวมกลุ่มทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น กลายเป็นชุมชนผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ นำมาซึ่งการพึ่งพาอาศัยและไม่ทอดทิ้งกัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวมณฑกานติ์ เชื่อมชิต นักวิจัยประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โรคภัยไข้เจ็บเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตให้ลดต่ำลง โดยปกติผู้สูงอายุจะมีปัญหาสุขภาพตามช่วงวัย อันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ดังนั้นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น มีเกราะป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข นั่นคือ “การออกกำลังกาย” “จากการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ คือใช้การเคลื่อนไหวไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป การฝึกกายบริหารแบบชี่กง จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่เหนื่อยแรง ไม่สูญเสียพลังงานมาก และไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายนอก อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่ออวัยวะภายใน ทำให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว ไม่เป็นภาระของคนในครอบครัว” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบที่ดินของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำนวน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลตาลเดี่ยว ตำบลห้วยแห้ง และตำบลชำผักแพว พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 55 มีปัญหาสุขภาพ ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคประจำตัว อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคไข้ข้อ และโรคเบาหวาน ตามลำดับ ทางโครงการฯ จึงได้พัฒนาหลักสูตรจัดการอบรมการออกกำลังกายซี่กงให้แก่ผู้สูงวัยในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2553 โดยปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินงานมาสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการจัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจโดยไม่จำกัดช่วงวัย ทั้งหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ และนักส่งเสริมสุขภาพประจำท้องถิ่น จาก 3 ตำบลรวมทั้งสิ้น 30 คน เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น “ผู้นำสาธิตนำการออกกำลังกายชี่กง 18 ท่า” ซึ่งจะต้องสามารถออกกำลังกายชี่กง 18 ท่า ได้อย่างถูกต้องตรงตามมาตรฐานและสามารถนำไปสาธิตต่อให้แก่เพื่อนๆ ในชุมชนได้ นาวาตรีสุนทร วรรณบูรณ ครูผู้ฝึกสอนบริหารลมปราณเพื่อสุขภาพชี่กง ในวัย 70 ปี ที่ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสดใสเกินอายุ อธิบายว่า “ชี่กง” เป็นการออกกำลังกายแบบฝึกฝนพลังปราณ โดยใช้หลัก 3 ประสาน ได้แก่ การปรับกาย ให้เคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ไปตามลีลาและจังหวะดนตรี ไปพร้อมๆ กับการ ปรับการหายใจ ให้มีการหายใจเข้าออกตามธรรมชาติให้ลึกและยาว ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ช่วยให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในช่วงเวลาเดียวกันผู้สูงอายุจะได้รับการฝึก ปรับจิต โดยมุ่งสมาธิไปที่ทุกส่วนของร่างกาย รู้เนื้อรู้ตัวไปตามการเคลื่อนไหวด้วย “ผู้สูงอายุที่ได้ฝึกออกกำลังกายชี่กงอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ผลที่ได้รับคือแทบจะลืมแก่กันเลยทีเดียว เพราะชี่กงเป็นการฝึกพลังลมปราณที่ประสานกันระหว่างกาย การหายใจ และจิต ซึ่งจะช่วยให้เกิดภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจ และผู้ที่จะเป็นผู้นำสาธิตฯ ได้นั้น จะต้องมีวินัยและเคร่งครัดในการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ เพราะจะต้องไปสาธิตต่อให้แก่ผู้อื่นด้วย” ครูผู้ฝึกสอนกล่าว นางสะอาดศรี มณีเรือง วัย 49 ปี ผู้เข้าร่วมอบรมฯ จากตำบลตาลเดี่ยว เล่าว่า เข้าร่วมอบรมเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากอบรมครั้งแรกก็ได้นำกลับไปออกกำลังกายเองที่บ้าน แล้วรู้สึกถึงสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก สำหรับท่าชี่กงที่ชอบมากที่สุดคือ ท่ากระเรียนน้อยไหว้พระจันทร์ ช่วยบริหารส่วนขาและเข่าให้แข็งแรง ช่วยลดความดัน และคลายเครียดได้ “หลังจากได้รับการอบรม ก็นำไปสาธิตให้แก่เพื่อนๆ ในชุมชนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งทาง อบต.ตาลเดี่ยวได้สนับสนุนเรื่องสถานที่และเครื่องเสียงให้ และยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมาร่วมฝึกกันมากๆ เพราะเห็นว่าเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับคนสูงอายุ เมื่อมีสุขภาพที่ดี ก็ไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน ที่สำคัญยังช่วยชะลอความแก่ได้ด้วย” นางสะอาดศรี กล่าว ในขณะที่ผู้เข้าร่วมอบรมอีก 2 ท่าน คือ นางสาวสุมิตร พุทธสริน วัย 45 ปี จากตำบลชำผักแพว และ นางสำรวย ชัยมนตรา วัย 68 ปี จากตำบลห้วยแห้ง กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หลังจากออกกำลังกายชี่กง รู้สึกจิตใจผ่อนคลายและสดชื่นขึ้นมาก เพราะได้ไปรวมกลุ่มออกกำลังกายร่วมกับเพื่อนๆ ได้ไปมาหาสู่ พูดคุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบกันมากขึ้น จากเดิมที่เคยอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน เดี๋ยวนี้สังคมในชุมชนเริ่มมีรอยยิ้ม มีความปรองดองสามัคคีกันมากขึ้น กลายเป็นความอบอุ่นและไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอย่างที่ผ่านมา “นอกจากประโยชน์ในด้านสุขภาพแล้ว การออกกำลังกายชี่กง 18 ท่า ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ได้ออกมาพบปะพูดคุยกัน ผู้สูงวัยได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เด็กๆ ที่มากับผู้ใหญ่ ก็ยังได้ฝึกทักษะการเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน เกิดเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม และในขั้นตอนต่อจากนี้คือการผลักดันให้การออกกำลังกายชี่กงได้กลายเป็นวัฒนธรรมชุมชน เกิดการฝึกปฏิบัติซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นวิถีการสร้างเสริมสุขภาพประจำชุมชนที่ยั่งยืนตลอดไป” นางสาวมณฑกานติ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ