สสส. หนุนชุมชนต้นแบบลดภาวะ “โลกร้อน” ชาว “แม่ยวม”ร่วมใจอนุรักษ์ “ดิน-น้ำ-ป่า”

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี “ภาวะโลกร้อน” หมายถึงการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนผิวโลกสูงขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงต่างๆ ของมนุษย์ ได้ดูดซึมความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ในชั้นบรรยากาศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อากาศร้อนมากขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว และพายุที่รุนแรงมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นการเพิ่มจำนวนของมนุษย์ ระบบทุนนิยมที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้คน รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยขาดความยั้งคิด ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่ติดกับแนวเขตผืนป่าอนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติสาละวิน ที่ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประกอบอาชีพโดยพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่า ด้วยความพอเพียงมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่เข้ามา ผืนป่าก็ถูกบุกรุกทำลายเพื่อการค้าและขยายพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีในการผลิตจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์อย่างรุนแรงโดยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาทั้งอากาศที่ร้อนขึ้น พายุฤดูร้อน น้ำท่วม หรือแผ่นดินถล่ม หากปล่อยทิ้งไว้ปัญหาก็จะลุกลามส่งผลกระทบต่อชุมชนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ทาง องค์กรพัฒนาและส่งเสริมงานบริการเพื่อสังคม (อพส.) จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อน” ขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และระบบการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาวะของชุมชนอย่างยั่นยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายเรืองศักดิ์ ชมพูพวง ประธาน อพส. และหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ปัญหาโลกร้อนหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวและเป็นเรื่องใหญ่ที่เกินว่าใครจะทำได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วสิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้จากตัวของเราเอง โดยทางโครงการฯได้เข้าไปจุดประกายความคิดให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญของปัญหา และร่วมกันปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง “สภาพอากาศในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าหนาวก็หนาวมาก ร้อนก็ร้อนมาก ฝนตกก็ตกมาก เมื่อนำปัญหาไปพูดคุยกับชุมชนก็เกิดกระบวนการที่ช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร เริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ปลูกจิตสำนึก และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ประธาน อพส.กล่าว โดยโครงการนี้ได้ดำเนินงานในพื้นที่ 7 หมู่บ้านของตำบลแม่ยวมประกอบไปด้วย บ้านน้ำดิบ, บ้านห้วยวอก, บ้านทุ่งแพม, บ้านคะปวง, บ้านห้วยบง, บ้านแพะคะปวง และบ้านจอมกิตติ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบนำร่องในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อนโดยการมีส่วนรวมของชุมชน โดยเน้นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนัก ผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนพูดคุยและกิจกรรมต่างๆ อาทิ การปลูกป่า ทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกต้นไม้ในบ้านเรือน ปลูกไม้ไผ่แทนรั้วเพื่อใช้ประโยชน์ ลดการใช้ถุงพลาสติก ลดการเผาป่า เผาหญ้า ลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกฯลฯ จนเกิดกระแสการตื่นตัวในชุมชน นายศร ศรีวิชัย อายุ 61 ปี แกนนำชาวบ้านเล่าว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกคนได้ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ และหาแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน “ในเรื่องของป่าจะเน้นให้คนในพื้นที่ร่วมมือกันช่วยกันดูแล ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ห้ามล่าสัตว์ ส่วนในเรื่องทรัพยากรน้ำนั้น ได้มีการสร้างฝายชะลอน้ำ มีโครงการจัดทำน้ำประปาบนภูเขา ความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเลยก็คือ สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น มีน้ำไว้ใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี” ลุงศรกล่าว ด้าน นางหวัน กาวรรณ์ อายุ 59 ปี ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากมีโครงการนี้เข้ามาก็คือเรื่องความสามัคคีที่เกิดขึ้นจากการที่ทุกทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน “นอกเหนือไปจากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในชุมชนของเราดีขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ดีขึ้น ทุกๆ เดือนเราจะมีการประชุมกัน พูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้ไขปัญหา ติดตามความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมต่างเพื่อช่วยกันหาหนทางในการช่วยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและช่วยกันลดภาวะโลกร้อน” นางหวันกล่าว “ชาวบ้านทุกคนมีความตั้งใจที่จะมาทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราทำงานมาหลายปี ความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ก็คือ ความชุ่มชื้นของป่า ต้นไม้เจริญงอกงามเขียวขจีแผ่กิ่งก้านสาขาให้พวกเราได้เห็น ความแห้งแล้งลดน้อยลง มีน้ำไว้กินไว้ใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งถ้าแต่ละคนมีจิตสำนึกที่ดีแบบนี้ ชุมชนของเราก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนแน่นอน” นายวสันต์ กันคำ อายุ 62 ปี ชาวบ้านอีกรายระบุ นายยุทธนา ศรีเงินงาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน กล่าวว่า เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควรเกิดจากชุมชนในพื้นที่ เพราะเขาเกิด อยู่ และตายที่นี่ ดังนั้นกระบวนการเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องให้ชุมชนเป็นผู้คิดว่าแต่ละชุมชนต้องการอะไร เพราะปัญหาแต่ละหมู่บ้านไม่เหมือนกัน “กระบวนการจัดการพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้านมีส่วนสำคัญมาก เพราะเมื่อมีปัญหาชุมชนรอบๆ อุทยานฯ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ทั้งน้ำป่า หมอกควัน ที่ทำกินเสื่อมโทรม ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ดังนั้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนถือเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งถ้าเราสามารถสร้างกระบวนการของหมู่บ้านทั้งรอบในและรอบนอกให้เข้มแข็ง มีจิตสำนึกอนุรักษ์ ก็คิดว่ากระบวนการลักลอบทำผิดต่างๆ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกพื้นที่ก็จะลดน้อยลงไปเองโดยกระบวนการของชุมชน” หัวหน้าอุทยานฯ ระบุ “ปัจจุบันเรามีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7 หมู่บ้านจากทั้งหมด 13 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านจอมกิตติเป็นชุมชนต้นแบบ แต่ในปีหน้าเราตั้งเป้าว่าจะขยายพื้นที่ออกไปให้ครอบคลุมทั้งตำบล และพยายามผลักดันให้องค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติถูกบรรจุเข้าไปเป็นนโยบายของท้องถิ่น ในทุกๆ ชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่ป่า แล้วก็จะขยายไปในระดับอำเภอ และในระดับจังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลดปัญหาโลกร้อนในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน” นายเรืองศักดิ์กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ