ชาวทับพริก “ปฏิวัติชีวิต” ด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” ใช้เกษตรอินทรีย์เสริมสุขภาวะ สร้างภูมิคุ้มกันชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี ตำบลทับพริกเป็นชุมชนตะเข็บชายแดน ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดโรงเกลืออันเป็นจุดศูนย์กลางการค้าชายแดน แม้จะมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานค่อนข้างครบถ้วน และมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่ได้มาตรฐาน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรยังมีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องและการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ขณะเดียวกันยังพบปัญหาสุขภาพของเยาวชนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด เพราะพื้นที่ตั้งอยู่ห่างแนวเขตประเทศกัมพูชาเพียง 500 เมตรเท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก จึงได้ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก และแกนนำเกษตรกรในพื้นที่ จัดทำโครงการ “ร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุภาพดี มีการเก็บออม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายวิเชียร เที่ยงธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับพริก หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ทับพริกเป็นตำบลเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 800 ครัวเรือน แม้จะเป็นตำบลที่อยู่ใกล้ตลาดโรงเกลือซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน มีถนนตัดผ่านไปสู่อีกอำเภอหนึ่ง แต่ประชาชนที่เจ็บป่วยและจำเป็นต้องเดินทางไปรับการรักษาในตัวเมืองกลับพบแต่ความลำบาก เพราะในพื้นที่ไม่มีรถโดยสารประจำทางให้บริการแม้แต่คันเดียว ผู้ป่วยที่ฐานะยากจนต้องเสียเงินเหมารถเข้าตัวจังหวัดสูงถึง 800 บาทต่อเที่ยว บ้างต้องใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ “เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเบื้องต้น อบต.ทับพริก ได้จัดหารถรับส่งไว้บริการกรณีเจ็บป่วยเฉียบพลันและผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรับยาสม่ำเสมอโดยไม่คิดมูลค่า แต่ในสถานะที่เป็นเพียงตำบลเล็กๆ จึงมีงบประมาณเพื่อการดูแลและพัฒนาท้องถิ่นไม่มากนัก การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมีแต่จะเสียงบประมาณไปอย่างไร้คุณค่า โครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียงฯ จึงเป็นโครงการหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการสุขภาพตำบลทับพริก ที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันแก่สุขภาพกาย สุขภาพใจและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว ทางด้าน นายวิชิต คำไกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก กล่าวว่า ประชากรของตำบลทับพริกมีประมาณ 3,500 คน จากการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคประจำปีพบว่าเกษตรกรกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มีสารเคมีตกค้างในเลือดในระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิต บ่งชี้ถึงสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่สูงเป็นอับดับ 1 รองลงมาคือโรคหัวใจและเบาหวาน ทั้งหมดนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้สารเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยขจัดปัญหาสุขภาพได้ “การตรวจเลือดและชี้ให้เห็นถึงระดับสารเคมีในเลือดที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ เป็นชนวนที่จะปลุกกระแสให้เกษตรกรตื่นตระหนกกับภัยสุขภาพ จนอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การลด ละ เลิกใช้สารเคมี เพราะไม่ว่าใครก็กลัวตายด้วยกันทั้งนั้น การนำเกษตรกรเข้าสู่โครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมสร้างบ้านสะอาด เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในรั้วบ้านของตนเองก่อน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองในครัวเรือนอย่างน้อย 5 ชนิด พร้อมทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั้งห้องนอน ห้องน้ำ กำจัดลูกน้ำยุงลาย และจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีความน่าอยู่” นายวิชิตอธิบาย ขั้นตอนต่อมาของการนำพาเกษตรกรเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว ด้วยการอบรมสร้างความเข้าใจในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยร่วมกับเกษตรกรแกนนำจัดทำ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน” จำนวน 2 แห่ง ที่บ้านทับพริกและบ้านคลองหว้าเพื่อเป็นศูนย์สาธิตการทำเกษตรอินทรีย์เชิงประจักษ์ ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจอย่างไม่หวงวิชา และสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ทันที นายอำพันธ์ พึ่งพา เกษตรกรแกนนำตำบลทับพริก หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองหว้า อธิบายว่า ในศูนย์เรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ 14 ไร่แห่งนี้ มีลักษณะเป็นไร่อินทรีย์แบบสวนผสมที่ไม่เน้นปลูกพืชเศรษฐกิจราคาแพง แต่เน้นการปลูกพืชที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ชีวิต สร้างรายได้หมุนเวียนแก่ครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ “การปลูกพืชล้มลุกอย่างเผือก มะเขือพวง มะเขือเปราะ จะช่วยให้เกิดรายได้หมุนเวียนในแต่ละวันสม่ำเสมอ ในขณะที่การเลี้ยงหมูและวัวเพื่อขายลูกทำให้เกิดรายได้รายเดือน ส่วนการปลูกไม้บำนาญ เช่น เงาะ ลองกอง ต้นสักและต้นกฤษณาจะเป็นรายได้ในวัยปลดเกษียณ และเป็นมรดกให้ลูกหลาน ที่สวนแห่งนี้ผ่านการทดลองทำมานานกว่า 16 ปี จนประสบความสำเร็จก่อนจะถ่ายทอดต่อให้แก่ผู้ที่สนใจ เพราะจะต้องทำให้เห็นว่าจะมีรายได้จากแต่ละส่วนเท่าไรบ้างเพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่การทำเกษตรอินทรีย์ให้ประสบความสำเร็จ คนทำจะต้องมีใจที่ทุ่มเทและฝักใฝ่ในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ไม่ดูถูกความพอเพียง” นายอำพันธ์ระบุ นอกจากศูนย์เรียนรู้ชุมชน ทางโครงการฯ ยังได้ร่วมกับ โรงเรียนวังสระปทุม ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาประจำตำบลทับพริก ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จัดการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียน โดยการพัฒนาหลักสูตรแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาอาชีพให้แก่นักเรียนด้วย นายวิชิตยังกว่าอีกกล่าวว่า การให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับชุมชน ทำให้ชุมชนได้ร่วมกันเฝ้าระวังให้ลูกหลานอยู่ห่างไกลจากอบายมุขที่ชั่วร้ายโดยเฉพาะยาเสพติด ในรายที่หลงผิดก็จะได้รับการชักจูงเข้าสู่กระบวนการ ‘ชุมชนบำบัด’ โดยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะสอดแทรกปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม เป็นการฝังภูมิคุ้มกันให้อยู่คู่กับจิตใจของเยาวชน เมื่อเติบโตและก้าวไปสู่สังคมใหม่ ก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคม และดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย “เราคาดหวังว่าเมื่อโครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จ ชาวตำบลทับพริกจะมีสุขภาวะที่ดี ไร้โรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขจากประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง และในชุมชนจะต้องมีระบบเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมั่นใจได้ว่าลูกหลานที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีจะภูมิคุ้มกันที่ชุมชนช่วยกันสร้าง เป็นเกราะป้องกันภัยและอบายมุขที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม” นายวิชิตกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ