ปัญญาสมาพันธ์ฯ เผยผลวิจัยภัยไซเบอร์ชิ้นล่าสุด พบคนเล่นเน็ตส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมายคอมพ์และแหล่งร้องเรียน

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 19, 2011 14:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ. ซีพี ออลล์ จัดแถลงข่าวในรูปแบบเสวนาพิเศษหัวข้อ “รู้เท่าทันกฎหมาย ชนะภัยไซเบอร์” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดเรื่อง “ภัยไซเบอร์: การรับรู้และความเข้าใจของประชาชน เกี่ยวกับกฎหมาย และหน่วยงานที่รับผิดชอบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พ.ต.อ. สมพร แดงดี ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมด้วยคุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.pantip.com และ ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยงานแถลงข่าวจัดขึ้น ณ อาคารสีบุญเรือง โดยมี คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ พิธีกรดังเป็นผู้ดำเนินรายการ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการศึกษาถึงการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลภัยทางไซเบอร์ และนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางให้แก่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนารูปแบบในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 2,000 คนที่เคยใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษาสูงสุด อาชีพและรายได้เฉลี่ยต่อเดือน โดยใช้แบบสอบถามที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.ข้อมูลทางด้านประชากรศาสตร์ 2.พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต 3.การรับรู้เกี่ยวกับกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบและผลงานทางด้านการดูแลภัยทางไซเบอร์ 4.ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบและผลงานทางด้านการดูแลภัยทางไซเบอร์ โดยมุ่งศึกษาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ได้แก่ อาชญากรรมประเภทที่เกิดกับคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ เช่น การแพร่ไวรัส และอาชญากรรมประเภทใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและคณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ส่งผลต่อปัญหาด้านอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลคดีอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2550 ถึงเดือน กรกฎาคม 2553 พบว่าการดำเนินคดีตามกฎหมาย มีเพียง 185 คดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งอาจเกิดจากการยอมความกันในขั้นสอบสวนหรือผู้ตกเป็นเหยื่อที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงไม่ทราบขั้นตอนในการดำเนินการเมื่อตกเป็นเหยื่อ ปัญญาสมาพันธ์ฯ ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เชิงวิชาการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม จึงเล็งเห็นความจำเป็นของการศึกษาถึงการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องภัยไซเบอร์โดยมีเป้าหมายในการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปเป็นแนวทางให้แก่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนารูปแบบในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น” จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน ๆ ละประมาณ 1-2 ชั่วโมง สถานที่ใช้มากที่สุดคือที่บ้าน ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยถูกกระทำจากภัยทางไซเบอร์นัก แต่สำหรับผู้ที่ถูกกระทำแล้ว พฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุดคือได้รับอีเมลล์โฆษณาขายสินค้าหรือชักชวนทำงานจากบุคคลที่ไม่รู้จัก รองลงมาคือ ได้รับไวรัสทางอีเมลล์หรือจากการเปิดเว็บไซต์ และถูกใช้คำพูดไม่สุภาพ หมิ่นประมาททางอีเมลล์ เว็บบอร์ดหรือสังคมออนไลน์ ส่วนการดำเนินการเพื่อเอาผิด กลับพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ดำเนินการใด ๆ กับผู้กระทำความผิดเลย รองลงมาคือเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านสังคมออนไลน์และผู้ดูแล ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรู้สึกเข้าถึงได้มากกว่า นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า บทลงโทษของผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นสมควรทั้งถูกจำคุกและปรับเงินมากที่สุดถึงร้อยละ 62 โดยร้อยละ 42.6 ตอบว่ารู้สึกกลัวที่จะกระทำผิด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มที่รู้สึกว่ากลัวจะตกเป็นเหยื่อที่มีมากถึงร้อยละ 58.3 และส่วนใหญ่ตอบต้องการให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลและป้องกันภัยทางไซเบอร์ ขณะที่คำถาม หากโดนกระทำผิดทางอินเทอร์เน็ตสามารถเรียกร้องได้ที่ไหนกับใคร พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.1 ทราบว่าร้องเรียนได้แต่ไม่ทราบว่าจะต้องร้องเรียนที่ไหนกับใคร รองลงมาร้อยละ 34.0 ตอบว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่าร้องเรียนได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 ไม่ทราบมาก่อนว่ามีกฎหมายนี้ ราวร้อยละ 35.9 ตอบว่าทราบว่ามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่ไม่เคยอ่าน มีร้อยละ 22 ที่เคยอ่านแต่ไม่เข้าใจในบางประเด็น “ผลการศึกษาตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการกระทำผิด หรือเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปีเหล่านี้ยังมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับน้อย ในขณะที่ทุกกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 68.4 ตอบสอดคล้องว่าพระราชบัญญัติสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับน้อยที่สุดถึงปานกลาง และอีกร้อยละ 12.4 เห็นว่าพระราชบัญญัติไม่สามารถป้องกันปัญหาได้ นอกจากนี้ แนวทางในการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและสร้างการเข้าถึงของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่า 1.ควรจัดให้มีสายด่วนร้องทุกข์ เว็บไซต์หรือหน่วยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สามารถให้คำปรึกษา ร้องเรียน หรือแจ้งความการกระทำผิดทางออนไลน์ให้บริการ 24 ชั่วโมง 2.จัดทำกิจกรรมหรือโครงการที่เผยแพร่ความรู้ เพื่อสร้างสามัญสำนึกและปลูกฝังจริยธรรมในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์และสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชน 3.ควรตั้งหน่วยงานคุ้มครองประชาชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากภัยไซเบอร์ ให้มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย แจ้งเหตุ เตือนภัยหรือรับเรื่องร้องเรียนเมื่อพบเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในโลกไซเบอร์ โดยรับสมัคร “อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยจากไซเบอร์” จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนและประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกันเอง” ดร. เสาวณีย์ กล่าวสรุป ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (The Wisdom Society for Public Opinion Research of Thailand: WPORT) คือ กลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม และสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ รวมตัวกันเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสาธารณะที่น่าเชื่อถือ โดยความสนับสนุนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wport.org สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด คุณอาร์โนลด์ ทวีเพ็ชร คุณศุภมาศ พูลสวัสดิ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ