สภาหอการค้าไทยจับมือสสว. ติวเข้มกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ เตรียมความพร้อมรุก SMEs รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2011 09:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--คอร์แอนด์พีค สภาหอการค้าไทยจับมือสสว. ติวเข้มกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่เตรียมความพร้อมรุก SMEs รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเร่งจัดงาน "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 2)" สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จัดโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สู่เส้นทางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนใหม่ (CLMV)” พร้อมช่วยแนะแนวให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ทั้ง เวียตนาม ลาว กัมพูชาและพม่า รองรับการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดย ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2554 เวลา 08.30-16.30 น. นี้ จะจัดงานเสวนา เรื่อง "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 2)" ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี กรุงเทพฯ นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการรวมตัวกันเป็นประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ว่า ในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสร้างความตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีการพัฒนาและสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ซึ่งปี 2553 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 600 คน โดยในปีนี้นอกจากจะเน้นสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังเข้าไปมีบทบาทนการสร้างความพร้อมให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ซึ่ง ประกอบด้วย เวียตนาม ลาว กัมพูชาและพม่า จึงได้จัดโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สู่เส้นทางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนใหม่ (CLMV)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมการอบรมและส่งเสริมให้เกิดฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพื่อนำไปสู่อำนาจต่อรองกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ด้วยการหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในอาเซียน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมและมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในทุก ๆ ด้าน นายดุสิตกล่าวว่า กลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์) นับเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการพัฒนา และที่สำคัญที่สุดกลุ่มประเทศดังกล่าว ยังเป็นกลุ่มประเทศที่ขณะนี้ได้รับความสนใจจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ในการสร้างฐานการผลิตสินค้าของประเทศของตน และด้วยข้อตกลงการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเป็นตลาดเดียวกันและฐานการผลิตร่วมกันในปี 2558 ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องขยายฐานการผลิตและการลงทุนไปสู่กลุ่มประเทศดังกล่าวเพื่อสร้างศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศสู่การเข้าร่วมเป็นประชากรอาเซียนในอนาคต ในด้านการลงทุน นับเป็นประเด็นสำคัญในการขยายตลาดและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ แต่ในทางปฎิบัตินั้นการลงทุนมีอุปสรรคและขั้นตอนค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาด้านกฎหมายและกฎระเบียบในแต่ละประเทศ ข้อจำกัดด้านการลงทุน รวมไปถึงความแตกต่างกันของวัฒนธรรมประเพณี ชนชาติและศาสนา ที่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในการลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนาและให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการลงทุนและประกอบธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ให้ทราบถึงลู่ทางการลงทุน พื้นฐานทางวัฒนธรรม ประเพณีรวมทั้งวิธีการติดต่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.กล่าวว่า ในปี 2558 ประเทศไทยและประเทศสมาชิกของอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างสมบูรณ์ ผ่านแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่ประกอบด้วย การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การพัฒนาที่เท่าเทียมกัน และการเชื่อมโยงกับตลาดโลก แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายในประเทศไทย ยังขาดความตื่นตัว ทำให้สสว. ต้องผลักดันให้เอสเอ็มอีในทุกภาคส่วน ได้หันมามองไปข้างหน้า เพื่อที่จะเตรียมตัวในการวางแผนกันแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนและแข่งขันกับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยอย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนกว่า 2.9 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด โดยอยู่ในภาคการผลิต จำนวน 545,098 กิจการ ภาคการค้าและซ่อมบำรุง จำนวน 1,383,391 กิจการ และภาคบริการ จำนวน 983,610 กิจการ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.8 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือ GDP SMEs ถึง 3.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.1 ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ประกอบเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในขณะนี้ในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างทั่วถึง ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเป็น AEC ด้วยการขยายการค้า การลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน และประเทศคู่เจรจากับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพอย่างเร่งด่วนและเตรียมรองรับกับการเปิดตลาดการค้าเสรี ต้องมีการผลิตสินค้าให้ตรงกับมาตรฐานสากล และพร้อมรับที่จะมีกติกาทางการค้าที่เปลี่ยนแปลง โดยทุกอย่างจะไร้พรมแดนเสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน โดย ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2554 นี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะจัดงานเสวนา เรื่อง "AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 2)" ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี กรุงเทพฯ สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์บริษัทคอร์แอนด์พีค จำกัด โทรศัพท์ 02-439-4600 ต่อ 8202 อีเมล์ : Tanasaku@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ