คิงส์ตัน ซี ฮาว อุย ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม บำบัดพาร์กินสัน ด้วยการฝังเข็ม

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2011 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--พี อาร์ เอ ดี คอมมูนิเคชั่น โรคพาร์กินสัน เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย มักจะพบมากในผู้สูงอายุ วัย 50-60 ปีขึ้นไป เกิดจากการเสียสมดุลของสารโดปามีนในสมอง โดยเซลล์สมองส่วนที่สร้างโดปามีนถูกทำลายไปมากกว่าร้อยละ 80 โดปามีนเป็นสารเคมีในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากขาดโดปามีนในสมอง จะทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ อาการของโรคพาร์กินสัน จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทเด่นชัด คือ อาการสั่น โดยอาการสั่นมักเกิดขณะที่อยู่เฉยๆ และจะสั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ เกิดกับมือข้างใดข้างหนึ่ง อาการเกร็ง มักมีอาการแข็งตึงของแขนขา และลำตัว ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก และอาการเคลื่อนไหวช้า ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืน นั่ง หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ก็ช้าลงไปจากเดิม ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเช่นเคย สังเกตได้ว่าแขนไม่แกว่ง และแขนขาไม่มีแรง ในศาสตร์ของแพทย์แผนจีน ให้ชื่อโรคนี้ว่า “อาการเกร็ง” อันเกิดจากความพร่องของไตและหยินของตับ ร่วมกับการเกิดลมภายใน ทำให้เกิดอาการสั่น และเกร็ง หรือเกิดจากการดื่มสุราและรับประทานยาที่ไปทำลายตับ รวมทั้งผู้ที่มีภาวะเสมหะและเลือดอุดกั้นในเส้นลมปราณ ถ้าเป็นที่ไต ก็จะมีแยกออกมาเป็น หยินพร่อง หยางพร่อง หรือเป็นหยินหยางพร่อง การสังเกตอาการคนที่หยินพร่องคือ นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท สำหรับคนที่หยางพร่อง คือ มือเท้าเย็น เท้าไม่มีแรง ดร.คิงส์ตัน ซี ฮาว อุย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็ม ได้กล่าวถึงการรักษาแบบแพทย์แผนจีนด้วยการฝังเข็มว่า ในการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการฝังเข็มนั้นเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง ถ้าเริ่มเป็นโอกาสที่จะควบคุมอาการไม่ให้ขยายตัวเร็วก็ยิ่งมีมาก ในการรักษาจะเริ่มจากการบำรุงไตและตับ โดยจะเน้นไปที่การบำรุงส่วนที่เป็นหยิน กำจัดเสมหะที่สะสมอยู่ภายใน สลายการคั่งของเลือด และสงบลมภายใน และการรักษาด้วยการฝังเข็มนั้น จะช่วยกระตุ้นและปรับระบบหยินหยางให้ดียิ่งขึ้น จุดที่ฝังเข็มส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่ศีรษะ เท้า หลังและคอ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรจีนเพื่อช่วยในการรักษาและช่วยให้ร่างกายปรับสภาพสมดุลทำให้หยินหยางดีขึ้นอีกด้วย ผลการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มและรับประทานยาสมุนไพรควบคู่กันไปจะใช้ระยะเวลาการรักษาประมาณ 3-6 เดือน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น อาการสั่นลดลง และช่วยเหลือตนเองได้ดีขึ้น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด และไขมันสูง รับประทานอาหารที่ช่วยทำให้การขับถ่ายดีขึ้น รวมทั้งควรการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัด เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ฝึกการทรงตัว โดยการฝึกพลังจี่กงเพื่อปรับหยินหยางให้สมดุล สิ่งเหล่านี้ ยิ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ