บางปะกง...โรงพยาบาลสีลูกกวาด ฟื้นฟูกาย-ใจผู้ป่วยด้วย “ไทเก็ก”

ข่าวทั่วไป Wednesday November 21, 2007 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--โรงพยาบาลบางปะกง
“ชมพู เหลือง ฟ้า ครีม” คือสีสันอาคารแต่ละหลังของโรงพยาบาลบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่สร้างความสะดุดตาให้กับผู้พบเห็นว่าใช่โรงพยาบาลแน่หรือ? คำตอบจาก นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยืนยันว่าใช่และบอกว่า ผู้มาใช้บริการเคยพูดเล่น ๆ ว่าดูเหมือนสีลูกกวาด ซึ่งก็ดีและไม่ได้ผิดระเบียบอะไร เพราะโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องมีแต่สีขาวเท่านั้น และความจริงการใช้สีก็มีผลต่ออารมณ์และจิตใจผู้พบเห็นและยิ่งผู้มาโรงพยาบาลคือผู้ป่วยและคนที่อยู่ในโรงพยาบาลก็ต้องทำงานกับความทุกข์ ความคาดหวัง การสร้างสีสันในโรงพยาบาลก็น่าจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากจะปรับปรุงสีสันของโรงพยาบาลให้ผู้รับบริการรู้สึกสดใสตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่โรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลบางปะกงยังมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่หลากหลาย เช่นการนำเวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด แพทย์ทางเลือกในด้านต่างๆ อาทิ แพทย์แผนไทย การฝังเข็ม โยคะ การออกกำลังกาย ยางยืด ยืดเหยียด รวมถึงแอโรบิก โดยล่าสุดมีการนำศาสตร์ตะวันออก “ไทเก๊ก” มาใช้ในผู้ป่วย ซึ่งนอกจากจะฟื้นฟูสุขภาพทางกายของคนไข้แล้ว ยังช่วยพัฒนาด้านจิตใจ ทำให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย สงบและมีสมาธิมากขึ้นด้วย
“ท่าที่หนึ่งค่อย ๆ ยกมือขึ้นทั้ง 2 ข้าง กำหนดลมหายใจเข้าช้า ๆ พร้อมกับค่อยๆกำนิ้วทีละนิ้วลงไม่ต้องเกร็ง จากนั้นหายใจออกค่อยๆคลายนิ้วทีละนิ้ว ช้าๆ...”นั่นคือเทคนิคพื้นฐานการกำหนดลมหายใจเข้าออกแบบไทเก็กที่ “ศิริรัตน์ ศิริพิชญ์ตระกูล” พยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลบางปะกงและเพื่อน ๆ พยาบาล นำมาถ่ายทอดให้กับผู้ป่วย อย่างเช่นวันนี้ที่สอนให้กับผู้ป่วยใน 2 ราย ที่เข้ามานอนในโรงพยาบาลด้วยอาการโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและท้องเสียรุนแรง
นางศิริรัตน์ บอกว่า ไทเก๊ก เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพของโรงพยาบาล ที่ทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนำโดยผู้อำนวยการฯและพยาบาลจากส่วนงานต่าง ๆ 6 คนได้เข้าไปหาความรู้และฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญ โดยสมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 26 โรงพยาบาลนำร่องในโครงการสร้างเสริมประสบการณ์ความสัมพันธ์เชิงมนุษย์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับคนไข้-ชุมชน โดยวิถีธรรมแห่งสุขภาวะ : ไทเก๊ก ตามแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) โดยเห็นว่าน่าจะนำมาใช้ฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยควบคู่กับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันได้
“ฝึกไทเก็กนี่ยากนะ ต้องทำบ่อย ๆ พอทำได้ระยะหนึ่งรู้สึกเลยว่าสุขภาพดีขึ้น จิตใจดีขึ้น ไม่เครียด และรู้สึกว่าความจริงไทเก็กก็ฝึกไม่ยาก” ศิริรัตน์เล่าประสบการณ์ฝึกพร้อมกับบอกว่า เมื่อเห็นผลกับตัวเองจึงอยากมาถ่ายทอดให้กับเพื่อนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ตั้งใจถ่ายทอดแบบหมดเปลือกเรียนรู้มาอย่างไรก็สอนไปอย่างนั้น ปรากฏว่าไม่สำเร็จจากแรก ๆ ก็มีคนเยอะก็ค่อย ๆ น้อยลงจนเหลือแต่ทีมที่ไปฝึกมา จึงทบทวนและเห็นว่าคนที่มาเข้าร่วมส่วนใหญ่สูงอายุจึงคิดใหม่ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรให้สั้นลงและมีความเหมาะสมต่อผู้ฝึก ด้วยการเลือกสอนวิธีการปรับลมหายใจ ฝึกความสมดุลของร่างกาย มีการจัดท่า การเดิน การยืน เพื่อให้เจ็บปวดน้อยลง เข่าสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น ผู้ป่วยก็พอใจ ทำให้เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ผู้สอนเองเกิดความมั่นใจและเริ่มมีการปรับปรุงต่อยอด เลือกตัดทอนถ่ายทอดบางเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเฉพาะโรคเฉพาะราย เช่น มีการทดลองสอนวิธีกำหนดลมหายใจ ให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
“ มีการนำไปสอนให้กับผู้ป่วยหืดหอบ พบว่าผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น รู้สึกโล่งสบายและไม่เหนื่อยมากเช่นเดิม จึงเริ่มมีแนวคิดว่าจะสามารถนำมาช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กับผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองได้หรือไม่ เมื่อนำมาสอนให้ผู้ป่วยลองทำ ก็พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เจ็บปวดน้อยลง สามารถหายใจได้ด้วยตนเองจากเดิมที่ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวัดปริมาณออกซิเจนในร่างกายของผู้ป่วยที่มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 2% โดยก่อนฝึกวัดปริมาณออกซิเจนได้ 91% และภายหลังการฝึกวัดได้ 93% เดี๋ยวนี้เวลาที่เขารู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เขาจะนั่งขัดสมาธิและกำหนดลมหายใจ หายใจเข้าหงายฝ่ามือขึ้น หายใจออกดันฝ่ามือลงพอผ่อนคลายก็ช่วยลดการหันไปหยิบเครื่องช่วยหายใจข้างเตียงมาครอบจมูก เมื่อเพื่อนเตียงข้างเห็นก็รู้สึกอยากทำบ้าง จึงเริ่มมีการถ่ายทอดกันเองระหว่างผู้ป่วย ยามว่างก็ชวนกันลุกขึ้นมาทำ เป็นภาพที่น่ารักมาก ในฐานะพยาบาลเห็นผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ใบหน้าเริ่มมีสีชมพู ยิ้มได้หัวเราะได้ ก็มีความสุข”
ไทเก๊กนอกจากจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพทางกายแล้ว การที่ผู้ฝึกมีสมาธิอยู่กับท่ารำหรือการกำหนดลมหายใจ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออารมณ์และระดับจิตใจที่สูงขึ้นด้วย
ศิริรัตน์ บอกอีกว่า ไทเก๊กท่าพื้นฐานนั้นง่ายทำได้ไม่ยาก ทำได้บ่อย ๆ ทำแล้วรู้สึกกับตัวเองเลยว่าใจเย็นขึ้นมาก มองโลกในแง่ดีขึ้น จากเดิมที่ชอบทำอะไรเร็ว หงุดหงิดง่าย จุกจิก ก็ใจเย็นขึ้น สำหรับในกรณีผู้ป่วยที่เห็นได้ชัดคือมีผู้ป่วยเอดส์รายหนึ่งมีปัญหาปอดบวม ก่อนมาโรงพยาบาลก็เครียดมากและคิดฆ่าตัวตาย พอนำไทเก๊กไปให้ลองฝึก ผู้ป่วยก็เริ่มมีภาวะจิตใจที่ผ่อนคลาย สงบขึ้น ไม่ทุรนทุราย เริ่มขอหนังสือธรรมะ และมีกำลังใจพร้อมที่จะเผชิญกับโรคที่เป็นอยู่”
ผู้ป่วยชายรายหนึ่งที่เข้ามาพักฟื้นในโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องมีเลือดออกในปัสสาวะ เนื่องจากกินยาชุดเพื่อระงับอาการปวดกล้ามเนื้อมากเกินไป จนไม่สามารถหยุดยาได้เพราะจะมีอาการปวดจนทนไม่ไหว เมื่อเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลระยะหนึ่งพยาบาลจึงเอาวิธีการกำหนดลมหายใจแบบไทเก็กมาสอนให้ลองทำดู และบริหารกล้ามเนื้อเพื่อคลายจุดปวดเมื่อย
ผู้ป่วยชายรายนี้ ยืนยันว่า รู้สึกร่างกายสบายตัว หายใจคล่อง และปวดเมื่อยน้อยลง เป็นกิจกรรมที่ดี ทำได้เรื่อยๆ ช่วยให้หายเบื่อและมีประโยชน์ ที่สำคัญช่วยให้สบายใจ ไม่คิดมาก สามารถนอนหลับได้มากขึ้น ตอนนี้อยากฝึกหลาย ๆ ท่าเวลาออกจากโรงพยาบาลไปทำเองที่บ้าน
นพ. อภิรัต กตัญญุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะกง กล่าวว่า ที่นี่เราทำภาพลักษณ์ใหม่ของไทเก๊กที่ฝึกง่าย ได้ผลโดยตรงต่อสุขภาพกาย-ใจ โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ลองทำแล้วเห็นผลโดยตรงกับตัวเองว่าดี จึงขยายต่อให้กับผู้ป่วยตามความเหมาะสม ซึ่งมีทั้งผู้ป่วย และผู้ป่วยนอกในคลินิกพิเศษโรคเรื้อรัง ซึ่งในแต่ละวันจะมีการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายที่ผสมผสานทั้ง ยางยืด ยืดเหยียด โยคะ ไทเก๊ก ให้กับผู้ป่วยที่รอเข้ารับการตรวจในช่วงเช้าประมาณ 08.30-09.00 น. โดยสลับหมุนเวียนกันไปในกลุ่มผู้ป่วย กล่าวคือวันจันทร์สำหรับผู้ป่วยเอดส์ วันอังคารและวันศุกร์สำหรับผู้ป่วยโรคความดัน ส่วนวันพุธและพฤหัสคือผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ โรงพยาบาลจึงสนใจนำแพทย์ทางเลือกในด้านต่างๆเข้ามาเป็นเครื่องมือเสริมในการรักษาที่ไม่เพียงมุ่งรักษาโรคแต่ยังรวมถึงร่างกายและจิตใจผู้ป่วยที่ควรได้รับการรักษาและฟื้นฟูด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่โรงพยาบาลสามารถเรียนรู้ศาสตร์ที่หลากหลาย ก็จะช่วยให้แพทย์และพยาบาลมีเครื่องมือเสริมเพื่อนำมาปรับใช้ในการส่งเสริมสุขภาพให้ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ ผู้รับบริการและชุมชนมีสุขภาพภายใจที่ดีเพราะบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งการใช้ยาเสมอไป สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติเพื่อการให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ที่หมายถึงทุกกลุ่มคนที่อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพของ โรงพยาบาลสีลูกกวาด...แห่งนี้
บทความเผยแพร่โดย งานสื่อสารสาธารณะ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โทร.02-2701350

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ