จิตแพทย์ชี้เด็กและผู้สูงอายุถูกละเลยด้านจิตใจ แนะะวิจัยหาวิธีดูแลสุขภาพจิตที่เหมาะกับสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Friday October 11, 2002 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--สกว.
รายงานสถานการณ์และแนวโน้มความเจ็บป่วยทางจิตของคนไทย พบคนไทยใช้บริการสถานพยาบาลจากปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้นในช่วง 4 — 5 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยชี้เด็กไทยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตเมื่อเติบโตขึ้น หากพ่อแม่และสังคมไม่ดูแลสุขภาพจิตใจตั้งแต่เด็กอย่างเหมาะสม จะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นใจแตก ขาดทักษะในการดำเนินชีวิต ส่วนผู้สูงอายุถูกประเมินคุณภาพชีวิตแบบฝรั่งเน้นให้ช่วยตัวเองได้เป็นหลัก แต่ถูกละเลยด้านจิตใจ
(สามารถดาวน์โหลดข่าวได้ที่ http://pr.trf.or.th )
…………………………………………………..……………………………………………………..……
จากรายงานการทบทวนองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาสุขภาพจิต โดย น.พ. บัณฑิต ศรไพศาล โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม ภายใต้การสนับสนุนของ เครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (มสช.) ระบุว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในทศวรรษหลังนี้ ในการศึกษาภาระโรคขององค์การอนามัยโลก ด้วยการวัดภาระของโรคใหม่ โดยให้ความสำคัญกับจำนวนปีที่โรคนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับชีวิตของผู้ป่วย ผลการศึกษาภาระโรคในปี 2545 ในประเทศไทย พบโรคในกลุ่มพฤติกรรมและความผิดปกติทางจิตถึง 6 กลุ่มโรคที่ติดอันดับ 20 โรคแรกที่สร้างภาระหรือสร้างความเสียหายให้กับชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคนั้นๆ มากที่สุด ได้แก่ การฆ่าผู้อื่นและความรุนแรง การฆ่าตัวตาย การใช้สารเสพติด การเสพสุรา โรคจิตเภท และโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์และแนวโน้มการเจ็บป่วยทางจิตของคนไทย โดยกรมสุขภาพจิต พบว่าปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตที่สำคัญ ได้แก่ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคปัญญาอ่อน โรคลมชัก ผู้ติดสารเสพติด การฆ่าตัวตาย ฯลฯ โดยพบว่าอัตราผู้ป่วยที่มาใช้บริการในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2540 — 2544 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี
พญ. ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลด้านพัฒนาการของเด็กไทยทั่วประเทศ ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี พบเบื้องต้นว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ขาดทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
“แม่ของเด็กส่วนใหญ่จะบอกว่าจากการสังเกตลูกของตัวเอง จะไม่พบเรื่องการแบ่งปัน หรือการเล่นสมมติให้ตัวเองเป็นบุคคลอื่น ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นทัศนคติของพ่อแม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการปลูกฝังเรื่องพวกนี้ให้กับเด็กด้วย” พ.ญ. ลัดดากล่าว
น.พ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัญหาพัฒนาการด้านจิตใจของเด็กไทยยุคปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องวัตถุนิยมในเด็กวัยรุ่นไทยทุกวันนี้ มาจากการที่เด็กไม่ได้รับการปลูกฝังคุณลักษณะทางสังคมที่ดีในวัยที่เหมาะสม
“ค่านิยมเรื่องการประหยัด อดออม รู้จักคุณค่าของสิ่งของ ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยประถม หากมาบอกมาสอนกันตอนเป็นวัยรุ่นก็ไม่ได้ผล หรือวัยในการสร้างค่านิยมทางเพศที่ถูกต้อง คือ วัยรุ่น แต่สังคมไทยยังไม่ตระหนักเรื่องช่วงวัยที่เหมาะสมในการพัฒนาจิตใจของเด็กเท่าที่ควรทั้งนี้ ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กนั้น เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีช่วงที่เหมาะสมในการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีบางอย่างได้ ซึ่งหากพ่อแม่หรือสังคมละเลยช่วงเวลานั้นไป ก็จะส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาคุณลักษณะที่ดีนั้นได้ในภายหลัง“ น.พ. ยงยุทธกล่าว
จิตแพทย์และนักวิชาการได้ชี้ให้เห็นว่า อุปสรรคในการแก้ปัญหาและการพัฒนาด้านสุขภาพจิต คือสังคมไทยไม่มีแนวทางการประเมินภาวะสุขภาพจิตที่เหมาะสมสอดคล้องสำหรับสังคมไทย เช่น ไม่มีวิธีการวัดอารมณ์ และสุขภาพจิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี หรือไม่มีเครื่องมือในการประเมินสุขภาพจิตของผู้สูงอายุไทยที่เหมาะสม โดยใช้เครื่องมือและแนวทางดูแลสุขภาพจิตตามแนวคิดแบบตะวันตกมาใช้ เช่น แนวคิดแบบตะวันตกจะวัดคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ว่าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ เดินเองได้หรือไม่ เซ็นเช็คได้หรือไม่ ถ้ายังทำได้ก็มีความสุข ถือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ในขณะที่ผู้สูงอายุไทยไม่ได้มองคุณภาพชีวิตของตัวแบบนั้น แต่ความสุขของผู้สูงอายุอยู่ที่การได้อยู่ร่วมกับลูกหลาน มีลูกหลานคอยดูแล ซึ่งการใช้แนวคิดแบบตะวันตกมาใช้นี้ จะทำให้ไม่สามารถประเมินปัญหาที่แท้จริงในสังคม รวมทั้งจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาสุขภาพจิตของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม
ขณะนี้เครือข่ายวิจัยสุขภาพได้วางแผนจัดทำชุดโครงการวิจัยสุขภาพจิต โดยจะเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญหาสำคัญ เช่น กลุ่มเด็กนักเรียน กลุ่มคนทำงาน และผู้สูงอายุ โดยจะพัฒนาดัชนีวัดภาวะสุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทยต่อไป
……………………………………..…………………
สามารถดาวน์โหลดข่าวได้ที่ http://pr.trf.or.th หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว.--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ