วันนี้และวันข้างหน้าของผู้สูงอายุไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 8, 2002 12:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สกว.
ทุกครั้งที่พูดถึงผู้สูงอายุ เรามักนึกถึงภาพของคนแก่ที่ไม่มีศักยภาพ เป็นภาระให้กับลูกหลาน บางครอบครัวก็ยังมีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกของครอบครัว แต่บางครอบครัวไม่มีคนวัยนี้อีกแล้ว สืบเนื่องมาจากเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือมีอายุมากก็หมดลมหายใจไปตามอายุขัยที่มากขึ้น ในบางครอบครัวผู้สูงอายุหลายคนถูกลูกหลานนำไปส่งที่สถานสงเคราะห์คนชราตามที่ต่างๆ และผู้สูงอายุบางคนตัดสินใจหนีออกจากครอบครัวเพื่อมาพึ่งพิงสถานสงเคราะห์คนชรา เหตุเพราะคิดว่าบั้นปลายแห่งชีวิตนั้น ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมารับภาระของตัวเอง
ยายทองใบ บุนนาค วัย 66 ปี เดินทางมาจากจังหวัดเชียงรายกับสามีเข้ามาพักพิงสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ย้อนเล่าว่ามาอยู่กับสามีที่บ้านพักคนชราเมื่อปี 2539 ตอนนี้สามีเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน จึงต้องอยู่คนเดียว พยายามหาอะไรต่อมิอะไรทำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ ถักเสื้อบ้าง ปลูกพืชผักสวนครัว อย่าง ผักหัวแหวน เผือก ตะไคร้หอม กระเจี๊ยบ สะระแหน่ โหระพา มะกูด ผักเสี้ยว ชะอม โสมเกาหลี มะเขือ น้อยหน่า ในบริเวณสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ซึ่งมีที่พักเป็นอาคารและบ้านพักส่วนตัว ตัวเองและสามีเลือกบ้านพัก จึงทำให้มีพื้นที่เล็กๆ ใช้ทำโน่นทำนี่เพื่อคลายความเหงาลง โดยไม่อยากนั่งนอนอยู่เฉยๆ
มาอยู่ที่บ้านบางแคทำให้ยายทองใบเห็นเหตุการณ์ที่ลูกหลานพาพ่อแม่มาทิ้งไว้หน้าบ้านพักคนชราบ้านบางแค ยายทองใบเล่าว่า…บ่อยครั้งที่ยายต้องจูงคนชราในวัยเดียวกันเข้ามากินข้าวหรือพามาพบกับเจ้าหน้าที่เนื่องจากลูกหลานเขาเอามาทิ้งไว้หน้าประตูทางเข้าบ้านบางแค ยายจะแบ่งเงินซึ่งมีคนนำเงินมาบริจาคให้เขาได้ใช้บ้าง ทุกวันนี้คนในสังคมต้องเอาตัวรอด บางครอบครัวทิ้งพ่อแม่ บางครอบครัวทิ้งลูก สารพัดปัญหาซึ่งมาจากการเอาตัวรอดของคนในสังคม สำหรับตัวยายนั้นไม่มีลูก ยายไม่อยากเห็นผู้สูงอายุต้องเร่ร่อนหรือโดนทอดทิ้ง หากผู้สูงอายุมีลูกหลานก็อยากให้อยู่กับลูกหลาน ส่วนคนไหนที่ไม่มีที่ไปอยากให้พวกเขาได้อยู่เป็นหลักแหล่งเหมือนอย่างผู้สูงอายุบ้านบางแค
ฝ่ายยายอาบ เจริญยศ วัย 77 ปี เดินทางมาจากจังหวัดเพชรบุรี เข้ามาอยู่ที่บ้านบางแค กว่า 11 ปีแล้ว พักอยู่กับเพื่อนๆ ที่หนีออกมาจากบ้านเพราะไม่อยากให้ลูกต้องมารับภาระของตัวเอง ชีวิตผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ตั้งแต่สามีไปมีภรรยาใหม่ต้องเลี้ยงดูลูก 2 คนเพียงลำพังโดยยึดอาชีพค้าขาย ลูกคนหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เด็กๆ ตอนนี้เหลือลูกคนเดียว
อยู่ที่นี่มีความสุขดีตามอัตภาพ ชีวิตในบั้นปลายไม่รู้สึกเหงา เพราะมีงานทำเยอะแยะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือ อย่างทำดอกไม้จันทน์ หรือบางครั้งก็หาหนังสือมาอ่าน ทุกวันนี้พยายามดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊ก หรือเดินเล่น และช่วยเหลืองานกิจกรรมต่างๆ ที่ บ้านบางแคจัดขึ้น
“ปัญหาด้านสุขภาพเป็นโรคความดันต่ำทำให้ปวดหัว เป็นลมอยู่บ่อยๆ ถึงตอนนี้เรารู้ว่าอะไรมีโทษกับร่างกายเราก็ต้องคอยหลีกเลี่ยง ถ้าเราไม่ช่วยตัวเองใครจะมาช่วยเรา ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่เขาด้วย เพราะเขาไม่ได้ดูแลแค่เราคนเดียว” นั่นเป็นเสียงสะท้อนของผู้สูงอายุบางส่วนเท่านั้น
แต่ไม่ว่าผู้สูงอายุแต่ละคนจะมีเหตุผลของตัวเองอย่างไร ในการออกจากครอบครัวมาสู่สถานที่แห่งใหม่ หรือยังคงอยู่ในครอบครัวหากแต่อยู่คนเดียวโดยที่ลูกหลานไปทำงานและเรียนหนังสือ ปล่อยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตเพียงลำพัง ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ของผู้สูงอายุในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีจำนวนสูงขึ้นๆ
จากงานวิจัยของ เยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม นักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งทำวิจัยในหัวข้อนโยบายและทิศทางนโยบายด้านสุขภาพผู้สูงอายุในอนาคต มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สูงอายุดังนี้
ผู้สูงอายุในประเทศไทย ถูกแบ่งให้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น มีอายุ 60 — 74 ปี และผู้สูงอายุตอนปลาย เริ่มตั้งแต่อายุ 75 ปีขึ้นไปและจากการศึกษาด้านนโยบายและการดูแลผู้สูงอายุจาก 5 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ประเทศเกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ทำให้พบว่า จากวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำ ส่งผลไปถึงช่วงชีวิตของผู้สูงอายุยืนยาวขึ้น อัตราการตายลดลง โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยนั้นจำนวนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
รายงานการวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนเกือบ 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไปของประเทศไทยมีถึง 5.6 ล้านคนในปี 2543 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.3 ล้านคนในปี 2563 ขณะเดียวกันยังพบอีกว่าอายุขัยของผู้สูงอายุที่เป็นชายเพิ่มเป็น 67.3 ปี และ 74 ปี ในผู้หญิง และจะเพิ่มต่อไปอีกเรื่อยๆ เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดถึงการดูแลตัวเองที่เหมาะสม ทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นเพศหญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย ทั้งนี้จะพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในวัย 75 ปีขึ้นไปหรือผู้สูงอายุตอนปลายนั้น จะมีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 ถึง 3 เท่าและอัตรานี้จะมีมากขึ้นตามอายุ ผู้หญิงวัยสูงอายุตอนปลายมีสัดส่วนของผู้ที่เป็นหม้ายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในภาวะที่มีความเปราะบางสูงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และการพึ่งพาต่อการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน
ในประเทศไทยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาว มักจะมีโรครุมเร้า มีความบกพร่องทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและการพึ่งพาตัวเองต่ำ มีอัตราอาการสมองเสื่อมใกล้เคียงกับผู้สูงอายุในประเทศสิงคโปร์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 — 4 ซึ่งน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมจากประเทศเกาหลีซึ่งมีถึงร้อยละ 8.2 ในวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีอาการสมองเสื่อม และร้อยละ 4 เป็นกลุ่มที่มีภาวะรุนแรง ช่วยเหลือดูแลตัวเองไม่ได้
สืบเนื่องจากการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ประกอบกับสังคมที่เปลี่ยนไปลูกหลานไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแล ผู้สูงอายุจากหลายๆ ประเทศมีปัญหาทางจิต แสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจด้วยการหนีออกจากบ้าน ทำร้ายตัวเอง สุดท้ายหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
อัตราการฆ่าตัวตายของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศฮ่องกง มี 28 รายต่อผู้สูงอายุ 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลทั่วไปจะมีประมาณ 12 รายต่อแสนคน ซึ่งต่ำกว่าสิงคโปร์ที่มีอัตราผู้สูงอายุฆ่าตัวตายถึง 50 รายต่อแสนคน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุ 20 รายต่อแสนคน ประเทศออสเตรเลีย 16 รายต่อแสนคน และประเทศนิวซีแลนด์ 12 รายต่อแสนคน ขณะเดียวกันประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีระบบการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ส่วนประเทศไทยนั้นมีผู้สูงอายุที่หลีกหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย 17 คนต่อประชากรในกลุ่มเดียวกันแสนคน
จะเห็นว่าจำนวนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นๆ ขณะช่วงวัยอื่นๆ กลับมีแนวโน้มลดลง จากสถิติผลการวิจัยของประเทศไทย ยังระบุว่าในปี พ.ศ. 2569 จำนวนผู้สูงอายุกับช่วงวัยเด็ก มีจำนวนเท่ากันและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ช่วงวัยเด็กมีจำนวนลดลง ส่วนช่วงวัยทำงานกลับมีอัตราการตายสูงขึ้นๆ ด้วยปัญหาโรคเอดส์
หากเราปล่อยให้จำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มคนในช่วงวัยอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง แล้วใครจะเป็นคนดูแล ช่วยเหลือ ปรนนิบัติ ผู้สูงอายุเหล่านั้น เมื่อจำนวนของกลุ่มคนวัยทำงานที่มีศักยภาพในหลายด้านมีจำนวนลดน้อยลง ภาระหน้าที่ในการดูแล เอาใจใส่ผู้สูงอายุภายในครอบครัวเริ่มด้อยประสิทธิภาพ ผู้สูงอายุจะถูกปล่อยปละละเลยมากขึ้น ทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว โดดเดี่ยว เร่ร่อนตามที่ต่างๆ ภาพเหล่านี้จะวนเวียนอยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมาช่วยกัน สร้างความเข้าใจ พร้อมไปกับร่วมแก้ปัญหาผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในสังคมให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยปัญหาของผู้สูงอายุให้เป็นปัญหาที่รุมเร้าสังคมไทยตลอดถึงสังคมโลกอย่างเช่นทุกวันนี้
ในวันวานของผู้สูงอายุเคยมีบทบาทกับชีวิตพวกเราหลายต่อหลายคน คน มาวันนี้บทบาทหลายเรื่องราวลดทอดลงด้วยหลายๆ เหตุผล หากยังปล่อยให้ปัญหาผู้สูงอายุถูกแก้อย่างไม่มีทิศทางเหมือนเช่นที่ผ่านมา ชีวิตของผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยคงมีเพียงอดีต หากแต่ปัจจุบันนั้นคงถูกฝังไปกับกาลเวลาที่ผ่านเข้ามาอย่างไม่มีหยุดมันลงได้
ด้วยเหตุนี้เอง องค์กร Asian Development Research Forum (ADRF) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเน้นพื้นที่ทำงานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ทำงานโดยเน้นส่งเสริมการสังเคราะห์นโยบาย ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การเพิ่มของประชากรสูงอายุ ระบบควบคุมกำกับด้านเศรษฐกิจและการเงิน และการแก้ปัญหาด้านความขัดแย้ง สำหรับปีนี้จะจัดประชุมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ นโยบายและทิศทางนโยบายด้านสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อหาทางแก้ไขและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งนอกจากหัวข้อที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุแล้ว ยังมีหัวข้อทางเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งอีกด้วย โดยจัดประชุมขึ้นที่โรงแรมสยามซิตี้ ในวันที่ 2 - 3 ธันวาคม 2545 หากสนใจเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้สามารถติดต่อขอจองที่นั่งได้ที่ (ADRF)/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชั้น 15 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ คอนโดมิเนียม 979/17 — 21 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร.0 — 2298 — 0455 ต่อ 197 , 188 --จบ--
-ศน-

แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ