รองปลัดฯ ยุติธรรมเตรียมเสนอตั้งหน่วยงานใหม่ตรวจสอบคอร์รัปชั่น แบ่งเบางาน ปปช. และ ป.ป.ส.

ข่าวทั่วไป Wednesday April 9, 2003 07:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กระทรวงยุติธรรม
รองปลัดฯยุติธรรมเตรียมเสนอตั้งหน่วยงานใหม่ตรวจสอบคอร์รัปชั่น แบ่งเบางาน ปปช. และ ป.ป.ส. และ ป.ป.ส. เตรียมเสนอมอบเหรียญกล้าหาญข้าราชการ/หน่วยงานที่ต่อสู้กับยาเสพติด
รศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเสริมสร้างความยุติธรรม เปิดเผยถึง แนวคิดในการจัดตั้งองค์กรภาครัฐเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงยุติธรรม ว่า เรื่องการปราบปรามข้าราชการคอรัปชั่นนั้น เดิมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) และหน่วยงานบริหารของแต่ละกระทรวง ซึ่งในระยะหลังปปป. ถูกยุบเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช. ) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ โดยหน้าที่หลักคือ ดำเนินการกับการทุจริตรายใหญ่ คือข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่มีอำนาจสูง แต่ยังมีภาระต้องมาจัดการกับข้าราชการที่ทุจริตรายย่อยเหมารวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น
ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจในกรณีถูกร้องเรียนว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ทำให้ปริมาณคดีที่รอการพิจารณาของกรรมการปปช.ค้างอยู่ถึง 3,000 เรื่องจากปัญหาดังกล่าวแม้ว่าจะได้รับการร้องขอจากปปช.ว่า มีงานคั่งค้างเป็นจำนวนมากทางเลือกของฝ่ายบริหารจึงไม่ได้จำกัดอยู่ในแนวทางเดียวตามที่ปปช.ร้องขอกระทรวงยุติธรรมจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหารือร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อตั้งหน่วยงานระดับกรมที่เป็นอิสระไม่สังกัดกระทรวงใดขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการตั้งแต่ระดับ 8 ลงไป โดยจะไม่แก้รัฐธรรมนูญหรือริดรอนสิทธิในการดึงสำนวนไปตรวจสอบของปปช.และไม่ยึดแนวทางกฎหมายของคณะกรรมการปท.โดยแต่งตั้งให้นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาและจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวรศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเสริมสร้างความยุติธรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมกรรมการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดครั้งล่าสุด พล.ต.ท.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เสนอให้จัดทำเหรียญกล้าหาญเพื่อเชิดชูเกียรติข้าราชการที่มุ่งมั่นปราบปรามยาเสพติด ภายใต้ชื่อ “เหรียญพลังแผ่นดิน” โดยจะมอบให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและจับกุมที่มีผลงานดีเด่นและข้าราชการที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในการจับกุมพ่อค้ายาเสพติด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจพิเศษนอกเหนือจากสินบนนำจับยาเสพติดและสินบนนำจับจากการฟอกเงิน
ทั้งนี้อาจจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษให้กับสายลับหรือประชาชนที่เป็นสายแจ้งเบาะแสจนกระทั่งตำรวจสามารถทลายเครือข่ายยาเสพติดได้ รศ.ธงทอง กล่าวอีกว่า ภายหลังการหารือร่วมกันของคณะอนุกรรมการพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติด ถึงความจำเป็นในการตั้งศาลคดียาเสพติด ขณะนี้ได้ข้อสรุปว่าไม่จำเป็นต้องจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะ เนื่องจากพนักงานอัยการและผู้พิพากษาทุกศาลมีความชำนาญและเชี่ยวชาญพิเศษในการทำคดียาเสพติดอยู่แล้ว เนื่องจากถูกบังคับจากปริมาณคดียาเสพติด ให้ต้องมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญไปโดยปริยาย ปัญหาของความล่าช้ามาจากวิธีพิจารณาความอาญา ที่เปิดโอกาสให้จำเลยอุทธรณ์และฎีกา ได้ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทำให้จำเลยใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้คดี หลังจากนี้สำนักงานอัยการสูงสุดจะรับผิดชอบตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากำหนดกรอบแนวทางให้การพิจารณาคดีสั้นลง โดยกำหนดให้ส่งเข้าที่ประชุมภายใน 30 วัน
สำหรับประเด็นอำนาจการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของกรมราชทัณฑ์ ที่ย้ายมาสังกัดกระทรวงยุติธรรมนั้น ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ( 8 เม.ย. 46) มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายวันมูหมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม โดยวางแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อนที่จะมีการแก้กฎหมาย กระทรวงมหาดไทยจะส่งเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองลงมาประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมราชทัณฑ์ในการจัดเตรียมคำร้องถวายฎีกาของนักโทษ เพื่อให้รับทราบข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด โดยจะกำหนดขั้นตอนระหว่างการส่งฎีกาจากกรมราชทัณฑ์มาถึงรมว.มหาดไทย ต้องเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน ส่วนพระราชอำนาจในการอภัยโทษจำเลยคดียาเสพติดหรือไม่นั้น เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ