เวทีระดมความคิด “คื้อตีก่อ” เยาวราชจะไปทางไหน “มังกรสยาม” กับ “ทางออก” ของสังคมใช้แล้วทิ้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 4, 2011 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี “เยาวราช” หรือ “ไชน่าทาวน์” เป็นศูนย์กลางธุรกิจอันทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ถูกขับเคลื่อนโดยชาวไทยเชื้อสายจีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากมีทำเลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ร้อยเรียงวิถีชีวิตของผู้คนเข้ากับระบบธุรกิจได้อย่างสอดคล้องสมบูรณ์แบบ แต่ปัจจุบันเยาวราชกำลังเผชิญหน้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาสู่ชุมชนชาวจีนแห่งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอันทันสมัย ส่งผลให้กระแสทุนนิยมข้ามชาติเริ่มหลั่งไหลเข้ามายึดครองพื้นที่ผ่านโครงการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินของชุมชนดั้งเดิม รวมไปถึงระบบความสัมพันธ์ต่างๆ ทางสังคมของชาวเยาวราช พื้นที่อันเคยเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน กำลังถูกเบียดแทรกและลดทอนความสำคัญด้วยกระแสทุนนิยมข้ามโลกที่หลั่งไหลกันเข้ามาตามแนวทางของการพัฒนาเมืองที่หลงลืมรากเหง้าและวิถีแห่งชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการพัฒนาเมือง และ ตัวแทนชุมชนย่านเยาวราช จัดเวทีวิชาการเพื่อการตื่นรู้ในการร่วมกันพัฒนาเมืองในหัวข้อเรื่อง “เยาวราช คื้อตีก่อ?” หรือ “เยาวราช...จะไปทางไหน?” ขึ้นภายใต้โครงการ “ย่านจีนถิ่นบางกอก” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้และแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ย่านเยาวราชที่ยังสามารถดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชุมชน อันเป็นต้นทุนที่สำคัญของชาติ เมื่อวานก่อน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. อคิน ระพีพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและมานุษยวิทยา, อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ นักผังเมือง, อาจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และชี้แนะทางออกเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เยาวราชไว้อย่างน่าสนใจในหลายประเด็น ศ.ดร.มรว. อคิน ระพีพัฒน์ กล่าวว่า การพัฒนาในด้านต่างๆ ที่รุกไล่เข้ามายังพื้นที่เยาวราชซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่มีชุมชนฝังตัวอยู่ เป็นสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ชาวชุมชนในย่านเยาวราช เกิดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น “ถ้าเรารวมพลังกันได้ โดยใช้สิทธิการเป็นผู้สืบทอดพื้นที่จากบรรพบุรุษ ร่วมกันแสดงจุดยืนในการรักษาเยาวราชซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้แก่ลูกหลาน ด้วยการเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการกำหนดผังเมืองของตนเอง ก็จะทำให้ผู้มีอำนาจหันมาสนใจและรับฟังความคิดของเรา” ด้าน อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ ระบุว่าเยาวราชเป็นทั้งบ้านเกิด ชุมชนอยู่อาศัย และเป็นย่านธุรกิจที่ถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญของบ้านเมือง โดยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญประกอบกันขึ้นเป็นย่านแห่งนี้คือ ย่านค้าทอง ย่านขายอาหาร ย่านค้าผ้าหรือสำเพ็ง และย่านเวิ้งนาครเขษม “เอกลักษณ์สำคัญของความเป็นเยาวราชที่ยังหลงเหลือเหล่านี้เราต้องรักษาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการขนส่งระบบรางสมัยใหม่ผ่านเข้ามาในย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล โดยชาวเยาวราชจะต้องมีการปรับตัว และจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกำหนดผังเมืองหรือผังย่านของตัวเอง โดยอย่าไปยึดติดกับสีแดงที่กำหนดไว้ในผังเมือง และผังเมืองที่ดีจะต้องกำหนดขึ้นมาจากจิตใจที่มีความผูกพันต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม” ในมุมมองของ อาจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข ตัวแทนคณะทำงานโครงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมย่านกะดีจีน ที่มีประสบการณ์ในการทำงานขับเคลื่อนให้ชุมชนกะดีจีนกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนของตนเองได้เป็นผลสำเร็จให้คำแนะนำไว้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “หัวใจสำคัญที่จะทำให้ชุมชนสามารถกำหนดแผนปรับปรุงและพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ จะต้องมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งจนเกิดเป็นองค์กรชุมชนที่มีศักยภาพ แล้วผสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ อาทิ นักวิชาการ สื่อมวลชน เพื่อสร้างอำนาจในการผลักดันนโยบายของชุมชนไปสู่ภาครัฐ แทนการให้ภาครัฐเป็นผู้กำหนด” ขณะที่ นายสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์ นักธุรกิจจากย่านสำเพ็งให้ข้อคิดเห็นว่าชาวเยาวราช ควรมี “ผังใจ” ที่เข้มแข็งเป็นต้นทุนที่สำคัญ ซึ่งเป็นผังที่มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ให้เป็นสมบัติแก่ลูกหลาน ให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข “เพราะที่ผ่านมาทุนนิยมไม่เคยคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ แต่ในขณะเดียวกันชาวเยาวราชจะต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองให้สอดคล้องกับระบบโลกาภิวัฒน์มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเปรียบทุนตะวันตกที่กำลังรุกคืบเข้ามา” ทางด้าน อาจารยเอนก นาคะบุตร ที่ปรึกษาโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก กล่าวว่า ณ วันนี้ประชาคมย่านต่างๆ ในเยาวราช จำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเองทั้งการกำหนดผังใจ ผังย่าน และผังเมืองของตนเอง เพื่อเสนอความต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ในฐานะผู้สืบทอด โดยแสดงจุดยืนถึงการอนุรักษ์เพื่อการพัฒนา มิใช่การค้านแบบหัวชนฝา “คนเยาวราชอยากเห็นสมดุลใหญ่ระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา ซึ่งผู้ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาได้ดีที่สุดก็คือคนในย่านที่เข้าใจถึงรากฐานวิถีชีวิต เศรษฐกิจการค้า และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดชะตา ต้องลุกขึ้นมากำหนดตนเองว่าจะดำรงรักษามรดกของเยาวราชไว้อย่างไร” “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่วาระของคนเยาวราช แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยกำลังดำเนินไปสู่สังคมใช้แล้วทิ้ง ที่มุ่งสร้างแต่ของใหม่ แต่ไม่เคยรักษาของเก่า ดังนั้นเราทุกคนต้องใช้สถานการณ์ปัญหาที่กำลังรุมเร้าและภาวะคุกคามให้เป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่จะได้มาร่วมกันแก้ปัญหาในลักษณะภาพรวม โดยไม่ละทิ้งการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือทุนต่างชาติที่รุกคืบ ดังนั้นหากทุกคนร่วมกันทำ ร่วมกันคิด ก็จะสามารถช่วยหยุดยั้งปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้” อาจารย์วีระ สัจจกุล อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวสรุปปิดท้ายเวทีวิชาการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ